สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เครื่องดื่มชาคอมบูชาจากโกโก้” พลิกวิกฤตจากราคาโกโก้ที่ผันผวน สู่โอกาสใหม่ทางการตลาด

4 มิถุนายน 2567 3,413

“เครื่องดื่มชาคอมบูชาจากโกโก้” พลิกวิกฤตจากราคาโกโก้ที่ผันผวน สู่โอกาสใหม่ทางการตลาด



“โกโก้” เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความต้องการในตลาดโลกสูง ไม่เพียงแต่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมยาด้วย มีรายงานว่ามูลค่าตลาดของโกโก้ ณ ปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการประมาณการว่า มูลค่าตลาดในปี 2575 ของโกโก้นั้นจะสูงถึง 55,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่วัตถุดิบยังขาดแคลนนี้เอง ทำให้ประเทศไทยก็มีการนำเข้าโกโก้จำนวนมาก เฉลี่ย 70,000 ตันต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาปริมาณความต้องการการใช้งานในประเทศที่ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้ “โกโก้” กลายเป็นหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรความหวังของประเทศไทย และของเกษตรกรหลาย ๆ ราย แต่ด้วยปัจจัยมากมายโดยเฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตยิ่งน้อยลง ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งปัจจัยเรื่องความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระบบเกษตรพันธสัญญา และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อประกอบกันแล้วส่งผลทำให้เกิดปัญหาความผันผวนของราคาโกโก้เป็นอย่างมาก

 

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ราคาโกโก้ จะอยู่ในช่วง 2,000 – 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในขณะที่เดือนเมษายน ปี 2567 ที่ผ่านมา ราคาโกโก้กลับเกิดปรากฏการณ์ที่ราคาพุ่งสูงจนทุบสถิติตลอดกาล โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ราคาโกโก้พุ่งทะยานถึง 12,181.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ก่อนที่จะลงมาที่ 7,363.6 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ซึ่งราคาที่ผันผวนกว่า 4 เท่าจากราคาเฉลี่ยนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้แม้แต่น้อย

 

ภาพแสดงราคาโกโก้ระยะเวลา 1 ปี และทำราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 67 ที่ราคา 12,181.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดย Tradingeconomics.com

 

ดังนั้น ครั้งนี้เราจึงเชิญผู้ประกอบการที่เห็น “โอกาส” ใน “วิกฤต” ความผันผวนของราคาโกโก้ โดยการผสมผสานสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดด้วยนวัตกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “ชาหมักคอมบูชาจากเศษเหลือของกระบวนการผลิตคราฟต์โซดาโกโก้” ที่ช่วยสร้างรายได้มาพยุงธุรกิจในวันที่ความไม่แน่นอนมาเยือน ซึ่งดำเนินการโดย คุณพรรณราย เกกีงาม หรือ “พี่ไก่” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮักแป้ ออแกนิค ฟาร์ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

“เราไม่หันหลังหนีปัญหา แต่มองหาโอกาส จนสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้”

พี่ไก่

คุณพรรณราย เกกีงาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮักแป้ ออแกนิค ฟาร์ม อ.ร้องกวาง จ.แพร่
จากผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชาหมักคอมบูชาเพื่อสุขภาพ จากเศษเหลือของกระบวนการผลิตคราฟต์โซดาโกโก้”

 

พี่ไก่เล่าให้เราฟังว่า “แท้จริงแล้ว พี่ไก่ทำงานอาชีพช่างภาพอิสระอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีจุดพลิกผันที่ทำให้ต้องพาคุณแม่กลับมาบ้านเกิดที่ จังหวัดแพร่ ต้นทุน ณ ตอนนั้น คือ เรามีที่ดิน 70 ไร่ก็จริง แต่พื้นที่ใหญ่เกินกว่าจะดูแล น้ำไฟยังเข้าไม่ถึง สภาพดินไม่สามารถปลูกอะไรได้ เมื่อกลับมาตอนแรกก็ยังไม่รู้จะทำอะไร แต่คิดว่าต้องเริ่มจากสิ่งที่เรามี จึงได้เริ่มพัฒนาฟื้นฟูที่ดิน เมื่อดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็พอที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากเราจะพัฒนาสภาพของดินแล้ว เราก็เป็นผู้นำในการพัฒนาคนด้วย เราจึงชวนคนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ที่ปกติเป็นเกษตรกรและทำการค้าขายบ้าง มารวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เมื่อฐานเราแน่นแล้ว พี่ก็เริ่มออกไปแสวงหาโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์” และนี่คือที่มาของพี่ไก่ จนมาพบกับ NIA และได้รับทุนสนับสนุนในผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชาหมักคอมบูชาเพื่อสุขภาพ จากเศษเหลือของกระบวนการผลิตคราฟต์โซดาโกโก้” ผ่านโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยมหาวิทยาลัยพะเยา

ถึงแม้ว่าความสนใจเมื่อเริ่มแรกนั้นจะยังห่างไกลจาก “โกโก้” อยู่มาก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของพี่ไก่ คือ การติดกระดุมเม็ดแรกต้องติดให้ถูกต้อง จึงเล่าต่อว่า “พี่เริ่มสนใจเรื่องเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เพราะดีต่อสุขภาพ ดีต่อลำไส้ และได้ตัดสินใจเริ่มต้นตั้งโรงงานเล็ก ๆ โดยเราตั้งเป้าตั้งแต่แรกเริ่มว่า เราต้องการเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ โรงงานของเราจะมุ่งเน้นเป็น Green Factory และเมื่อแนวคิดเราชัดเจน ทำให้กระบวนการทำงานเรามีทิศทางที่ตรงเป้ามากขึ้น โดยเรามุ่งเน้นการผลิตสินค้าโดยใช้หลักการ BCG Model เพื่อทำสินค้าคราฟต์โซดา (Craft Soda) โดยเริ่มต้นจากเห็ดต่อยอดมาที่มะเกี๋ยง ซึ่งมีกระแสนิยมในสมัยนั้น ต่อมาก็ได้ขยายการผลิตคราฟต์โซดาไปยังวัตถุดิบอื่น เช่น มะกอกป่า มะไฟ มะเฟือง จนมาถึงโกโก้ในที่สุด ... แต่ละอย่างที่เราลองทำ เราทิ้งเศษเหลือทางการเกษตรน้อยมาก พยายามใช้ทุกส่วนของวัตถุดิบให้คุ้มค่าที่สุด”

                                               

ด้วยความช่างสังเกตเป็นเหตุให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ พี่ไก่จึงเล่าต่อว่า “จุดเริ่มต้นของความสนใจโกโก้ คือ ณ ขณะนั้นมีเกษตรกรในจังหวัดแพร่ ปลูกโกโก้กันเยอะมาก แต่คุณภาพของผลผลิตไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ราคาขายไม่ดี ต้นทุนสูง เกษตรกรบางรายเริ่มถอดใจ และกำลังจะตัดต้นโกโก้ทิ้ง เราจึงคิดที่จะนำมาแปรรูปเป็นคราฟต์โซดา เพราะเรามีองค์ความรู้เดิม แต่เราสังเกตว่า ในกระบวนการผลิต มันมีเศษเหลือทิ้งเยอะมาก เช่น ส่วนเปลือกเมล็ด ส่วนเมล็ด ส่วนเนื้อโกโก้ รวมถึงใบโกโก้ ซึ่งต้นโกโก้นั้นต้องคอยตัดแต่งกิ่ง ริดใบ เพื่อความสมบูรณ์ของผลโกโก้ และหากไม่ทำก็จะทำให้เกิดโรคพืชตามมา จึงคิดถึงการแปรรูปส่วนเกินเหล่านั้นโดยการนำมาหมักให้กลายเป็น ชาคอมบูชา (Kombucha tea)

ในช่วงปี 2565 นั้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่าง ชาหมักคอมบูชา เครื่องดื่มเก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ขยายต่อไปยังประเทศเกาหลี และเข้ามาสู่ประเทศไทย ยังเป็นที่รู้จักในวงแคบ ไม่แพร่หลายและมีความนิยมสูงเหมือนในปัจจุบัน แต่ด้วยการแสวงหาความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องของพี่ไก่ ทำให้ได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ คือ ผศ.ดร.สุวลี ฟองอินทร์ อาจารย์สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยพะเยา ... เมื่อมีไอเดียรวมกับองค์ความรู้ด้านวิชาการของอาจารย์ จึงเกิดเป็นผลงาน ชาคอมบูชาจากกระบวนการผลิตคราฟต์โซดาโกโก้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างในตลาด รสชาติดีมีประโยชน์ ที่ยืนยันด้วยผลทดสอบคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระ และสร้างจุดขาย ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ใช้ฟิล์มหดแทนสติ๊กเกอร์กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย สะดุดตา น่าสนใจ ร่วมกับการใช้โลโก้น้องซาซ่า (Zaza) ที่เป็นน้องกวาง หน้าตาน่ารัก ยิ้มสดใส ตัวแทนสินค้าจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พร้อมต่อยอดไปยังการทำน้ำเชื่อมและซอสจากโกโก้ในเวลาต่อมา

พี่ไก่ยังกล่าวปิดท้ายว่า “จุดขายของสินค้าเรานั้นคือ รสชาติที่เน้นความสดชื่น สร้างความตื่นตัวอย่างเป็นเอกลักษณ์ เป็นสินค้าคราฟต์จริง มีผลทดสอบจากห้องแล็บชัดเจน และมี Story ของชุมชน ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกอยากซื้อมากขึ้น เมื่อเขาทราบกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพี่ขอเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้กำลังใจเกษตรกร หรือผู้ประกอบการท่านอื่น ๆ โดยอยากให้เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชนของตนเอง ช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น NIA เองก็มีทั้งองค์ความรู้ เครือข่าย และงบประมาณในการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งอาจจะได้ผลลัพธ์เป็นสินค้าใหม่ ในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำเหมือนชาคอมบูชาของพี่”

จากจุดเริ่มต้นที่ลองผิดลองถูก ฝ่าฟันช่วงที่ราคาผลผลิตผันผวน ปรับตัวจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ มาวันนี้ชาคอมบูชาและคราฟต์โซดาที่มีโลโก้น้องซาซ่า เป็นมาสคอตรูปเจ้ากวางสดใส ที่ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ การันตีด้วยรางวัลมากมาย สร้างชื่อเสียงและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกวิสาหกิจเท่านั้น “พี่ไก่” ยังได้กลายเป็นผู้นำกลุ่มชุมชนเกษตรกรต้นแบบที่มีชื่อเสียง สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรายอื่น รวมถึงเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ รับออกแบบสูตรและผลิตสินค้า (OEM) ให้แก่ธุรกิจอื่น ไปจนกระทั่งสามารถขาย License ให้ร้านคาเฟ่ได้อีกด้วย ... และหากท่านใดได้อุดหนุนน้องซาซ่าแล้ว อย่าลืมถ่ายรูปมาอวดทีมงานนะคะ

ช่องทางติดตาม:

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก คุณพรรณราย เกกีงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนฮักแป้ออแกนิค ฟาร์ม อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ขอขอบคุณผลงานนวัตกรรมจาก โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยพะเยา และ ผศ.ดร.สุวลี ฟองอินทร์ – อาจารย์ที่ปรึกษาผลงานนวัตกรรม

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)