สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เหริน เจิ้งเฟย : ผู้นำความคิดด้วยสมองและขับเคลื่อนด้วยหัวใจ

บทความ 5 เมษายน 2562 11,239

เหริน เจิ้งเฟย : ผู้นำความคิดด้วยสมองและขับเคลื่อนด้วยหัวใจ


ชาวจีนเคยกล่าวว่า “ในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ จะมีบุคคลที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบไปอีกนับร้อยปีข้างหน้า” และเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันของหัวเว่ย ได้พิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรอย่างหัวเว่ย (Huawei) ให้กลายเป็นผู้พลิกโฉมวงการโทรคมนาคมจากเดิมที่เคยผูกขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะฝั่งตะวันตกแต่เพียงฝ่ายเดียว จนกลายเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก และเจ้าของเทคโนโลยี 5G จนสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกดั่งการปลุกมังกรใหญ่ที่หลับใหลอยู่นานให้ตื่นขึ้น


การตื่นขึ้นจากการหลับใหลเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2012 หัวเว่ยมีรายได้และกำไรสุทธิแซงหน้า Ericsson ผู้ครองตลาดในอุปกรณ์โทรคมนาคมมาอย่างยาวนานหลายสิบปีจากสวีเดน จากบริษัทเล็ก ๆ ในเขตเศรษฐกิจของเซินเจิ้น ต้องต่อสู้กับการแข่งขันในตลาดที่มีรัฐเป็นเจ้าของกิจการ แต่ด้วยจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นของเหริน เจิ้งเฟย ปัจจุบันหัวเว่ยเป็นบริษัทเดียวจากจีน ที่อยู่ในรายชื่อ 500 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ และร้อยละ 67 จากรายได้ทั้งหมด เกิดขึ้นจากธุรกิจนอกประเทศจีนที่หัวเว่ยไปลงทุน


แม้หลายคนจะมองว่า วัฒนธรรมองค์กรที่สร้างความสำเร็จให้กับหัวเหว่ยคือการหมุนเวียนคณะกรรมการบริหารทุก 6 เดือน ให้ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการ CEO แต่บทเรียนของผู้นำในแบบฉบับที่เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยได้วางไว้ คือเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญในการคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของบริษัท


เรื่องแรก คือ “ลูกค้าต้องมาก่อน” เหริน เจิ้งเฟย แม้จะเป็นอดีตวิศวกรของกองทัพจีน เขาไม่ได้สนใจแค่เทคโนโลยี แต่หมกมุ่นอยู่กับการตอบสนองสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าเสมอ ในช่วงปีแรกๆ เขาตระหนักดีว่าสินค้ายังไม่ตรงตามมาตรฐานของคู่แข่ง เขาจึงมองหาทางเลือกใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้า ด้วยการส่งช่างไปซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหายอย่างทันถ้วงทีแม้ในเวลากลางคืนก็ตาม ขณะที่คู่แข่งที่มีคุณภาพสินค้าสูงกว่า มักจะไม่สนใจการให้บริการหลังการขายเท่าที่ควร 


หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีเพื่อให้พนักงานอุทิศตนอย่างแข็งขัน พนักงานในช่วงก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ จะได้รับฟูกนอนและผ้าห่มสำหรับการนอนค้างในที่ทำงานจากการทำงานข้ามคืน ปัจจุบันแม้ว่าหัวเหว่ยเป็นบริษัทมหาชน และเหริน เจิ้งเฟย จะถือหุ้นอยู่ร้อยละ 1.4 แต่สัดส่วนของหุ้นที่เหลือของบริษัท อยู่ในมือพนักงานกว่า 82,000 คน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัทมากกว่าแค่การเป็นลูกจ้างของหัวเว่ย


ปรัชญาที่สำคัญของหัวเว่ย คือ การให้ความสำคัญกับพลังแห่งความคิด เหริน เจิ้งเฟย เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งและใช้เป็นเครื่องมือในการมอบความคิดของเขาไปยังพนักงานอย่างกระตือรือร้น ในช่วงแรกๆ เขามักจะเล่าให้พนักงานฟังเป็นประจำว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 1 ใน 3 ของโลก แม้ในเวลานั้นเขาจะมีพนักงานอยู่เพียง 200 คนก็ตาม แต่เขาไม่เคยหยุดพูดคุยในความทะเยอทะยานดังกล่าว หรือแม้แต่การไปดูงานในสำนักงานวิจัยที่ต่างประเทศ เขาก็มักจะกลับมาเล่าถึงความประทับใจดังกล่าวให้กับพนักงานฟังอยู่เสมอ และยังคอยกระตุ้นให้ผู้บริหารควรอ่านหนังสือที่เสริมความรู้เฉพาะทางและนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญของตัวเอง เพื่อไปเล่าให้พนักงานฟังอย่างสม่ำเสมอ


วันนี้หัวเว่ย ไม่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของโลก แต่ยังเป็นองค์กรที่บ่มเพาะให้พนักงานมีความสุขและทุ่มเทต่อการทำงานเพื่อแสวงหานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่สิ้นสุด และกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นในการให้บริการที่ดีที่สุด การนำคนในองค์กรด้วยความคิดและขับเคลื่อนทุกคนด้วยใจของเหวิน เจิ้งเฟย คือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้หัวเหว่ยกลายเป็นบริษัทที่โลกต้องจ้องมองอย่างไม่คลาดสายตา


อ้างอิง :


http://www.europeanbusinessreview.com/leading-huawei-seven-leadership-lessons-of-ren-zhengfei/

https://www.huawei.com/nz/about-huawei/executives/board-of-directors/ren-zhengfei

https://hbr.org/2015/06/huaweis-culture-is-the-key-to-its-success