สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Govtech : เข้าถึงรัฐด้วยเทคโนโลยี

บทความ 13 พฤษภาคม 2562 9,847

Govtech : เข้าถึงรัฐด้วยเทคโนโลยี

             
GovTech หรือ Government Technology คือการให้บริการจากภาครัฐโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงานแทนที่การติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม และส่งมอบประสบการณ์ด้านบริการสาธารณะให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว รัฐอาจจัดทำเอง หรืออาจจัดหา ผู้รับจ้าง ที่เป็นภาคเอกชนมาให้บริการแทนก็ได้


              ขอบข่ายของ GovTech นั้นกว้างกว่าคำว่า e-Government เพราะครอบคลุมบริการสาธารณะทั้งการทำให้ภาครัฐสามารถทำงานผ่านออนไลน์ แต่ยังรวมถึงบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง บริการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือการทำให้ลดขั้นตอนการบริหารราชการภาครัฐ ดังนั้น การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการของภาครัฐด้วยนวัตกรรม จำเป็นต้องมีการออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อตอบรับกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน


              สิ่งที่ผลักดันและเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ เกิดจากพฤติกรรมที่คุ้นชินของประชาชนที่เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี เช่น การเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันแทนการโทรเรียกจากศูนย์ หรือการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตู้เอทีเอ็มหรือสาขาธนาคาร การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและราคาถูกกว่าเดิมจากที่เคยจำกัดอยู่เพียงแค่บริษัทขนาดใหญ่ การที่ภาครัฐเห็นความสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงสตาร์ทอัพ การเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี เข้าถึงและร่วมพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ 


              ทั่วโลกใช้เงินมากกว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้จ่ายด้านการปรับปรุงเทคโนโลยีการให้บริการของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยุโรป ใช้เงินไปกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการค้นหา วิจัย และพัฒนาระบบการจัดการดังกล่าว และได้มีการจัดทำแผนแม่บทของปี ค.ศ. 2016-2020 ในด้านการพัฒนาการให้บริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีร่วมกัน ด้วยกรอบการทำงานที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างและกำกับดูแลระบบการพัฒนาเทคโนโลยีภาครัฐอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ด้วยกฎหมายและข้อตกลงทางการค้า รวมถึงการขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบเก่า ๆ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้คนและผู้ให้บริการต่าง ๆ การสร้างสังคมแบ่งปันข้อมูลและสร้างมาตรฐานงานร่วมกัน รวมถึงการค้นหาบุคคลที่มีความสามารถและเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น การจูงใจชาวต่างชาติที่มีทักษะหายากหรือมีประสบการณ์สูง ให้เข้ามาทำงานในประเทศของตน ส่งเสริม สนับสนุน และให้รางวัลแก่ผู้ประกอบการที่สร้างผลงานได้น่าประทับใจ เพื่อประคองให้ทุกภาคส่วนไม่กลัวการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจจะมีความผิดพลาดได้ และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง



              นอกจากนี้สหภาพยุโรป ยังได้ร่วมกำหนดหลักการสำคัญเพื่อวางโครงสร้างการพัฒนา เช่น การเริ่มต้นความคิดด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ใช่เริ่มต้นจากว่าเราอยากจะพัฒนาอะไรด้วยเทคโนโลยี การหาทางออกของปัญหานั้นมาทดลองใช้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ แทนที่จะเป็นการวิจัยและเก็บไว้อยู่ในกรุ การกำหนดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกินไป การร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอ การให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยและสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการตรวจสอบความอ่อนไหวของเนื้อหาที่อาจกระทบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คน


              ความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคก่อนหรือหลังปฏิวัติทางเทคโนโลยี ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้น การร่วมมือกันโดยมีเจ้าภาพสำคัญอย่างภาครัฐ ยิ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ราบรื่นขึ้น และเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนได้เป็นอย่างดี

.

แหล่งที่มา :

https://view.publitas.com/public-1/the-state-of-govtech-europes-next-opportunity/page/1

https://www.startupthailand.org/wp-content/uploads/2018/09/ISSUE-133A-GOVTECH-TRANSFORMATION.pdf

https://www.startupthailand.org/wp-content/uploads/2018/05/e-magazine_no10_april_2561.pdf