สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

"กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 7 เมืองมหาอำนาจด้านการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม"

บทความ 9 มีนาคม 2564 3,422

"กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 7 เมืองมหาอำนาจด้านการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม"


จากข้อมูลของดัชนีเมืองมหาอำนาจระดับโลก (Global Power City Index 2020) ซึ่งเป็นดัชนีที่ประเมินและจัดอันดับเมืองใหญ่ ๆ ของโลกตามอำนาจในการดึงดูดทุน ผู้คน และบริษัทต่าง ๆ จากทั่วโลก โดยวัดจาก 6 ตัวแปรที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจ การวิจัยและการพัฒนา การปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความน่าอยู่ สิ่งแวดล้อม และความสามารถในการเข้าถึง  ผลจากการประเมินดัชนีดังกล่าวประจำปี 2563 พบว่า กรุงเทพมหานครถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 35 โดยขึ้นจากอันดับที่ 40 ในปี 2562 ในขณะที่ Top 3 ได้แก่ ลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ตามลำดับ 

ถึงแม้ว่าเมืองที่ติดอันดับ 3 อันดับแรกจะยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้จากปีที่แล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบความผันผวนของคะแนน พบว่า เมืองลอนดอน (อันดับ 1) และนิวยอร์ก (อันดับ 2) มีคะแนนนำห่างจากโตเกียวและปารีสอยู่มาก ในขณะเดียวกัน กรุงเบอร์ลิน (อันดับ 7) มีคะแนนเพิ่มในด้านเศรษฐกิจ ความน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมโดยยึดตำแหน่งจากโซลในปี 2019 และเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหม่เพียงรายเดียวที่เข้ามาอยู่ใน 10 อันดับแรก

จุดแข็งของเมือง 3 อันดับแรก 

1. ลอนดอน 

ลอนดอนมีจุดแข็งในด้านสิ่งแวดล้อม และยังถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกในทุกตัวแปรของดัชนี นอกจากนี้ลอนดอนยังมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษในด้านความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งนอกเหนือจากการครองตำแหน่งสูงสุดในสองตัวแปรของดัชนีทั้งในด้านการเข้าถึง และด้านการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม 

2. นิวยอร์ก

นิวยอร์กเป็นเมืองที่โดดเด่นในด้านเศรษฐกิจอีกครั้งในปี 2020 โดยมีคะแนนเพิ่มในตัวชี้วัดการจ้างงานโดยรวม และพนักงานในบริการสนับสนุนทางธุรกิจ รวมถึงการขึ้นสู่อันดับ 1 ในตัวชี้วัดด้านตัวเลือกสถานที่ทำงานที่หลากหลาย แม้ว่าเมืองนี้จะยังคงอยู่ในอันดับต้น ๆ ในด้านการวิจัยและพัฒนาและการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม แต่คะแนนในด้านความสะดวกในการเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือจักรยาน และความแออัดของการจราจรมีคะแนนลดลง 

3. โตเกียว 

โตเกียวมีจุดแข็งคือความสอดคล้องกันในทุกตัวแปร ในขณะเดียวกันก็เพิ่มอันดับในด้านสิ่งแวดล้อมและความสามารถในการเข้าถึง แต่เนื่องจากคะแนนความยืดหยุ่นในการทำงานและเสรีภาพทางสังคมและความเท่าเทียมกันลดลง  จึงส่งผลให้อันดับของเมืองด้านความน่าอยู่ลดลง ในด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งโตเกียวยังคงรั้งอันดับ 3 และมีจำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มสูงขึ้นในเมือง

สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นมีผลรวมจากการประเมินตัวแปรทั้ง 6 ด้าน อยู่ที่ 945.9 คะแนน นับเป็นอันดับที่ 35 จาก 48 เมือง ขึ้นมาจากอันดับที่ 40 ในปี 2019 โดยค่าคะแนนของกรุงเทพมหานครในแต่ละตัวแปรของตัวชี้วัด มีดังนี้  

  • ด้านเศรษฐกิจ อยู่ลำดับที่ 36 ด้วยคะแนน 178.9 
  • ด้านการวิจัยและพัฒนา อยู่ลำดับที่ 43 ด้วยคะแนน 18.1 
  • ด้านการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม อยู่ลำดับที่ 7 ด้วยคะแนน 176.2 
  • ด้านความน่าอยู่ อยู่ลำดับที่ 36 ด้วยคะแนน 306.1
  • ด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ลำดับที่ 43 ด้วยคะแนน 107.9 
  • ด้านความสามารถในการเข้าถึง อยู่ลำดับที่ 23 ด้วยคะแนน 158.7 

กรุงเทพมหานครจึงนับว่ามีความได้เปรียบหรือจุดแข็งในด้าน “การมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม” สูงที่สุด รองลงมาคือด้านความสามารถในการเข้าถึง ด้านเศรษฐกิจ ด้านความน่าอยู่ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวิจัยและพัฒนาตามลำดับ 

จากการจัดลำดับของดัชนี้ชี้วัด Global Power City Index ตั้งแต่ปี 2011 – 2020 พบว่า กรุงเทพมหานครมีความผันผวนของคะแนนและตัวแปรสูง โดยกรุงเทพมหานครเคยขึ้นสู่อันดับที่ 29 ในปี 2014 และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ประเทศไทยมีสภาพเศรษฐกิจที่คล่องตัว GDP ขยายตัวร้อยละ 4.3% รวมถึงสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้ถึง 2.7 ล้านล้านบาท มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก  

นอกจากผลของดัชนีชี้วัด Global Power City Index นี้ ข้อมูล Actor Evaluation (การประเมินปัจจัยที่มีผล) ในระดับโลก ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของเมืองหลวงของประเทศไทยไว้ว่า 

  • corporate executive - กรุงเทพมหานครมีค่าเฉลี่ยความเข้มแข็งของผู้บริหารอันดับสูงขององค์กรอยู่ในลำดับที่ 35 โดยวัดจากตัวชี้วัดในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนสตาร์ทอัพ ความสามารถในการเข้าถึง เมืองมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับความเสี่ยงและความท้าทาย ตลอดจนข้อมูล GDP และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 
  • Highly Skilled Worker - กรุงเทพมหานครถูกจัดลำดับอยู่ในลำดับที่ 39 โดยวัดจากอัตราการจ้างงาน อัตราการว่างงานทั้งหมด จำนวนผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ จำนวนสตาร์ทอัพ และจำนวนร้านค้า
  • Tourist - กรุงเทพมหานครอยู่ในลำดับที่ 17 โดยรวบรวมข้อมูลจากนักท่องเที่ยว ข้อได้เปรียบคือมีความสามารถในการแข่งขันด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวในเมืองที่มีความหลากหลาย สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกรูปแบบ
  • Resident - กรุงเทพมหานครอยู่ในลำดับที่ 46 โดยเป็นมุมมองจากผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมือง ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาดและความเขียวขจีของเมือง รวมถึงการใช้รถขนส่งสาธารณะ ความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนสภาพการจราจรในเมือง  

ผลของดัชนีชี้วัด Global Power City Index นี้ จึงชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของเมืองหลวงของประเทศไทย ที่ยังคงได้เปรียบทั้งในเชิงการท่องเที่ยวและเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนมีศักยภาพในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในเมือง ในขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพแวดล้อมของเมืองและการจราจรที่ติดขัดเพื่อเพิ่มคะแนนด้านความน่าอยู่ให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

อ้างอิง: Global Power City 2020

โดย เธียรวนันต์ จอมสืบ
       นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)