สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Gender Diversity นวัตกรรมสู่ความหลากหลายทางเพศ

บทความ 19 สิงหาคม 2562 12,461

Gender Diversity นวัตกรรมสู่ความหลากหลายทางเพศ


ในช่วงหลายปีมานี้ หลาย ๆ ประเทศได้กระตุ้นบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มเพศทางเลือกอย่างต่อเนื่อง ไอซ์แลนด์ออกกฎหมายให้ผู้หญิงมีฐานรายได้เท่ากับผู้ชาย เกาหลีและญี่ปุ่นมีกระแส #MeToo ในทวิตเตอร์เพื่อต่อต้านการกดขี่และคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญ แอปพลิเคชัน Instagram มีฟังก์ชัน IG Story สีรุ้งเพื่อเฉลิมฉลองให้กลุ่มเพศทางเลือกในเดือน Pride Month อย่างเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในวงการภาพยนตร์ก็เริ่มมีนักแสดงกลุ่มเพศทางเลือกได้รับบทนำมากขึ้น เช่น เชลีน วูดลีย์ (Shailene Woodley) นักแสดงนำหญิงจาก Divergent และเอลเลน เพจ (Ellen Page) นักแสดงนำหญิงจาก Juno ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำและออสการ์ เป็นต้น

อคติทางเพศที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว


ในส่วนขององค์กรต่าง ๆ ก็มีตัวเลขสัดส่วนผู้หญิงและกลุ่มเพศทางเลือกที่มีบทบาทในการทำงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีงานวิจัยระบุว่า ความหลากหลายทางเพศช่วยให้องค์กรทำกำไรได้มากขึ้น และองค์กรที่มีผู้บริหารเป็นผู้หญิงมาก ก็จะได้ผลตอบแทนและมีความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรมากตามไปด้วย แต่แม้ว่าจะมีผลงานวิจัยออกมารองรับข้อดีของการเพิ่มความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน แต่ผลการรายงานจาก The Global Gender Gap ของปี 2018 โดย World Economic Forum (WEF) กลับชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร


หนึ่งในอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่กดทับโอกาสของผู้หญิงและกลุ่มเพศทางเลือก คือ อคติทางเพศที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (Unconscious Bias) ของคนในองค์กรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มอย่างการรับสมัครงาน การประเมินผลการทำงาน การให้ค่าตอบแทนอย่างเงินเดือนและโบนัส และการอำนวยความสะดวกทั้งด้านข้อมูลและแรงงาน อคติเหล่านี้เกิดขึ้นจากกรอบแนวคิดเรื่องบทบาททางเพศและความคาดหวังต่อสิ่งที่แต่ละเพศควรจะเป็น แล้วแสดงออกมาในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง 


หลายองค์กรจึงเริ่มนำนวัตกรรมล้ำสมัยอย่าง AI มาช่วยตรวจจับและป้องกันการเกิดอคติทางเพศโดยไม่รู้ตัว เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพได้เข้ามาทำงานโดยให้ความสำคัญที่ความสามารถเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงเพศสภาพและลบอคติทางเพศออกไป โดย AI จะตรวจจับอคติตั้งแต่การประกาศรับสมัครงานไปจนถึงการเลื่อนตำแหน่ง โดยใช้วิธีตรวจสอบการปฏิสัมพันธ์สัมพันธ์ของคนในองค์กรในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน (Inclusiveness) กับองค์กรได้


อย่างเช่น Texito แพลตฟอร์มด้านการเขียนจะมีเครื่องมือประมวลผลคำ (Word-processing Tool) มาช่วยตรวจจับคำในการเขียนคำอธิบายงาน (Job Description) และเสนอคำที่ส่งผลต่อการเกิดอคติน้อยกว่า ทำให้มีจำนวนผู้สมัครหญิงและเพศทางเลือกเพิ่มขึ้น หรืออย่างสตาร์ทอัพเกิดใหม่อย่าง Unitive ก็มีโมเดลเครื่องมือที่คล้ายกันนี้ที่ใช้สอนฝ่ายบุคคลให้คัดเรซูเม่และเตรียมคำถามสัมภาษณ์งานที่มีอคติน้อยลงและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น วิธีนี้สามารถช่วยลดอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวของคนในองค์กรได้ตั้งแต่ระดับบนลงมาจนถึงระดับล่าง

ความสามารถของ AI


นอกจากนี้ AI ยังช่วยพัฒนาทักษะและลดการลาออกของพนักงานอีกด้วย AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานเพื่อแนะนำการเลื่อนตำแหน่ง ทำให้ลดความไม่เท่าเทียมที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินงานด้วยวิธีเดิม ๆ และยังสามารถตรวจพบพนักงานที่มีแนวโน้มจะลาออกแล้วเสนอวิธีช่วยเหลือได้อีกด้วย


แม้ AI จะมีประโยชน์มากมาย แต่การใช้ AI เพื่อลดอคติก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ด้วยตัว AI เองทำงานจากการเรียนรู้ข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนให้ หากข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนเต็มไปด้วยอคติ AI ก็จะสะท้อนอคติเหล่านั้นออกมา นั่นหมายความว่า AI ที่ใช้ตรวจจับอคติก็สามารถมีอคติได้เช่นกัน อย่างงานวิจัยหนึ่งพบว่า Google แสดงโฆษณาที่มีผลตอบแทนสูงให้ผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงถึง 14 เท่า และ Tay บ็อททวิตเตอร์ของไมโครซอฟต์ที่เริ่มทวีตข้อความเห็นพ้องไปในทางเดียวกับกลุ่มนาซีหลังเปิดใช้งานไม่ถึงหนึ่งวัน


ทางออกที่จะช่วยรักษาสมดุลในการลดอคติทางเพศนี้ ก็คือการใช้มนุษย์ร่วมกับ AI เพื่อลดจุดบกพร่องของกันและกัน และเอื้อประโยชน์ในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและเพศทางเลือกได้อย่างเต็มที่ นี่จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการนำนวัตกรรมมาสร้างความเท่าเทียมกันในระดับองค์กร วิธีนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อสังคมเท่านั้น แต่ยังเพิ่มศักยภาพการทำงานของตัวองค์กรเองอีกทางหนึ่งด้วย อาจพูดได้ว่าการใช้นวัตกรรมสร้างความหลากหลายทางเพศในองค์กรได้สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาด้านโอกาสที่ถูกกดทับของผู้หญิงและเพศทางเลือกในด้านอื่น ๆ ก็ยังคงอยู่ และคงจะดีอย่างยิ่ง หากนวัตกรรมจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ในอนาคตได้ เพื่อที่เราจะมุ่งหน้าสู่สังคมแห่งความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง

.

แหล่งที่มา :

https://www.vice.com/en_us/article/d7y3zq/can-ai-help-gender-diversity-help-ai

https://www.bcg.com/publications/2019/artificial-intelligence-ai-help-hinder-women-workforce.aspx

https://www.weforum.org/reports/the-global-gender-gap-report-2018

http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2018/key-findings/

https://www.catdumb.com/equal-pay-for-women-777/

https://www.youtube.com/watch?v=7bHoc1TW_Ps