สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันต้นแบบองค์กรแห่งนวัตกรรมในงาน Feed Innovation Week 2023 เมื่อวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2566

News 27 พฤศจิกายน 2566 111

NIA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันต้นแบบองค์กรแห่งนวัตกรรมในงาน Feed Innovation Week 2023 เมื่อวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2566

Feed Innovation Week 2023_1.jpg

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน Feed Innovation Week 2023 ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมี ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม NIA ได้รับเกียรติกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาองค์กรแห่งนวัตกรรมว่า นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมอาหาร ที่ภาครัฐสนับสนุนให้มีการพัฒนาทั้งนวัตกรรมอาหารและนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ความยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัย “ความรู้” เป็นองค์ประกอบ โดยมีการบริหารจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรม ทั้งในระดับบุคคลและในระดับองค์กร สำหรับซีพีเอฟ ถือเป็นต้นแบบของการสร้าง “องค์กรแห่งนวัตกรรม” ที่มีพัฒนาการในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง
 
ด้านนายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เป็นประธานเปิดงาน โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม นำเสนอผลงานที่สร้างคุณค่าเพิ่มให้องค์กร แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อต่อยอดและยกระดับผลงานให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่สูงขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า มุ่งสู่ต้นแบบองค์กรแห่งนวัตกรรม
 
สำหรับการเข้าร่วมงานในปีนี้ NIA ได้เชิญบริษัทสตาร์ทอัพด้านการเกษตรและเทคโนโลยีเชิงลึกที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก NIA จำนวน 5 ราย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้วย โดยมีรายละเอียดสตาร์ทอัพ ดังนี้
 
1. บริษัท ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย จำกัด นำเสนอระบบบริหารจัดการการให้น้ำให้ปุ๋ยแม่นยำ (Precision Irrigation) โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการผลิตพืช ประกอบด้วยชุดเซ็นเซอร์สถานีดิน สถานีอากาศ ชุดควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ย พร้อมแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการให้น้ำและปุ๋ยแม่นยำให้ตรงตามความต้องการของพืช ในช่วงการเจริญเติบโต และสภาวะอากาศที่แตกต่างกัน ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต ลดต้นทุนพลังงาน ระยะเวลาทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ย เพิ่มกำไรอย่างยั่งยืนตั้งแต่รอบแรกที่ใช้
 
2. บริษัท เพียวพลัส ไบโอ อโกรเทค จำกัด นำเสนอผลิตภัณฑ์ ไซเลจ เอ๊กตร้า พลัส หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำ สามารถหมักพืชหรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้หลากหลายชนิด ทั้งของแห้ง (Dry) และของสด (Fresh) โดยมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มโปรตีนในวัตถุดิบหมัก เก็บรักษาได้ยาวนาน 8 เดือน เพิ่มการดูดซึมในสัตว์ ใช้ได้กับสัตว์หลากหลายชนิด ทั้ง สุกร ไก่ ปลา โคเนื้อ โคนม แพะ แกะ
 
3. บริษัท เมอร์ลิเนียม จำกัด นำเสนอ Merlinium IoT TXTA221 ระบบ Sensor AI Predictive Maintenance แจ้งเตือนความเสียหายเครื่องจักรล่วงหน้า ด้วยนวัตกรรมเซ็นเซอร์ติดตั้งง่าย พร้อมระบบ AI ประมวลผลใช้งานได้ทันที ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร และสามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
4. บริษัท คอนโซลูเทค จำกัด นำเสนอ Egg E Egg ตู้ตรวจสอบคุณภาพไข่สำหรับอุตสาหกรรมโรงฟัก โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับระบบสมองกลฝังตัว (Embedded) เพื่อคัดแยกไข่ไก่ที่ไม่สมบูรณ์ก่อนเข้าห้องฟัก เช่น ไข่ร้าว ไข่เปลือกบาง ไข่สีซีด ไข่ผิดรูป เพื่อผลิตลูกไก่คุณภาพ ให้ความแม่นยำสูงถึง 98% ช่วยเหลือฟาร์มไก่เนื้อให้สามารถเพิ่มผลผลิตและความคุ้มค่ายิ่งขึ้น รวมถึงลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในกระบวนการฟักลูกไก่
 
5. บริษัท มาเวล แอดวานซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นำเสนอ MAC ระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยี Advanced oxidizing ซึ่งเป็น Green Technology ที่ใช้เวลาในการบำบัดน้ำน้อย เพียง 30-60 นาที โดยสามารถลดค่า COD ได้อย่างน้อย 70% จากค่าเริ่มต้นของน้ำเสียที่เข้าระบบบำบัด โดยสามารถบำบัดน้ำที่มีค่าสีสูงมากกว่า 1,000 ADMI และค่า COD ที่สูงมากกว่า 3,000 mg/L ได้ และทดแทนวิธีบำบัดทางชีวภาพและเคมีแบบดั้งเดิม ลดกลิ่นซึ่งมาจาก VOCs (Volatile Organic Compounds), NH3 (Ammonia), H2S (Hydrogen Sulfide), VFA (Volatile Fatty Acids) และ Mercaptan Sulfur และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ สามารถกำจัดและลดปริมาณเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในน้ำทิ้ง ก่อนระบายสู่รางระบายน้ำหรือหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดปริมาณสารโลหะหนักในน้ำเสียได้ นอกจากนี้ ยังใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยและยังสามารถติดตั้งใต้พื้นดินได้อีกด้วย
 
โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากพนักงานของ ซีพีเอฟที่เข้าร่วมงาน ได้สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ และมีความต้องการที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับบริษัท จึงเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพ ที่ร่วมกันสร้างให้เกิดนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป