สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“FaaS” โมเดลธุรกิจ 8.1 หมื่นล้าน จับตลาด “เกษตรกรรายย่อย”

บทความ 27 กรกฎาคม 2564 4,471

“FaaS” โมเดลธุรกิจ 8.1 หมื่นล้าน จับตลาด “เกษตรกรรายย่อย”


มาสำรวจเทรนด์ AgTech มูลค่ากว่า 8.1 หมื่นล้านบาท เจาะตลาดเกษตรกรรายย่อยกัน 


ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ “นวัตกรรม” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจแทบทุกภาคส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคน ที่จะมีเงินมากพอให้ลงมือพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้เอง


ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเจอปัญหาที่ว่านี้ ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสัดส่วนคนทำธุรกิจ ที่เป็นพี่น้องเกษตรกรรายย่อยเสียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงสถานการณ์ประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย สวนทางกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เข้าถึงยาก และใช้ต้นทุนสูง


จากข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นจริงในภาคการเกษตร กลายเป็นที่มาของ โมเดลธุรกิจ Farming-as-a-service (FaaS) หรือ บริการช่วยเหลือด้านธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร ที่ให้บริการตั้งแต่การเช่าอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มด้านการเกษตร บริการข้อมูลเฉพาะทางเพื่อใช้วางแผนการเกษตร รวมถึงบริการทรัพยากรแรงงาน โดยจุดเด่นของ FaaS อยู่ตรงที่การคิดค่าใช้จ่ายตามบริการที่เลือกใช้ เกษตรกรไม่ต้องลงเงินก้อนใหญ่ ก็มี “นวัตกรรม” เป็นของตัวเอง
 

โดยถ้าเจาะลึกเข้าไป โมเดลธุรกิจ FaaS แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

1. การบริหารจัดการฟาร์ม : บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อนำไปพัฒนาการทำการเกษตรที่แม่นยำกว่าเดิม พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยดูแลจัดการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร
 2. การช่วยเหลือด้านการผลิต : บริการให้เช่าอุปกรณ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการให้เช่าแรงงานคน
 3. การเข้าถึงตลาด : บริการแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกร ซัพพลายเออร์ และผู้บริโภคให้เข้ามาเจอกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เกษตรกรมีช่องทางการขาย ซัพพลายเออร์หรือผู้บริโภคก็ได้สินค้าที่ตอบโจทย์


จะเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจแบบ FaaS นี้ เข้ามาช่วยเกษตรกรได้หลายมิติ ทั้งช่วยลดต้นทุนและเวลาทำงาน ช่วยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีศักยภาพขึ้น และเปิดประตูให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีดีๆ ได้สะดวกขึ้น  ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีตัวอย่างสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จให้เห็นบ้างแล้วดังต่อไปนี้


Agroapps สตาร์ทอัพจากประเทศกรีซ ที่โดดเด่นด้านการให้บริการด้านการบริหารจัดการฟาร์มด้วยการใช้เทคโนโลยี GPS และเซนเซอร์อัจฉริยะในการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงมาก สามารถให้ข้อมูลทั้งในแบบรายวันและตามฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น 


Ekylibre สตาร์ทอัพจากประเทศฝรั่งเศส ที่นำหลากหลายเทคโนโลยี อาทิ IoT, Machine Learning เครื่องรับคลื่นสัญญาณวิทยุ (RFID) ไปจนถึง AI เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิต เช่น การตรวจสอบสภาพดิน การทำเกษตรแบบอัตโนมัติ และยังมีระบบช่วยจัดการคลังสินค้าอีกด้วย


iDrone Service สตาร์ทอัพจากประเทศแซมเบีย ที่ให้บริการโดรนสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจุดเด่นของสตาร์ทอัพนี้คือโดรนที่มีเซนเซอร์ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ และกล้องระดับ 4K จึงทำให้สามารถหว่านปุ๋ย ค้นหาศัตรูพืชหรือวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกได้เต็มศักยภาพ 


Farmlyplace บริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศเยอรมัน ที่ให้บริการระบบฟาร์มทางเลือก ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ และนำผลผลิตนั้นออกมาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคแบบหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร แถมยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย


Ninjacart สตาร์ทอัพจากประเทศอินเดีย ที่โดดเด่นเรื่องซัพพลายเชน ด้วยบริการเชื่อมโยงเกษตรกร ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร มาเจอกันด้วยแอปพลิเคชัน อีกทั้ง Ninjacart ยังเข้ามาช่วยวิเคราะห์การขาย คำนวณราคา ให้เกษตรกรและผู้ซื้อต่างได้ผลประโยชน์ เกษตรกรเองขายได้ราคาดี ผู้ซื้อก็ได้พืชผลที่สดใหม่ถึงหน้าบ้าน  


ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรไทยกว่า 50% จัดอยู่ในประเภทเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ แถมยังมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 60,276 บาทต่อหัว/ปี หรือเพียง 5,023 บาทต่อหัว/เดือน 


คงจะดีไม่น้อยถ้าประเทศไทยของเรามีบริการที่หลากหลาย สอดรับกับวิถีการทำงานและรายได้ของเกษตรกร โมเดลธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ความต้องการตลาด และเป็นอีกแนวทางให้เกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการที่ก้าวหน้าได้อย่างเท่าเทียม


จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคการเกษตร นำมาสู่โมเดลทางเลือกให้เกษตรกร นับว่า FaaS เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามองไม่น้อย โดยจากผลสำรวจของ BIS Research คาดว่าตลาด FaaS ทั่วโลก จะมีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 8.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2024 เลยทีเดียว


หากสตาร์ทอัพไหนมีไอเดียหรือสนใจอยากพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร NIA ก็พร้อมสนับสนุนโครงการที่มีแนวคิดดีๆ เช่นนี้ เพราะเราเชื่อว่า การมีนวัตกรรมดีๆ จะไม่เพียงช่วยยกระดับอุตสาหกรรม แต่ยังนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน 


ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://yourstory.com/2018/02/farming-service-faas-revival-agriculture/amp
https://www.quora.com/What-is-farming-as-a-service-FaaS-model
https://www.startus-insights.com/innovators-guide/5-top-farming-as-a-service-faas-startups/
https://www.researchandmarkets.com/reports/4832377/global-agriculture-technology-as-a-service/
https://themomentum.co/agriculture-in-thailand-2019/
https://voicetv.co.th/read/wNKKQKTcF