สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

How to ดูแลหัวใจคนทำงาน จากองค์กรดัง ที่ไม่ปล่อยให้ “พนักงาน” รู้สึกถูกทิ้งไว้ตัวคนเดียว

บทความ 29 มิถุนายน 2564 4,444

How to ดูแลหัวใจคนทำงาน จากองค์กรดัง ที่ไม่ปล่อยให้ “พนักงาน” รู้สึกถูกทิ้งไว้ตัวคนเดียว


เพราะ “โรคระบาด” อาจทำให้ใครหลายคนเครียดเหมือน “โลกจะระเบิด” 🤦🏻


ในสถานการณ์ที่โรคระบาดยังไม่กลับมาปกติดี หลายคนอาจจะสังเกตเห็นว่าตัวเองเริ่มหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หรือเครียดกับเรื่องหยุมหยิมแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสัญญาณความพังของ “สุขภาพใจ” ถึงขนาดอาจทำให้หมดไฟทำงานได้แบบไม่รู้ตัว


ผลสำรวจของ Qualtrics และ SAP พบว่าการที่ต้องทำงานติดบ้านนานเป็นปี ไม่ค่อยได้คุยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน หรือออกไปกินไปเที่ยวแบบแต่ก่อนนั้น ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ 

• 75% รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น

• 67% รู้สึกเครียดกับเนื้องานและปัญหาจากงานที่ต้องหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง

• 57% รู้สึกกังวลกับภาระที่เพิ่มขึ้น เช่น รายได้ลดลง มีหนี้สิน หรือต้องจัดเวลามาดูแลคนในครอบครัวพร้อมกับทำงานไปด้วย


การปล่อยให้คนทำงานต้อง “ใจพัง” ไปก่อนคงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร หลายองค์กรและบริษัทสตาร์ทอัพที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการปัญหาตรงนี้ ต่างพากันหาวิธีบรรเทาความเครียด คลายความเหงาความโดดเดี่ยว และออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาปัญหา ไม่ให้คนทำงานรู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้คนเดียว


💬 Communication is a key… คอยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ

การต้องอยู่ห่างกันทำให้ทุกคนไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะพูดคุย ไม่เพียงแค่ความไม่เข้าใจ ไม่ราบรื่นในการทำงาน แต่ยังหมายถึงความรู้สึกว้าเหว่ ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไป Local Alike สตาร์ทอัพไทย จึงจัดให้มีการประชุมออนไลน์สั้นๆ ในช่วงเช้าทุกวัน ให้ทุกคนได้มาอัปเดตงานที่ทำ พร้อมช่วยรับฟังปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ไข รวมถึงสารทุกข์สุขดิบ อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องงาน


🥳 Employee Engagement… หากิจกรรมสนุกๆ ให้พนักงานคลายเครียด

ถ้าต้องโฟกัสแต่เนื้องานที่ทำอย่างเดียว ยิ่งทำให้คนทำงานรู้สึกเครียดเป็นพิเศษ HP บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ จึงหากิจกรรมออนไลน์พิเศษๆ มาให้คนทำงานได้เปลี่ยนบรรยากาศ หลุดออกจากโลกที่มีแต่เรื่องงาน เช่น “Family Fun Fridays” ศุกร์หรรษา ที่ให้พนักงานและคนในครอบครัวมาสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน เช่น การดูภาพยนตร์ ดู Live Music หรือพาสัตว์เลี้ยงมาอวดความน่ารักกันผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์


⏱ Flexible Work Timing… ให้อิสระในการจัดสรรเวลาทำงานได้เอง

ไม่ใช่แค่ต้องดูแลตัวเอง แต่พนักงานบางส่วนยังมีภาระต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้ใช้สมาธิกับการทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ Tarrakki สตาร์ทอัพอินเดีย จึงออกนโยบายเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลางานได้เองตามสภาพแวดล้อมที่บ้าน เช่น สามารถเข้างานช่วงบ่าย แล้วไปเลิกงานดึกขึ้น หรือย้ายวันทำงานจากวันธรรมดา ไปทำในวันเสาร์ – อาทิตย์ แทนได้


💸 Fund for Employee… มีนโยบายช่วยเหลือด้านการเงิน

โรคระบาดอาจส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของพนักงานแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น รายได้ที่ขาดหายไป ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออาจต้องแบกรับภาระการเงินเพราะสมาชิกในครอบครัวตกงาน Cred สตาร์ทอัพด้านการเงิน จึงมีนโยบายในการช่วยเหลือพนักงาน ให้สามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน และช่วยออกค่าใช้จ่ายของใช้สิ้นเปลือง เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ


🗣 Mental Health Counselling… จัดโปรแกรมปรึกษาสุขภาพจิตให้ฟรี

พนักงานบางรายที่มีภาวะเครียดรุนแรงเป็นพิเศษ การให้คำปรึกษาไม่ถูกวิธี อาจส่งผลร้ายมากกว่าดี Innovaccer สตาร์ทอัพยูนิคอร์นจากอินเดีย จึงจัดสวัสดิการให้พนักงานสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงยังช่วยดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาตรงนี้ให้อีกด้วย


นี่คือ 5 เคสตัวอย่าง “วิธีช่วยเยียวยาหัวใจให้คนทำงาน” ไม่ให้จมกับความเครียดจากผลกระทบของโรคระบาด และถ้าช่วงนี้พนักงานหรือน้องๆ ในทีมของคุณเองกำลังมีสัญญาณความเครียดอยู่เช่นเดียวกัน NIA แนะนำให้ลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับมา จะไม่ใช่แค่พนักงานของคุณที่จะมีความสุขกับการทำงาน แต่ยังอาจหมายถึงทีมงานที่มี “สุขภาพใจ” ที่แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับทุกปัญหาที่เข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างแน่นอน