สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นโยบายเปลี่ยนโลกจากประเทศอังกฤษ

บทความ 28 มีนาคม 2562 6,321

นโยบายที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกจากประเทศอังกฤษ

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่อง Carbon footprint (รอยเท้าคาร์บอน) กันมาบ้าง แต่หากถามกันในเชิงลึกจริง ๆ หลายคนอาจจะงุนงงและอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวจนเกินไป จะว่าไปแล้วมันก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เพราะตัวเลขเหล่านี้มักเชื่อมโยงไปเรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมระดับมหภาคเสียมากกว่า แถมตัวเลขที่สามารถชี้วัดความเสื่อมของสภาวะแวดล้อมในแต่ละประเทศได้นี้สามารถซื้อขายกันได้อีกต่างหากเพื่อลบมลทินของมลพิษที่ตนเองผลิตให้กับโลกใบนี้ ถึงแม้ว่า Carbon footprint จะเกิดขึ้นมาบนโลกพักใหญ่แล้ว แต่มันก็เพิ่งจะถูกใส่ใจอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง แล้วเหตุผลที่มนุษย์หันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นเพราะโลกใบนี้กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมจริง ๆ แบบจับต้องได้ ไม่ใช่แค่การคาดการณ์ทางตัวเลขอย่างเมื่อก่อนแล้ว

บนโลกใบนี้มีการประชุมเรื่องสภาวะแวดล้อมมากมายนับไม่ถ้วน แต่การประชุมที่ดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดเห็นจะเป็น Paris 2015 : United Nations Climate Change Conference ที่ผ่านมา นอกจากหลายชาติยักษ์ใหญ่จะเริ่มลดราวาศอกเลิกเล่นเกมทางการเมืองกันบ้างแล้ว (แต่ก็ยังคงมีอยู่บ้าง) การประชุมนี้ยังก่อให้เกิดข้อตกลง Paris Agreement เพื่อโลกที่หลายชาติหันมาร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังในหลาย ๆ มิติ ไม่เพียงว่าจะมีเป้าหมายในการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงให้ได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระดับนโยบายประเทศที่เริ่มมองอนาคตของโลกและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Life) อย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นมากมายอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่องพลังงานสะอาด (Clean Energy) และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Power) เพื่อมาทดแทนพลังงานฟอสซิล (Fossil Fuel) ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษสูง ซึ่งเป้าหมายก็คือการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลโดยสิ้นเชิงในอนาคตอันใกล้นี้

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศในแถบยุโรปนอกจากจะตื่นตัวในเรื่องสภาวะโลกร้อนกันมากที่สุด (เพราะเริ่มได้รับผลกระทบโดยตรง) และยุโรปยังเริ่มลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจังมากที่สุดอีกด้วย ประเทศที่เดินเกมไวและก้าวกระโดดมากที่สุดอาจจะต้องยกให้อังกฤษ เริ่มตั้งแต่การยกเครื่องปรับปรุงกระทรวงที่ดูแลเรื่องนี้ใหม่อย่างการตั้ง Department for Business, Energy and Industrial Strategy (BEIS) หรือ กระทรวงธุรกิจ, พลังงาน และกลยุทธทางอุตสาหกรรม ขึ้นในปี  2016 อันเกิดขึ้นจากการรวมสองหน่วยงานใหญ่เข้าด้วยกันอย่าง Department for Business, Innovation and Skills (BIS) หรือ กระทรวงธุรกิจ นวัตกรรม และทักษะ กับ Department of Energy and Climate Change (DECC) หรือ กระทรวงพลังงานและสภาวะโลกร้อนนั่นเอง

ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายเท่านั้นแต่อังกฤษมักเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานระดับโลกก่อนใครเสมอ อังกฤษมีนโยบายพลังงานทดแทน (Renewable Energy) อย่างเป็นจริงเป็นจัง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับยักษ์ใหญ่ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน หากใครตามข้อมูลเรื่องพลังงานสะอาดจะรู้ดีว่าอังกฤษเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมยักษ์ (Wind Power) ซึ่งแค่ในอังกฤษเองก็มีกังหันลมยักษ์จำนวนมากพอ ๆ กับกังหันลมทั่วโลกรวมกันด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการพัฒนากังหันลมนอกชายฝั่งหรือ Offshore Wind Turbine ที่อังกฤษเป็นผู้นำด้านนี้อย่างจริงจังจนถึงขั้นที่รัฐบาลเองตั้งองค์กร Offshore Renewable Energy (ORE) หรือที่เรียกว่า ORE CATAPULT ขึ้นมาเพื่อให้พัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนนอกชายฝั่งโดยเฉพาะ ตั้งแต่การวิจัยนวัตกรรมไปจนถึงให้เงินทุนสนับสนุนกับบริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ในการทำธุรกิจด้านนี้ ซึ่งตัวอย่างที่เป็นผลงานโดดเด่นที่สุดนั้นเห็นจะเป็นนวัตกรรมล่าสุดอย่าง Haliade-X จากยักษ์ใหญ่ General Electric หรือ G.E. นั่นเอง ซึ่งนี่คือโมเดลกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (World’s Largest Offshore Wind Turbine) ตั้งอยู่ชายฝั่งเมือง Saint-Nazaire ในฝรั่งเศส ผลิตไฟฟ้าได้ 67 GWh ต่อปี หล่อเลี้ยงบ้านเรือนได้มากกว่า 16,000 หลังคาเรือน โปรเจกต์นี้ทาง ORE CATAPULT จับมือกับ G.E. ตั้งแต่ขั้นวิจัยไปจนถึงสร้างนวัตกรรมรวมถึงการขยายธุรกิจให้ก้าวไกลทั่วโลกด้วย โมเดลต้นแบบนั้นเสร็จเรียบร้อยและทำงานได้มีประสิทธิภาพทีเดียว แล้วคาดว่าโมเดลนี้จะเข้าสู่ตลาดนวัตกรรมพลังงานทดแทนจริงราวปี 2020 ที่จะถึงนี้ นั่นเป็นแค่หนึ่งตัวอย่างน่าสนใจที่เกิดจากนโยบายจริงจังของรัฐบาลอังกฤษ

อีกเหตุการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ระดับโลกได้เป็นอย่างมากก็คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองฟุกุชิม่า (Fukushima Earthquake) ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2016 ซึ่งเกิดสึนามิขนาดยักษ์ที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียหายยับเยิน นับตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในปี 1986 ครั้งนี้นี่ล่ะที่มนุษย์หันมาเริ่มต่อต้านพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างจริงจัง เหตุการณ์นี้สร้างความตระหนักไปทั่วโลก นอกจากในญี่ปุ่นเองประเทศที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจังที่สุดเห็นจะเป็นเยอรมัน หลังจากเหตุการณ์ที่ฟุกุชิม่านั้นเยอรมันก็เริ่มโครงการปฏิวัติพลังงาน Energiewende ซึ่งเป็นนโยบายจากรัฐบาลในการเร่งหาแหล่งพลังงานสะอาดทดแทนตั้งแต่พลังงานไฟฟ้าฟ้าไปจนถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพราะเยอรมันมีนโยบายที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2022 และหันมาใช้พลังงานสะอาดจากแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยแทน

อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องพลังงานทดแทนไปจนถึงพลังงานสะอาดอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนในอนาคต และมุ่งสู่แหล่งผลิตพลังงานสะอาดที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่เมืองไทยเองก็ตาม ถึงแม้ว่ากระทรวงพลังงานเพิ่งจะก่อตั้งเมื่อปี 2545 (ค.ศ. 2002) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการหาแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิล ตลอดจนพัฒนาพลังงานสะอาดกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  เราจะเริ่มเห็นบริษัทเล็กไปจนถึงบริษัทใหญ่มากมายที่หันมาประกอบการผลิตพลังงานสะอาดตั้งแต่การทำไร่พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) การทำธุรกิจพลังงานจากกังหันลมขนาดยักษ์ (Wind Turbine Farm) แม้กระทั่งการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การออกนโยบายเอื้อในเรื่องการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากครัวเรือนเพื่อจำหน่าย ไปจนถึงนโยบาย Smart City ที่ไม่ได้ใส่ใจแค่เทคโนโลยีและการวางแผนเมืองแต่ยังใส่ใจไปจนถึงเรื่องการจัดการระบบคมนาคมเพื่อลดการใช้พลังงานและลดมลพิษซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญหนึ่งของเมืองอัจฉริยะทีเดียว

ยุคนี้เราเริ่มเห็นภาพเมืองแห่งอนาคตและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงโชว์ตัวเลข ไม่ใช่แค่นโยบายสวยหรูที่เป็นแค่ตัวอักษร ไม่ใช่แผนพัฒนาที่ออกมาเพียงลมปากหรือรายงานหนาเป็นปึกที่อยู่บนกระดาษเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น แต่ทุกคนทั่วโลกกำลังร่วมมืออย่างจริงจัง ทุกหน่วยงานตั้งแต่เอกชนไปจนถึงรัฐบาลแต่ละประเทศต่างก็กำลังสร้างให้มันเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มกล้าต่อกรกับผู้ที่ลุกขึ้นมาทำลายโลกมากขึ้นเช่นกัน เพราะอนาคตไม่ได้อยู่ที่มือใคร แต่อยู่ที่มือของเราทุกคน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 


https://www.ge.com/renewableenergy/wind-energy/turbines/haliade-x-offshore-turbine

https://www.genewsroom.com/press-releases/ge-renewable-energy-strengthens-offshore-wind-partnership-ore-catapult-284598 

https://ore.catapult.org.uk/press-releases/ge-renewable-energy-and-ore-catapult-sign-five-year-rd-agreement-to-advance-offshore-wind-technologies-in-the-uk/

https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2016/04/with-global-goals-agreed-un-focuses-on-what-it-will-take-to-achieve-sustainability-targets-by-2030/ 

https://en.wikipedia.org/wiki/Department_for_Business,_Energy_and_Industrial_Strategy 

http://www.energiewende-global.com/en/ 

https://energy.go.th/2015/