สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดโลกนวัตกรรมการเงินยุคใหม่ “DeFi” ในบริบทประเทศไทย

บทความ 7 มกราคม 2565 3,284

เปิดโลกนวัตกรรมการเงินยุคใหม่ “DeFi” ในบริบทประเทศไทย


สัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธนาคารไทย

ไม่นานมานี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าปรับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินในเครือ โดยจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์  และทำการแลกหุ้นให้ผู้ถือหุ้น SCB ไปเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน โดยจะมีการจ่ายปันผลให้ SCBX ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 จำนวน 70,000 ล้านบาท สำหรับนำไปใช้ลงทุนในกิจการใหม่ การดำเนินตามแผนปรับโครงสร้าง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของกลุ่ม นอกจากนี้ ที่ผ่านมา SCB ก็ได้มีการประกาศการจัดตั้งกองทุนสำหรับร่วมลงทุน ขนาด 600 – 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับเครือซีพี และร่วมกับ AIS จัดตั้ง AISCB ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท  เพื่อขยายขอบเขตการลงทุน และเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ของเครือ SCB โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน (Blockchain) และ DeFi (ดีไฟ) ของเครือ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ SCB ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งใหญ่นี้


เปรียบเทียบ Decentralized Finance (DeFi) กับระบบธนาคารในปัจจุบัน

DeFi (ดี-ไฟ) เป็นแนวคิดด้านระบบการเงินที่ไม่อาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร ซึ่งจะแตกต่างจากระบบการเงินและธนาคารในปัจจุบันอยู่หลายด้าน เช่น ระบบการเงินในปัจจุบันธนาคารหรือสถาบันการเงินมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ของเจ้าของสินทรัพย์นั้น ในขณะที่ DeFi ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ทุกคนในโลกออนไลน์สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมการเงินได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารเพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ DeFi ยังมีระบบ Smart Contract ที่ช่วยซื้อขายสินทรัพย์แบบอัตโนมัติผ่านการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ด้วยระบบของบล็อกเชน ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางในการกำกับควบคุมอีกต่อไป  อีกทั้งภายใต้ระบบการเงินในปัจจุบัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นผู้เก็บรักษาและนำสินทรัพย์เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ โดยที่เจ้าของสินทรัพย์ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารสินทรัพย์หรือรับรู้ว่าสถาบันการเงินบริหารจัดการสินทรัพย์เหล่านั้นอย่างไร และธนาคารหรือหน่วยงานกำกับควบคุมอาจมีสิทธิจะสั่งห้ามมิให้ซื้อขายหรือเคลื่อนย้ายสินทรัพย์เหล่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้ระบบ DeFi สามารถควบคุมและบริหารสินทรัพย์ของตัวเองได้ตลอดเวลา สามารถลงทุนที่ไหนก็ได้ในโลก และได้รับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายสินทรัพย์ที่ถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระบบการเงินแบบเดิม เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้สถาบันการเงิน จุดเด่นของ DeFi ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือการที่ DeFi ถูกพัฒนาบนรากฐานของการใช้เงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เก็บมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่ และการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในทางกลับกันระบบการเงินและการธนาคารในปัจจุบันยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของเงินกระดาษ (Fiat Money) เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศสามารถควบคุมปริมาณเงินที่จะพิมพ์ขึ้นมา ตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ ถึงแม้จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินกระดาษอาจมีค่าน้อยลงในระยะยาวหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำ


ภาพอนาคตที่เกี่ยวกับ DeFi ในประเทศไทย

ในมุมหนึ่งหากคนไทยนิยมและยอมรับการใช้เงินดิจิทัลมากกว่าในปัจจุบัน เราอาจจะเห็นธนาคาร สถาบันการเงิน หรือภาคธุรกิจอื่นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป ในกรณีสุดโต่งที่สุดเงินกระดาษอาจกลายเป็นเพียงแค่ของสะสมเท่านั้น DeFi จะเข้ามาเป็นมาตรฐานการทำธุรกรรมทางการเงินของไทย กฎหมายไทยจะถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจาก DeFi ใหม่ ๆ ในอนาคต รวมถึงการคิดวิธีกำกับดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคมากจนเกินไป เนื่องจากผู้ใช้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการลงทุนหรือสกุลเงินดิจิทัลของทั่วโลกได้ โดยบางแหล่งการลงทุนอาจมีปัญหาด้านความปลอดภัย หรือการฉ้อโกง สำหรับภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก DeFi จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง ส่งผลให้บริษัทสามารถหาเงินสนับสนุนเพื่อทำนวัตกรรมได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก 

แต่ในทางกลับกันหาก DeFi ถูกนำไปใช้อยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักลงทุน หรือผู้ที่มองว่าเงินดิจิทัลเป็นเสมือนตัวเลือกหนึ่งในการลงทุนหรือการหาผลตอบแทนของเงินเย็นที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้ต้องทบทวนดูว่าทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารจัดการระบบ DeFi เช่น พลังงาน หรือโครงสร้างทางด้านฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ได้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่เนื่องจากมีเพียงคนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์นั่นเอง


ไม่ว่าอนาคตของ DeFi จะเป็นรูปแบบไหน ก็มีข้อควรระวังที่ผู้ใช้งานจะต้องศึกษาก่อนหลายประเด็น โดยเฉพาะระบบรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับระบบ DeFi เช่น “Hardware Wallet” ซึ่งจะเก็บข้อมูลยืนยันตัวตน “Private Key” ของผู้ที่จะใช้บล็อกเชน หรือ Software Wallet ในการแลกเปลี่ยนที่ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด สามารถยืนยันตัวตนผู้ซื้อผู้ขายได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ในการเกิด “51% Attack” หรือการที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถมีความสามารถในการคำนวณ hash (ระบบที่ใช้ในการยืนยันการซื้อขาย) มากกว่า 51% ของระบบบล็อกเชนนั้น โดยเฉพาะบล็อกเชนขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้กลุ่มนั้นสามารถแก้ไขข้อมูลการซื้อขายได้ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถทำเงินจากการซื้อขายสินทรัพย์ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของได้ หรือความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทุกประเทศจะทำการแบนสกุลเงินดิจิทัลแบบ DeFi ทุกสกุลพร้อมกัน เป็นต้น


อนาคตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก ดังนั้น การคาดการณ์อนาคต (Foresight) จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น การก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือ การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภคครั้งใหญ่ เป็นต้น “DeFi” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของธุรกรรมทางการเงินที่องค์กร หรือประชาชนทั่วไปควรให้ความสำคัญ และเริ่มศึกษาข้อมูล เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้


แหล่งที่มา


บทความโดย

กฤษภาส กาญจนเมฆานันต์ 

นักกลยุทธ์นวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)