สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
สู่สังคมที่ดีกว่า ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ละย่างก้าวของการใช้ชีวิตล้วนมีเทคโนโลยีดิจิทัลแทรกซึมอยู่ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ขั้นเล็ก ๆ อย่างการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารเพื่อนั่งไปทำงานในยามเช้าและกดสั่งอาหารในตอนเที่ยง หรือในสเกลที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยอย่างในอุตสาหกรรมการให้บริการ เราก็จะเห็นการใช้ระบบจองคิวออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน การใช้ AR มาช่วยให้การชอปปิงสนุกและง่ายดายยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล และมันจะดีแค่ไหน หากเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้เพื่อพัฒนาสังคมในด้านอื่น ๆ ได้
หนึ่งในฟันเฟืองชิ้นใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็คือ IoT หรือ Internet of Things โดย IoT จะเปรียบเสมือนฟันเฟืองอเนกประสงค์ที่นำไปปรับใช้ได้หลากหลายด้าน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า IoT เป็นเครือข่ายสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งสรรพสิ่งในที่นี้เป็นได้ทั้งวัตถุ ยานพาหนะ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของ โดย IoT จะเป็นตัวช่วยให้สรรพสิ่งเหล่านี้เชื่อมต่อ สื่อสารและส่งต่อข้อมูลกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
ชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
IoT ทำให้การสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนง่ายดายยิ่งขึ้น เราควบคุมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นให้ทำงานในพื้นที่และทิศทางที่ต้องการได้ผ่านแอปพลิเคชัน เราสั่งให้เครื่องซักผ้าอัจฉริยะซักและปั่นล่วงหน้าได้ และเมื่อซักเสร็จเรียบร้อย ระบบก็จะส่งข้อมูลมาที่สมาร์ทโฟน แล้วสั่งการราวตากผ้าให้เคลื่อนออกมาบริเวณที่มีแดด พร้อมรอให้เรากลับมาตากได้อย่างสะดวกสบาย หรือหากราวตากผ้าได้รับข้อมูลว่าฝนกำลังจะตก ก็จะเคลื่อนกลับเข้าที่ร่มอัตโนมัติ ไม่ต้องเจอปัญหาผ้าเปียกฝนอีกต่อไป
การเชื่อมโยงอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ตนับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะ หนึ่งในนวัตกรรมที่ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้มากที่สุด ตั้งแต่ระบบการควบคุมการเปิดปิดไฟด้วยเซ็นเซอร์ ระบบควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น การเปิดปิดเครื่องปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งด้านพลังงานที่เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าตามอุณหภูมิแวดล้อมได้เพื่อประหยัดพลังงาน
นอกจากการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีประโยชน์ในระดับองค์กรเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่พบเห็นได้ใกล้ตัวก็คือระบบ Smart Parking หรือลานจอดรถอัจฉริยะนั่นเอง บริเวณช่องจอดรถจะใช้เซนเซอร์ตรวจจับสถานะของช่องจอดรถ แล้วส่งต่อข้อมูลสถานะล่าสุดผ่านอินเทอร์เน็ตไปเก็บไว้ในคลังข้อมูล ผู้ใช้ก็จะค้นหาช่องจอดรถที่ว่างและจองผ่านแอปพลิเคชันในมือถือได้ ระบบนี้จะช่วยลดเวลาในการวนหาที่จอด และแก้ปัญหารถติดในลานจอดรถได้อย่างตรงจุด
ปัญหาที่พร้อมแก้ไข
เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้มีประโยชน์แค่ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเองก็เล็งเห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นจนครอบคลุมปัญหาครบทั้ง 9 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
2. ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน
3. ด้านภาครัฐและการศึกษา
4. ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม
5. ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน
6. ด้านความเป็นเมือง
7. ด้านสุขภาพ
8. ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
9. ด้านการจัดการภัยพิบัติ
ทุกแนวคิดทั้ง 9 ด้าน ล้วนเป็นของคนไทยทั้งสิ้น เช่น ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะมีแอปพลิเคชัน Food Warriors เพื่อรับส่งอาหารที่จำหน่ายไม่หมด ผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูลในแอปพลิเคชันวางแผนเส้นทางรับหรือส่งอาหารได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ แพลตฟอร์มนี้ก็จะช่วยลดปัญหาขยะจากอาหารเหลือทิ้งได้ หรือในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุก็สามารถใช้ แอปพลิเคชัน ‘ยังแฮปปี้’ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้ แอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมโยงกับบริการและสวัสดิการผู้สูงอายุ และสร้างระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อคอยช่วยเหลือและให้บริการต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ทุกแนวคิดทั้ง 9 ด้าน ล้วนเป็นของคนไทยทั้งสิ้น เช่น ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะมีแอปพลิเคชัน Food Warriors เพื่อรับส่งอาหารที่จำหน่ายไม่หมด ผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูลในแอปพลิเคชันวางแผนเส้นทางรับหรือส่งอาหารได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ แพลตฟอร์มนี้ก็จะช่วยลดปัญหาขยะจากอาหารเหลือทิ้งได้ หรือในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุก็สามารถใช้ แอปพลิเคชัน ‘ยังแฮปปี้’ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้ แอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมโยงกับบริการและสวัสดิการผู้สูงอายุ และสร้างระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อคอยช่วยเหลือและให้บริการต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เหรียญสองด้านของเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความสะดวก สบาย และปลอดภัยให้กับตัวเราเองและสังคมได้อย่างดีเยี่ยม แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เทคโนโยลีดิจิทัลที่มีประโยชน์นานัปการก็อาจส่งผลเสียได้หากนำมาใช้ในทางที่ผิด อย่างการเจาะเข้าระบบรถยนต์ไร้คนขับ ป้อนข้อมูลให้รถสับสนจนทำให้รถเปลี่ยนเส้นทางผิดพลาด หรือการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ในเซิร์ฟเวอร์สำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกมาก
นับว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนสังคม มุ่งเน้นแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมทุกด้าน และสร้างโอกาสให้คนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน หากในอนาคตเราสามารถยกระดับ การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับโครงการพัฒนาสังคมระดับประเทศได้ การที่ไทยจะกลายเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลก็ถือเป็นจุดหมายที่อยู่ไม่ไกลเกินจริง
.
แหล่งที่มา :
https://www.iphonemod.net/what-is-iot-internet-of-things-true-iot.html
https://www.aware.co.th/iot-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
http://its.sut.ac.th/index.php/document-manual/the-internet-of-things
https://www.startupthailand.org/deep-tech-startup-for-the-future-th/
https://www.iphonemod.net/smart-parking-true-iot.html
https://www.it24hrs.com/2012/smart-room-smart-room-automation/