สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

พาส่อง Co-Space ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เพื่อสังคมยุคใหม่

บทความ 6 มกราคม 2564 5,412

พาส่อง Co-Space ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เพื่อสังคมยุคใหม่


ถ้ามี “พื้นที่” ว่างสักแห่ง... คุณจะใช้มันทำอะไร?


หลายคนอาจจะอยากสร้างบ้านเป็นของตัวเอง บางคนอาจจะคิดว่าเปิดร้านขายอะไรดี บ้างก็มองว่าปล่อยพื้นที่ให้เช่าดีกว่า... แน่นอนว่า “พื้นที่” นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงไอเดียมาแรงอย่าง “Co-Space” หรือ “ธุรกิจแชร์พื้นที่” ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้พื้นที่อย่างมีอินไซต์ และมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต


Co-Space เป็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การดำเนินชีวิตของคนในสังคมยุคใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมือง และการชะลอของเศรษฐกิจ อันส่งผลให้แนวคิดของคนยุคใหม่ในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินนั้นหดตัวลง ประกอบกับทัศนคติที่เปิดกว้างในการยอมรับความแตกต่าง และความชื่นชอบเข้าสังคมแลกเปลี่ยนความคิดให้ทันต่อโลก Co-Space จึงดึงดูดใจคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี


ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Co-Space กับธุรกิจให้เช่าพื้นทั่วไป คือ Co-Space มีตัวเลือกและความยืดหยุ่นในการเช่าสูงกว่า รวมไปถึงการมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่ครบครันและตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่า ไม่ว่าจะเป็น Co-Living Space ให้เช่าพักอาศัย Co-Kitchen Space ให้เช่าห้องครัว หรือ Co-Working Space ให้เช่าที่ทำงาน ซึ่งแต่ละ Co-Space จะมีความโดดเด่น ตอบโจทย์ต่างกันอย่างไร 

Co-Working Space

สถานการณ์ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทได้ลองทำงานที่บ้าน (work from home) จนพบว่าการเช่าที่ระยะยาวอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะแม้จะปรับการเข้าประชุมเป็นสัปดาห์ละครั้งก็ยังเพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาสนใจ Co-Working Space มากขึ้น ด้วยรูปแบบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงาน ที่รองรับทั้งการทำงานเดี่ยวและเป็นกลุ่ม ในระยะการเช่าที่ยืดหยุ่น ทั้งเช่ารายเดือน หรือจ่ายเหมาตลอดปี มีส่วนกลางช่วยดูแลอำนวยความสะดวกภายในสำนักงาน บวกกับ Co-Working Space มักจะมีการจัดกิจกรรม อบรมต่าง ๆ ที่ต่างสนใจอยู่เสมอเป็นการดึงดูดผู้ใช้บริการ ทำให้มีโอกาสสร้างคอนเนคชั่นทางธุรกิจ จากการรวมคนที่มีความรู้ความสนใจในแวดวงเดียวกัน มาทำงานในพื้นที่เดียวกัน 


ตลาด Co-Working Space ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 8.24 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 1.15 หมื่นล้านบาท ในปี 2566  อย่างกรณีของ WeWork ของอเมริกา ที่กำเนิดขึ้นที่ย่านโซโห นิวยอร์กในปี 2553 จากคีย์หลักที่อยากสร้างพื้นที่ทำงานที่คนสามารถโฟกัสกับงานได้เต็มที่ในบรรยากาศที่เป็นมิตร จนปัจจุบันมีมากถึง 778 สาขาทั่วโลก หรือจะเป็น Co-Working Space  เจ้าแรกในไทยอย่าง HUBBA ที่นอกจากจะจัดพื้นที่ทำงานให้สวยงาม สะดวกสบาย แถมขนมฟรีแล้ว ยังมีพันธมิตรที่แข็งแรงอย่าง Google For Startups ซึ่งนับว่าดึงดูดผู้เช่าได้เป็นอย่างดี แถม HUBBA ยังเป็นตัวอย่าง Co-Working Space ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ New Normal ได้ เช่นการออกแพคเกจ Fractional Office ที่คิดราคาบริษัทตามวันที่เข้าออฟฟิศ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ยืดหยุ่นกว่าการจ่ายเหมารายเดือน


Co-Working Space เป็นตลาดมาแรงที่คู่แข่งค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมองเห็นโอกาสสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ จากการขยายตัวของสังคมเมืองในฝั่งพื้นที่ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ จากการสำรวจของ TerraBKK คาดว่าในอีก 30 ปี ประเทศไทยจะมีพื้นที่ชนบทเหลือเพียงแค่ 28% และมีพื้นที่เมืองสูงถึง 72% ซึ่งนับว่าว่ายังมีพื้นที่อีกมากให้ผู้ประกอบการ Co-Working Space เข้ามาประลองฝีมือกัน

Co-Kitchen Space

ต้องบอกว่าธุรกิจการทำ “อาหารและขนม” เป็นธุรกิจมาแรงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่แม้ว่าการหาวัตถุดิบจะสะดวกสบายและการคิดต้นทุนต่อปริมาณที่ง่าย ความเสี่ยงต่ำ แต่หลายคนกลับติดปัญหาพื้นที่ครัวไม่เพียงพอ หรือไม่มีต้นทุนเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง “Co-Kitchen Space” หรือธุรกิจห้องครัวให้ จึงเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานเหล่านี้


ตัวอย่างผู้ให้บริการ Co-Kitchen Space ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ได้แก่ Panda Selected ของประเทศจีน ที่เปิดตัวในปี 2558 ซึ่งเปิดโอกาสให้ร้านค้าต่างๆ เข้ามาใช้ครัวเดียวกันในการทำอาหาร เพื่อส่งจำหน่ายดิลิเวอรี่ ปัจจุบันเพียงแค่มณฑลเซี่ยงไฮ้มีมากกว่า 40 ครัว กว่า 800 ร้านค้าที่อยู่ในเครือ แถมยังขยายออกไปอีกกว่า 100 ครัวในมณฑลใหญ่ๆ ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยเองก็มีโมเดลธุรกิจคล้ายๆ กัน เช่น GrabKitchen ของสตาร์ทอัพชื่อดัง ที่เริ่มมีให้เห็นแล้วในหัวเมืองใหญ่


Co-Kitchen Space ในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมคนยุคใหม่ที่หันมาสั่งอาหารดิลิเวอรี่อย่างก้าวกระโดด จากการรวมหลายร้านไว้ในที่เดียว ซึ่งทำลูกค้ามีตัวเลือกเพิ่มขึ้น ค่าส่งถูกลง และลดระยะเวลารออาหาร โดยมีการเติบโตจากปีก่อนถึง 150% 

Co-Living Space

เมื่อสังคมเมืองเติบโตขึ้น แต่ความสัมพันธ์คนกลับห่างไกลกันออกไป “Co-Living Space” จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างชุมชนให้คนได้คลายเหงา และกลับมามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดย Co-Living Space เป็นธุรกิจให้เช่าห้องพักอาศัยส่วนตัว ซึ่งหมายถึงห้องนอน และอาจจะรวมห้องน้ำด้วยในบางแห่ง แต่นอกนั้นจะใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และมีผู้ดูแลคอยจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อยู่เสมอ 


Co-Living Space นับว่าเป็นเทรนด์ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า The Hmlet ที่มอบตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่มีชีวิตชีวา ต่างจากการเช่าคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ทั่วไป และอยู่ใกล้กับบริการขนส่งสาธารณะ โดยทาง The Hmlet จะให้ผู้เช่าทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ ความสนใจเบื้องต้น ฯลฯ เพื่อคัดเลือกคนที่จะเข้ามาอยู่ให้มีเคมีที่เข้ากันมากที่สุด แถมยังจัดกิจกรรมสนุกๆ ให้ผู้เช่าได้ทำร่วมกัน นอกจากนี้ยังให้บริการสัญญาระยะสั้น ขั้นต่ำเพียง 3 เดือน ซึ่งถูกใจคนยุคใหม่และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และขยับขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย จีน และญี่ปุ่น 


Co-Living Space ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกมาแรงในธุรกิจแชร์พื้นที่ ด้วยจุดเด่นในการสร้างคอมมูนิตี้ ลดความเหงาของคนที่พักอาศัย และแม้ในไทยจะยังไม่มีธุรกิจ Co-Living Space ที่ชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นด้วยพฤติกรรมของคน Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) จึงมักต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง สภาพแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมเปิดใจพบปะผู้คนใหม่ๆ