สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สัมมนา “CLMVT+ Forum 2021: Accelerating a Resilient Recovery”

News 27 สิงหาคม 2564 1,494

สัมมนา “CLMVT+ Forum 2021: Accelerating a Resilient Recovery”


ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในหัวข้อ “CLMVT+ Forum 2021: Accelerating a Resilient Recovery” จัดขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ในการนี้ ดร.พันธุ์อาจ ได้ร่วมการเสวนากับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ ในหัวข้อ “Technology Adoption in the New Normal and Ways to Foster Startups in CLMVT” เพื่อให้ข้อมูล และเสนอแนะมุมมองด้านอนาคตการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ การลงทุน และทิศทางความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคของกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ในการดำเนินงานทางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง 

ดร.พันธุ์อาจ ได้แสดงความคิดเห็นว่าจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เราไม่เพียงแต่ประสบวิกฤตการณ์ (Crisis) จากการแพร่ระบาด (Pandemic) ของ COVID-19 เท่านั้น แต่เรายังเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Climate change) และความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inequality) อาทิ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและทรัพยากรต่างๆ ด้วยเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมด้านนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจโดยรวมสามารถดำเนินไปทิศทางที่ดีได้ NIA ในฐานะองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรม ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโต ผ่านโครงการ Startup Thailand League โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ NIA ยังประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผ่านโครงการ Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษสำหรับชาวต่างชาติที่สนใจจะทำธุรกิจหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจำนวนผู้สมัครวีซ่าดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง และการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและพันธมิตรนานาชาติ จัดงานสัมมนา Southeast Asia Startup Assembly หรือ SEASA ประจำปีเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บ่มเพาะและเร่งสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนขยายความร่วมมือและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสากล 

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปลูกฝังทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skills) ให้แก่บุคลากร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกที่มีการพึ่งพาประโยชน์จากเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก