สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าเร่งปั้นสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตร ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมพลิกโฉมภาคการเกษตรสู่การทำเกษตรแม่นยำ

News 5 ธันวาคม 2566 130

NIA และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าเร่งปั้นสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตร ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมพลิกโฉมภาคการเกษตรสู่การทำเกษตรแม่นยำ เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

Artificial intelligence startup in agriculture_1.jpg

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรได้แก่ เครือข่ายมหาวิทยาลัย 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนร่วมมือกับ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย WEDO, Digital Office ภายใต้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ เอสซีจี และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) จัดกิจกรรม AgTech AI Demo Day 2023 ภายใต้โครงการ “เครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AgTech AI Consortium) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องสัมมนา 3-4 ชั้น 5 อาคารอเนกประสงค์ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์–ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บางซื่อ กรุงเทพฯ
 
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตรของโครงการ 15 ทีม ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เสริมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และด้านการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า NIA ให้ความสำคัญในภาคเกษตรเป็นอย่างสูง เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการสร้างให้เกิดการเติบโต ด้วยการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทย ผ่านกระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างให้เป็นผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับเกษตรกร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ ทั้งนี้ภายในงานนายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA ให้เกียรติมอบประกาศนียบัตร และกล่าวให้คำแนะนำสตาร์ทอัพให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาภาคเกษตรได้อย่างแท้จริง สร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้สามารถขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และน่าสนใจ
 
สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AgTech AI Startup เป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก เห็นได้จากข้อมูลของ The Wall Street Journal ที่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2564 ทั่วโลกมีมูลค่าการระดมทุนใน AgTech AI Startup สูงถึง 57,000 ล้านบาท แต่สำหรับในประเทศไทยพบว่า มีมูลค่าการระดมทุนรวมประมาณ 355 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการระดมทุนทั่วโลกแล้ว คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.62 เท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้าง AgTech AI Startup ของไทยให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดตลาดการลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น
 
ซึ่งโครงการ AgTech AI มีเป้าหมายเพื่อเร่งสร้างสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก ศิษย์เก่า นักวิจัย บุคคลทั่วไปที่สนใจ และมีความตั้งใจอยากทำธุรกิจ ได้เตรียมความพร้อมในการเป็นสตาร์ทอัพที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ
 
สำหรับ 15 ทีมจากโครงการ AgTech AI Incubation 2023 ที่พร้อมโชว์ศักยภาพและความโดดเด่นของเทคโนโลยี AI ประกอบด้วย
1. AbyteSoft AI : ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติแบบแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์เสียงการกินอาหารของปลา
2. AgriGIS : ระบบคาดการณ์ผลผลิตและช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวพืชโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและ AI เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตสูงสุด
3. AgriVision : หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และ AI
4. Carne : ระบบตรวจสอบคุณภาพเนื้อวัวพรีเมี่ยมโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และ AI
5. Durian AI : ระบบคัดเแยกเกรดคุณภาพทุเรียนส่งออกแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีการจำลองกายภาพเสมือนจริง และ AI
6. DURICO : ระบบบริหารจัดการฟาร์มทุเรียนเพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ และ AI
7. GATI : ระบบบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี IoT และ AI
8. GreenHub : หุ่นยนต์ตรวจสอบและกำจัดโรคพืชแบบแม่นยำ
9. i-Chick : หุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับดูแลสุขภาพไก่เนื้อในโรงเรือนระบบปิด
10. Insecto : ระบบคาดการณ์การระบาดแมลงศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และ AI
11. Junimos : แพลตฟอร์มแนะนำพืชที่เหมาะสมกับการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยี AI
12. Mungkud.AI : ระบบคัดแยกเกรดคุณภาพผลไม้แบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และ AI
13. SugarTech : ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตสำหรับเพาะปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยี AIoT
14. Untired : ระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการที่ดินสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและ AI
15. UptoField : ระบบวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี AI
 
สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินและให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพในวันนี้ ได้แก่ คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ดร.ศรัญญา เสนสุภา กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จำกัด คุณยงยุทธ พงษ์เสือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนา SME และ Startup ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ผศ.ดร.นริศ หนูหอม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผู้แทนสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย คุณนันทภรณ์ อังศุกุลธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และคุณสิรพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
สรุปผลการพิจารณาตัดสินรางวัล มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. รางวัล The Best Performance Award เป็นทีมชนะเลิศที่ตัดสินมาจากผลรวมคะแนนตลอดระยะเวลาการบ่มเพาะ ทั้งคะแนนด้านความเข้าใจด้านเทคโนโลยี AI การสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ และการนำเสนอจากคณะกรรมการในงาน Demo Day ได้แก่ ทีม Abytesoft AI : ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติแบบแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์เสียงการกินอาหารของปลา
2. รางวัล The Best Engagement Award เป็นทีมชนะเลิศที่ตัดสินมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจการเข้าร่วมการบ่มเพาะตลอดระยะเวลาการบ่มเพาะ ที่ได้รับการคัดเลือกมาจาก 5 มหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย และทีมที่ปรึกษา ได้แก่ ทีม Insecto : ระบบคาดการณ์การระบาดแมลงศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และ AI
3. รางวัล The Popular Vote เป็นทีมชนะเลิศที่ตัดสินมาจากผลรวมคะแนนจากการโหวตของสตาร์ทอัพทั้ง 15 ทีม และผู้เข้าร่วมงาน Demo day ได้แก่ ทีม Durian AI : ระบบคัดเแยกเกรดคุณภาพทุเรียนส่งออกแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีการจำลองกายภาพเสมือนจริง และ AI
 
นอกจากนี้ WEDO, Digital Office ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ เอสซีจี ยังมีรางวัลพิเศษที่มอบให้ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะ ได้แก่
1. รางวัล The Winner Award ได้แก่ ทีม GATI : ระบบบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี IoT และ AI
2. รางวัล The First Runner Up ได้แก่ ทีม Durian AI : ระบบคัดเแยกเกรดคุณภาพทุเรียนส่งออกแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีการจำลองกายภาพเสมือนจริง และ AI
3. รางวัล The Most Think-out-of-the-box ได้แก่ ทีม Abytesoft AI : ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติแบบแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์เสียงการกินอาหารของปลา
4. รางวัล The Best Improvement ได้แก่ ทีม Junimos : แพลตฟอร์มแนะนำพืชที่เหมาะสมกับการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยี AI
5. รางวัล The Best Storytelling ได้แก่ ทีม Durico : ระบบบริหารจัดการฟาร์มทุเรียนเพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ และ AI
 
ทั้งนี้ หากมีเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นักลงทุน หรือหน่วยงานใด ที่สนใจในเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั้ง 15 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล โทรศัพท์ : 02-017 5555 ต่อ 544 มือถือ : 091-541 5542 อีเมล : [email protected]