สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เมื่อ Passion อัพเลเวล “เด็กติดเกม” สู่ CEO สตาร์ทอัพทำเกม เตรียมขายทั่วโลก

บทความ 27 พฤษภาคม 2563 6,066

เมื่อ Passion อัพเลเวล “เด็กติดเกม” สู่ CEO สตาร์ทอัพทำเกม เตรียมขายทั่วโลก


หลายคนอาจจะมองว่าโอกาส นั้นคือความโชคดีอย่างหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้ว “โอกาส” เป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองเช่นกัน


เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ “พลวัต ดีอันกอง” หรือ “อิม” อดีตเด็กหนุ่มผู้คลั่งไคล้การเล่นเกมแบบสุดๆ จนเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเรียนรู้วิธีการเขียนเกมด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น และเป็นแรงผลักดันให้เขากลายมาเป็น CEO บริษัทสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาเกม Artheland ของตัวเอง ในวัย 26 ปีเท่านั้น… เส้นทางความสำเร็จของอิมจะมีที่มาที่ไปอย่างไร ไปติดตามกันเลย

จุดเริ่มต้น Game Designer จากแค่ “เกมกระดาษ”

“อิม” เริ่มรู้จักกับความสนุกของการเล่น “เกม” ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม แต่เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีหนี้สินจำนวนมาก มันจึงไม่ใช่ “เกมคอมพิวเตอร์” อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นเพียงเกมกระดาษที่เขาออกแบบและวาดขึ้นเองทั้งหมด ตั้งแต่ตัวละคร ด่าน อาวุธต่างๆ รวมกว่า 100 แผ่น และนำมาเล่นกับเพื่อนๆ ในช่วงพักกลางวัน ซึ่งทุกครั้งที่ได้เห็นทุกคนสนุกไปกับเกมที่เขาทำขึ้น มันก็ทำให้เขารู้สึกมีความสุขไปด้วย


พอขึ้นชั้นมัธยม ครอบครัวของอิมตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์ให้ เพราะอยากสนับสนุนให้เขามีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีไม่ต่างกับเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งนอกจะใช้มันเพื่อทำรายงานส่งคุณครูแล้ว อิมยังใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือ ไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จนเริ่มหลงใหลกับศาสตร์ของเกมชนิดที่ว่า สามารถนั่งเล่นเกมได้ 20 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกหิวหรือเหนื่อยเลย และรู้สึกอยากทำเกมขึ้นมาเป็นของตัวเองอย่างจริงจัง 


อิมจึงเริ่มต้นเรียนรู้องค์ประกอบพื้นฐานของการเขียนเกม เช่น การเขียนโค้ด การทำภาพกราฟิก แอนิเมชัน และ Visual Graphic การเขียนเว็บไซต์ด้วยตัวเอง จากการหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตและ Tutorial บน YouTube ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีแหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตให้ไปศึกษามากมาย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กมัธยม เพราะสื่อแทบทั้งหมดนั้นถูกนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เขาต้องใช้เวลาทำความเข้าใจวิธีการทำเกมทั้งหมด ขณะที่ต้องเรียนไปด้วย ช่วยครอบครัวทำงานไปด้วย รวมแล้วประมาณ 4 ปี แต่ก็ยังไม่ได้พัฒนาเกมของตัวเองออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

โอกาสบนเส้นทางธุรกิจที่ไม่คาดคิดมาก่อน

หลังจากจบการศึกษามัธยมปลายแล้ว อิมตัดสินใจพาตัวเองเปลี่ยนสถานที่ ไปอยู่ในจุดที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้ฝันของเขาเป็นจริงได้ นั่นคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และด้วยบุคลิกเป็นคนไม่หยุดนิ่งเป็นทุนเดิม จึงไม่พลาดที่จะหาความรู้วิธีการออกแบบเกม ที่นอกเหนือจากแค่ในหนังสือ และระหว่างที่เรียนอยู่ เลยได้ทดลองเขียนเกมของตัวเองออกประมาณ 3 - 4 เกม และนำมาเล่นกันแค่ในกลุ่มเพื่อนที่มหาวิทยาลัย


จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้อิม ก้าวเข้าสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ คือตอนเรียนชั้นปีที่ 3 มีวิชาหนึ่งชื่อว่า Senior Project ที่นักศึกษาจะต้องทำโปรเจกต์เพื่อส่งอาจารย์ และแน่นอนว่าเขาเลือกที่จะพัฒนาเกมตัวใหม่อย่างจริงจังขึ้น โดยใช้ชื่อว่าเกม “Artheland” เมื่อถึงวันส่งโปรเจกต์ ทุกคนต่างชื่นชมในผลงานเกม Prototype และอาจารย์ที่มองเห็นถึงศักยภาพในตัวเขา ได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับโครงการ Startup Thailand League ของ NIA ที่เป็นเวทีประกวดไอเดียนวัตกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนไปต่อยอดทำจริง ซึ่งอิมเองก็ตัดสินใจคว้าโอกาสที่มีมาให้ และลงสนามประชันแข่งขันกับเพื่อนๆ ที่มีฝันไม่ต่างจากเขา


ด้วยความพยายามในการปรับปรุงเกม Prototype และเตรียมการนำเสนออย่างหนัก อิมก็คว้าเงินทุนสนับสนุนก้อนแรกจากเวที Startup Thailand League และหลังจากได้รับคำแนะนำมากมายจากผู้เชี่ยวชาญ และผ่านโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพเยาวชนต่างๆ ของ NIA เป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้เขาเริ่มมองเห็นลู่ทางในการพัฒนา “Artheland” เวอร์ชันใหม่ เพื่อนำออกสู่ตลาดและทำเงินได้จริง จึงตัดสินใจรวมเพื่อนๆ และรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย ที่มีความฝันแบบเดียวกัน มาร่วมจัดตั้งบริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด ในที่สุด

“เกม” ที่เล่นพันครั้ง ก็จะไม่เหมือนกันทั้งพันครั้ง

เกม “Artheland” เป็นเกม PC แนววางแผนกลยุทธ์ (Strategy) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากยุโรปยุคกลาง ผสมกับความแฟนตาซี (Medieval Europe Fantasy) โดยตัวผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นผู้นำหมู่บ้าน เพื่อคอยวางแผนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีจากข้าศึก สัตว์ป่า การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ภายในเมือง และสุดท้ายจะสามารถพัฒนาหมู่บ้านให้ขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ


แต่ความพิเศษที่ทำให้ Artheland แตกต่างจากเกม Strategy ทั่วไป คือการที่อิมได้เขียน Node AI ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เกมสามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้เล่นแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น การตอบสนองของผู้เล่น อัตราคลิกต่อนาที ความสามารถในการบริหารทรัพยากร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงปัจจัยด้านจิตวิทยาต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงระบบ ระดับความอดทน การตัดสินใจ ฯลฯ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ตัวเกมจะสามารถบิดตัวเองได้ตลอด และต่อให้ผู้เล่นคนเดิม เล่น Artheland พันครั้ง ตัวเกมก็จะไม่เหมือนกันทั้งพันครั้ง


Artheland จะเปิดให้ดาวน์โหลดพร้อมกันทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน บนแพลตฟอร์มตลาดเกมที่เหล่าเกมเมอร์ทั่วโลกคุ้นชินกันอย่าง Steampowered.com และ Google Play Store ในราคาชุดละ 450 บาท สำหรับใครที่สนใจอดใจรอกันอีกสักนิด เพราะไทม์ไลน์การเปิดตัวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ความฝันเด็กติดเกม ที่อยากใช้เกมเปลี่ยนสังคม

แม้ทุกวันนี้ ตัวเกม Artheland จะใกล้เสร็จสมบูรณ์และพร้อมวางตลาดในแบบที่อิมและทีมคาดหวังไว้ “เป้าหมาย” สเต็ปต่อไปของพวกเขานั้น กลับไม่ใช่การทำรายได้มากๆ ให้คุ้มค่าความพยายามที่เหนื่อยกันมา แต่สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม ที่มักมองแค่ว่าเด็กส่วนใหญ่ เล่นเกมไปเพื่อความบันเทิงเท่านั้น


“ทุกคนรู้ว่าเด็กๆ ชอบกินไอศกรีม แต่มันก็มีภาพจำติดมาว่า ไอศกรีมนั้นมันหวานและทำให้เสียสุขภาพ ตัวผมเองคิดตั้งแต่เด็กแล้วว่า แล้วทำไมถึงไม่มีใครทำไอศกรีมที่ทั้งอร่อยด้วยและมีประโยชน์ด้วย ซึ่งคอนเซ็ปต์แบบนี้ใช้ได้กับการเล่นเกมเหมือนกัน ผมจึงโฟกัสมากๆ ว่าเกมที่ผมทำขึ้นต้องให้อะไรกับผู้เล่นมากกว่าแค่ความบันเทิง ตั้งแต่เด็กผมได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ได้รู้จักวิธีแก้ปัญหาหลายๆ อย่างจากการเล่นเกม และผมอยากให้ทุกคนที่มาสนุกกับ Artheland ได้สิ่งเหล่านี้กลับไปเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ถูกตีตราว่าเป็นแค่เด็กติดเกม”


เมื่อถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น อิมได้เล่าให้ NIA ฟังว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องมีทัศนคติความสำเร็จ (Success Mindset) อย่าหยุดที่จะมองหาโอกาส เพราะใครที่แสวงหาโอกาสดีๆ ที่ผ่านเข้ามา มักประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนที่อยู่นิ่งและมองข้ามมันไป