สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

"Think different" แนวคิดการทำงานแบบ Apple ผู้สร้างนวัตกรรมปฏิวัติโลก

29 พฤศจิกายน 2565 7,757

"Think different" แนวคิดการทำงานแบบ Apple ผู้สร้างนวัตกรรมปฏิวัติโลก

ว่ากันว่าโลกของเรามีแอปเปิลอยู่ 3 ลูกที่ทำให้เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล

ลูกแรกคือเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ไบเบิลในบทปฐมกาลที่อดัมและเอวา มนุษย์คู่แรกของโลกได้แอบกินแอปเปิลในสวนเอเดนทำให้มนุษย์เกิดความละอายต่อบาปและสร้างเผ่าพันธุ์จนสืบต่อเรื่อยมา ส่วนแอปเปิลลูกที่สองคือวันที่เซอร์ไอแซกนิวตันเจอแอปเปิลตกจากต้นแล้วทำให้ค้นพบแรงโน้มถ่วง และสุดท้ายก็ข้ามมาในปี ค.ศ. 1976 ในประเทศสหรัฐอเมริกา แอปเปิลลูกที่สามก็ได้ถือกำเนิดขึ้น จากชายที่ชื่อว่า “Steve Jobs” และ “Steve Wozniak” โดยเริ่มต้นจากการสร้างนวัตกรรม แผงวงจรคอมพิวเตอร์ ซึ่งในภายหลังถูกตั้งชื่อว่า Apple

จากนั้นก็ได้เกิดนวัตกรรมตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น MacBook, iPod, iPhone, iPad ฯลฯ จนทำให้ในปัจจุบัน Apple กลายเป็นบริษัทหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่ว่าในช่วงต้นปี ค.ศ. 2022 Apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และยังมีทีท่าที่จะเติบโตได้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่มี Apple Events หรือช่วงเวลาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เหล่าบรรดาสาวกก็จะรอกันอย่างใจจดใจจ่อ หรือ Influencer สายเทคโนโลยีทุกคนก็ต้องเตรียมทำคลิปกันแบบทันทีในคืนนั้นเลย

แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า ท่ามกลางความสำเร็จเหล่านี้ อะไรคือแนวคิดที่เป็น Core Value ขององค์กรจนสามารถพัฒนานวัตกรรมที่สร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับคนได้เสมอ แนวคิดที่ว่านี้กลับเป็นแนวคิดที่ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด เพราะสิ่งที่ Apple ให้ความสำคัญก็คือคำว่า "Think different" คิดต่าง ไม่เหมือนใคร ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย ธรรมดา และได้ยินกันมาตลอด แต่คำๆ นี้ถูกฝังอยู่ใน DNA ของคนทำงานใน Apple ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นทั้งแนวคิดการทำงาน สโลแกนของแบรนด์ และเป็นผลลัพธ์นวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกอยู่หลายครั้ง ผ่านหลากหลายเหตุการณ์ซึ่งเราจะยกตัวอย่างให้เห็นในครั้งนี้เลย!

กำเนิด “Think Different” เขย่ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีด้วยความแตกต่าง

ในช่วงแรกเริ่ม Apple อาจจะยังไม่ใช่บริษัทที่ครองตลาด เพราะเจ้าตลาดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นก็คือ “IBM” ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลก และเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีเมนเฟรมและนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทรงอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน แต่สุดท้ายยักษ์ใหญ่ก็ถูกท้าทาย เพราะในปี ค.ศ.1997 Apple ได้สร้างสโลแกนใหม่ร่วมกับเอเจนซี่โฆษณาชื่อดังอย่าง TBWA\Chiat\Day ในชื่อว่า “Think Different” ซึ่งเป็นการล้อกับสโลแกนของ IBM ที่เขียนสั้นๆ ว่า “Think”

เท่านั้นยังไม่พอ Apple ยังทำวิดีโอโฆษณาที่ชื่อว่า “Apple – 1984” ออกมา ซึ่งกลายเป็นชิ้นงานโฆษณาระดับ Masterpiece ที่เล่าเรื่องราวถึงกลุ่มคนจำนวนมากเป็นกองทัพกำลังถูกโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) จากผู้ที่มีอำนาจบนจอ ซึ่งในขณะนั้นก็คือ IBM แต่สุดท้ายก็มีฮีโร่วิ่งออกมาแล้วโยนค้อนใส่จอ เพื่อที่จะสื่อสารว่าเราจะมาฆ่า IBM แล้วนะ โดยงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานวรรณกรรมชื่อดังของ George Orwell อย่าง 1984 ที่มักจะถูกใช้เป็นนัยยะทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แค่จุดเริ่มต้นก็ไม่ธรรมดาแล้ว เพราะเป็นการสื่อสารคำว่า “Think Different” ออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด

ถ้ายังไม่เห็นภาพสามารถดูโฆษณาตัวเต็มได้ที่ลิงก์นี้เลย > https://youtu.be/R706isyDrqI

ล้มตำราธุรกิจ! เพราะ iPhone  ถูกสร้างมาจากประโยคของ Steve Jobs ว่า ‘ให้ฆ่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองทิ้งซะ ก่อนที่แบรนด์อื่นจะมาฆ่าเราด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ของเขา’

นี่เป็นอีกคำพูดหนึ่งที่ Steve Jobs ได้พูดออกมา หลังจากที่ Apple ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเปิดตัว iPod ซึ่งเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงแบบใหม่ที่สามารถใส่เพลงลงไปได้ถึงหลักพันเพลง ทำให้ผู้พัฒนาเครื่องเล่นเพลงทั้งหมดสั่นสะเทือน เพราะ iPod สามารถครองตลาดอุปกรณ์ฟังเพลงไปมากถึง 90% แต่ในขณะนั้น Nokia ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่สามารถใส่เพลงได้ 6 เพลง ฟังดูแล้วก็อาจจะไม่ใช่จุดแข็งที่น่ากลัวนัก แถม iPod ก็ฟังเพลงได้มากกว่า ยอดขายก็พุ่งแบบก้าวกระโดด แต่จุดนี้ก็ทำให้ Steve Jobs พูดประโยคในตำนานนี้ออกมา

Apple จึงต้องสร้างและพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “iPhone” ขึ้นมา ซึ่งเป็นการทุ่มงบประมาณการพัฒนากว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสามสิบเดือน ใช้พนักงานหลักพันคน จนได้ประกาศสู่สายตาทุกคนในงาน Macworld conference ช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2007 ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก จนทำให้ไม่ว่าบริษัทอะไรก็ต้องเดินตามรอยกันหมด นับว่า iPhone กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาฆ่า iPod ไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

จากเหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าที่จะคิดต่าง เพราะถ้าเป็นบริษัททั่วไปเวลาผลิตภัณฑ์อะไรประสบความสำเร็จมากๆ ก็มักจะดันผลิตภัณฑ์นั้นไปให้สุด และไม่มีทางที่จะเลือกทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ทำเงิน แต่ Apple เลือกในทางเดินที่ต่างออกไป แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็สามารถให้สิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า

เปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่นสุดหรรษา จากรอยบาก สู่ไอเดีย 'Dynamic Island'

พูดถึงเรื่องอดีตมาเยอะแล้ว ก็ขอมาเล่าเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบ้าง อย่าง Apple Event ครั้งที่ได้เปิดตัว iPhone 14 Pro ออกมา ถ้าดูอย่างผิวเผินโดยรวมอาจจะดูเหมือนไม่ได้มีอะไรใหม่ เพราะไม่ได้มีการอัปเกรดฮาร์ดแวร์กล้อง ชิป เท่าไหร่ แต่ก็มีอยู่ไอเดียหนึ่งที่สะท้อนแนวคิด Think Different ได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้ Apple เรียกมันว่า “Dynamic Island”  ซึ่งก็คือการที่เราสามารถใส่ลูกเล่นบนติ่งหน้าจอหรือ Notch ข้างบนได้

ถือเป็นอีกครั้งที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากผู้ชมเช่นกัน เพราะรอยบาก หรือ Notch บนหน้าจอด้านบนของ iPhone แม้จะเป็นส่วนที่ทำให้สามารถใส่ฟังก์ชันต่างๆ เช่น การสแกนหน้าได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานจำนวนมากต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคือการออกแบบที่ผิดพลาดของ Apple สร้างความรำคาญจนทำให้คู่แข่งทำโฆษณาออกมาเพื่อล้อเลียน และเกือบทุกแบรนด์พยายามลบในส่วนนี้ให้ได้เล็กที่สุดเพื่อแข่งขันกับ Apple แต่ Apple กลับนำสิ่งที่เป็นจุดด้อย มาขายให้เป็นจุดเด่นเสียเลย โดยคนที่เป็นหัวหอกให้กับไอเดียนี้ก็คือ “Alan Dye” ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Vice President of Human Interface Design ที่ได้เคยออกแบบ User Interface ให้กับ Apple Watch มาแล้ว

คำว่า “Think Different” จึงไม่ใช่แค่คำที่ Apple ตั้งไว้เป็นสโลแกนเท่ๆ แต่มันคือสิ่งที่แฝงอยู่ใน DNA ของคนทำงานใน Apple  เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน Apple ก็ทำให้เห็นแล้วว่านวัตกรรมที่พวกเขาคิด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมจนเรียกได้ว่าปฏิวัติวงการเลยจริงๆ

อ้างอิงภาพจาก :
youtube.com/BloombergTV, history.com , apple.com

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.longtunman.com/21505
https://www.iphonemod.net/apple-becomes-3-trillion-market-cap.html
https://www.wired.com/2008/01/ff-iphone/
https://thegrowthmaster.com/company-culture/apple
https://lowendmac.com/2013/think-different-ad-campaign-restored-apples-reputation/
https://capitalread.co/dynamic-island/
https://9to5mac.com/2022/10/03/dynamic-island-ui/