สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA จับมือพันธมิตร พลิกโฉมการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย พร้อมลุยขยายผลทั้งประเทศและอาซียน

News 27 กันยายน 2564 3,773
NIA จับมือพันธมิตร พลิกโฉมการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย พร้อมลุยขยายผลทั้งประเทศและอาซียน

กิจกรรม AgTech Connext 2021 Demo Day จัดขึ้นวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่จะไปแก้ปัญหาทางการเกษตรในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพในการปรับเปลี่ยนการเกษตรของไทยให้กลายเป็นเกษตรอัจฉริยะ


โดยแพลตฟอร์ม AgTech Connext จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ หน่วยงานให้การสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หน่วยงานพร้อมสนับสนุนเงินร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพอย่างบริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งภาคเอกชนทั้งจากบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มอบเครดิต AWS Cloud ให้แก่สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้สนับสนุนเงินรางวัลรวมมูลค่า 300,000 บาท ให้กับสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรรมไปใช้งานจริงกับเกษตรกรได้ยอดเยี่ยม 


NIA เร่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเติบโตของทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน โดยในโครงการ AgTech Connext ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะผลักดันและเร่งให้สตาร์ทอัพเข้าสู่สนามการทำงานจริง นั่นคือการร่วมทดสอบและลงในพื้นที่จริงของเกษตรกร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ จึงทำให้เกิดความท้าทายกับสตาร์ทอัพในการปรับตัวและสร้างสรรค์กลยุทธ์การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อให้การทำงานดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในแต่ละทีมก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นความเฉพาะพิเศษของสตาร์ทอัพ 


14 สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้เป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน โดยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อปิดจุดอ่อนสำคัญของสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จในการขยายการเติบโตของธุรกิจและตอบโจทย์ตรงใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นจึงมีการนำผลิตภัณฑ์และบริการไปใช้จริงกับเกษตรกรและผู้ใช้งาน เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบและเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart Agriculture รวมถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สังคมเกษตรด้วยนวัตกรรม


โดยมีผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำประกอบด้วย 

  1. การนำไอโอทีแก้ปัญหาการเกษตรสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนและตรวจสอบย้อนกลับได้ 
  2. วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่สนับสนุนการทำเกษตรและมีรูปแบบธุรกิจใหม่รองรับ 
  3. การเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นเกษตรแม่นยำ 
  4. นวัตกรรรมแก้ปัญหาการเก็บรักษาสินค้าเกษตร และ 
  5. การสร้างตลาดออนไลน์ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสร้างแบรนด์ร่วมกัน


ขอขอบคุณคณะกรรมการตัดสิน ที่ให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำเพิ่มเติมในการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและสร้างความแตกต่างได้มากขึ้น ได้แก่ 

  1. คุณธนารักษ์  พงษ์เภตรา  กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย NIA 
  2. คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตรกร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
  3. คุณจิรศักดิ์  สุยาคำ  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพัฒนา SME และสตาร์ทอัพ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
  4. นายนฤศันส์  ธันวารชร หัวหน้าส่วนบริหารการลงทุน บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด 
  5. คุณณิชา สืบวงศ์ลี Venture Capital Business Development Manager, Thailand & ASEAN บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ 
  6. ดร.ชยกฤต  เจริญศิริวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์


สำหรับการผลการตัดสิน สตาร์ทอัพเกษตรผู้ชนะ (ตัดสินจากคณะกรรมการ) ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ 

  • ทีม SPERM SPEED : น้ำเชื้อว่องไว ผลิตภัณฑ์พลาสเตอร์ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัดสำหรับวัวเนื้อและวัวนม ระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลาและน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศ รับเงินรางวัล 150,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ 

  • ทีม EDEN AGRITECH : อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง รับเงินรางวัล 100,000 บาท 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ 

  • ทีม ALGAEBA : อัลจิบ้า เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ รวดเร็ว แม่นยำ และมีหลักฐานการนับ รับเงินรางวัล 50,000 บาท

นอกจากนี้ ทางโครงการจัดให้มีรางวัล The Popular AgTech Connext 2021 Award (ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) ได้แก่ 

  • ทีม EDEN AGRITECH : อีเด็น อะกริเทค รับเงินรางวัล 20,000 บาท


14 สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ

1) ALGAEBA : อัลจีบา

เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น


SeaThru COUNTER เป็นเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ (ลูกปลา ไข่ปลา ลูกกุ้งพี ลูกกุ้งก้ามกราม ลูกปู) เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีหลักฐานการนับ


เหมาะสำหรับ กลุ่มโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ และกลุ่มพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เป็นโรงเพาะฟักขนาดกลาง ไปถึงใหญ่ หรือกลุ่มกรมฯ ที่มีการทำงานวิจัยด้านพันธุกรรม ปรับปรุงพันธุ์


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/algaeba/ 

2) AQUABIZ : อควาบิซ

บริการแปรรูปอาหารประเภทสัตว์น้ำ และขายผ่านออนไลน์ครบวงจร


การนำผลผลิตด้านสัตว์น้ำจากฟาร์มของเกษตรกร ด้วยการพัฒนาสินค้าด้วยกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน พร้อมการออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างตราสินค้าอย่างครบวงจร พร้อมนำออกไปจำหน่ายผ่าน E-marketplace ของ Aquabiz


เหมาะสำหรับ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย มีความต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มมูลค่าผลผลิต


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/aquabizmagazine/

3) BIO MATLINK : ไบโอ แมทลิ้งค์

ระบบบริหารการดูแลการปลูกมันสำปะหลังครบวงจร พร้อมประกันราคา


ระบบบูรณาการซื้อขายมันสำปะหลังดิจิทัล พร้อมประกันราคา แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรสมาชิก และจับคู่ตลาดโรงงานแบบมีประกันราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยขึ้นตามเปอร์เซนต์แป้งที่เกษตรกรผลิตได้อย่างเป็นธรรม เชื่อมโยงจุดรับซื้อและลานตากคัดคุณภาพ ได้เป็นสินค้ามันเส้นเกรดพรีเมี่ยมส่งตรงถึงโรงงานได้ตลอดทั้งปี


เหมาะสำหรับเกษตรกร สหกรณ์ แปลงใหญ่ แหล่งรวบรวมมันสำปะหลังที่เชื่อมโยงกับเกษตรกร



ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/biomatlink/

4) EDEN AGRITECH : อีเด็น อะกริเทค

สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง


ผลิตภัณฑ์สารเคลือบยืดอายุเนื้อผลไม้ตัดแต่งแบบบริโภคได้ ผลิตภัณฑ์สารเคลือบมีคุณสมบัติช่วยลดการสูญเสียความชื้น ลดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล และลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ จึงทำให้สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผักและผลไม้ได้มากถึง 5 เท่า โดยไม่ส่งผลต่อสี กลิ่น รสชาติ และลักษณะเนื้อสัมผัสของผลไม้ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น


เหมาะสำหรับ กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร



ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/edenagri/

5) FARM TO : ฟาร์มโตะ

ระบบการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศไทย


แพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตรออนไลน์ที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเข้าด้วยกัน ผ่านวิธีการ ”ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร” เพื่อให้ทั้งคู่ได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน โดยผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในผลผลิตตั้งแต่การจอง การติดตามผลผลิตตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยว และยังสามารถเยี่ยมเยือนผลผลิตของตนได้อีกด้วย ผลผลิตที่สามารถซื้อได้ในแต่ละเดือนมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละช่วง เช่น เดือนตุลาคมมีกล้วยหอมทอง ผักเคล ข้าวกล้อง แยมมะยงชิด น้ำผึ่งโพรงป่า เป็นต้น


เหมาะสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคทั่วประเทศที่สนใจผลผลิตการเกษตรที่ปลอดภัย


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/yourfarmto

6) FARM THAILAND : ฟาร์มไทยแลนด์

ระบบควบคุม ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอที ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา


แอปพลิเคชัน FarmPress (ฟาร์มเพรส) เป็นแพลตฟอร์มระบบสมาร์ทฟาร์ม ที่นำเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet Of Thing) มาใช้ในภาคเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามาถจัดการควบคุม ดูเเลผลผลิตทางการเกษตร ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และลดการใช้แรงงาน


เหมาะสำหรับ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน และ ผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีระบบสมาร์ทไปใช้งาน ผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีระบบสมาร์ทไปใช้งานเพื่อลดเวลา ลดต้นทุนในกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/farmthailands/

7) GAORAI : เก้าไร่

แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรที่ต้องการใช้โดรน และนักขับโดรนอิสระ


แพลตฟอร์มให้บริการโดรนเกษตร ด้วยการสร้างระบบปฏิบัติการที่เชื่อมต่อเกษตรกรกับนักขับโดรนรับจ้างเพื่อการเกษตร ทั้งยังสร้างประวัติเกษตรกรและนักขับโดรน ซึ่งช่วยในการติดตามความคืบหน้าและเสริมความสามารถในการผลิต รวมไปถึงปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของพืชผลและดิน


เหมาะสำหรับ กลุ่มเกษตรกรผู้มีพื้นที่เพาะปลูก 4 พืชหลักดังนี้ ข้าว, อ้อย, มันสัมปะหลัง, ข้าวโพด และต้องการใช้บริการโดรนฉีดพ่นเพื่อการเกษตร


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/gaorai.io/

8) GROWDE FARMING : โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง

โรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูงด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิต


โรงเรือนแบบอัตโนมัติเกษตรอินทรีย์ และระบบบริหารจัดการ SOG farming ด้วยเทคโนโลยีการผลิตพืชที่จะช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้อย่างง่าย ตามปฏิทินกิจกรรมชนิดการปลูกพืชแบบต่างๆ เช่น ผักสลัด มะเขือเทศ กัญชา ปราศจากใช้สารเคมี ลดแรงงาน พร้อมทั้งบริการวางแผนการปลูกพืชตั้งแต่อนุบาลต้นกล้าจนถึงรับซื้อผลผลิตแบบครบวงจร


เหมาะสำหรับ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจใช้เทคโนโลยีโรงเรือน และผู้ที่มีปัญหากระบวนการปลูกพืชและไม่มีตลาด


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/sogfarming/

9) HERBS STARTER : เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์

แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน


ผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าแปรรูปที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกได้ 


เหมาะสำหรับ ชุมชนเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น GI OTOP และ Organic ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะนำไปสู่การสร้างเรื่องราวทางการตลาดได้


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/herbsstarter/

10) KASPY : แคสปี้

แพลตฟอร์ม ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตรแบบครบวงจร


แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ที่มีสินค้ามากมายให้คุณเลือกซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีสินค้าหลากหลาย ทั้งผักสด ผลไม้สด สินค้าแปรรูป ตลาดต้นไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ ทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรในระดับต่าง ๆ จะได้เข้าถึงคู่ค้า สินค้าและบริการอย่างรวดเร็วโดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสร้างแบนด์ของสินค้าให้มีคุณค่าอย่างความชัดเจนด้วยตนเอง เพื่อเกิดความยั่งยืนในการสร้างตลาดในระยะยาว


เหมาะสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคทั่วประเทศที่สนใจผลผลิตการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกร


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/kaspythailand/

11) NOVY DRONE : โนวี่ โดรน

โดรนสำหรับการตรวจสอบป้องกันโรคและศัตรูพืช รวมทั้งการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเกษตร


ผู้ผลิตโดรนและจัดจำหน่ายให้เกษตรกร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร เช่น  การหว่านปุ๋ย การพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  และ การสำรวจ โดย มีบริการหลังการขาย ฝึกสอน ซ่อม  อีกทั้งมีบริการถ่ายรูปวิเคราะห์ข้อมูล พื้นที่ทางการเกษตร โดยใช้โดรน


เหมาะสำหรับ เกษตรกร และโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ เกษตรกรที่ลงพื้นที่ในการดูแลเกี่ยวกับเกษตรกรรม


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/novydrone/


12) RICULT : รีคัลท์

เชื่อมต่อสร้างตลาดผัก-ผลไม้ ที่ได้ GAP


แอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นกับเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกอย่างแม่นยำ ให้เกษตรกรมีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์จากเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่ง  อีกทั้งขยายสู่ระบบบันทึกตามมาตรฐาน GAP เพื่อเชื่อมโยงต่อสร้างตลาดสินค้าเกษตรส่งจำหน่ายอย่างหลากหลาย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ผู้บริโภค


เหมาะสำหรับ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากปลูกเกษตรปลอดภัย ทั้งผักและผลไม้ เพื่อขายตรงเข้าสู่ตลาด


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/RicultThailand

13) SPERM SPEED : น้ำเชื้อว่องไว

น้ำเชื้อว่องไว แผ่นฮอร์โมนกระตุ้นการเป็นสัดของโค และน้ำเชื้อโคดัดเพศ

ผลิตภัณฑ์พลาสเตอร์ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัดสำหรับวัวเนื้อและวัวนม และ ระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลา และน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศ


บริการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผสมเทียมในปศุสัตว์แบบครบวงจร เช่น แผ่นฮอร์โมน ระบบผสมเทียมแบบกำหนดเวลา น้ำเชื้อโคคัดเพศ ชุดทดสอบการตั้งท้อง พร้อมแอปพลิเคชั่นในการบริหารจัดการระบบเวลาผสมเทียม ที่มีทั้งการแจ้งเตือนและติดตามปัญหาในฟาร์ม


เหมาะสำหรับ เกษตรกรผู้เลี้ยง โคเนื้อ โคนม และกระบือ 


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/namchuewongwai

14) THE BRICKET : เดอะบริคเก็ต

ระบบบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ด้วยการควบคุมไอโอทีอย่างแม่นยำ


ระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ขั้นตอนด้วยไอโอที ตั้งแต่การผลิตไข่ การเพาะเลี้ยง จนถึงการเก็บเกี่ยว  รวมทั้งนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงในรุ่นถัดไป ทำให้ลดระยะเวลาการเพาะเลี้ยง ลดต้นทุน และลดแรงแรงงาน ที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนการผลิต


เหมาะสำหรับ เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด กลุ่มโรงงานที่เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการส่งออก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน


ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/thebricket.co

รับชมบรรยากาศงานย้อนหลัง AgTech Connext 2021 Demo Day

ตอนที่ 1


ตอนที่ 2