สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จับตากระแสการลงทุนสตาร์ทอัพเกษตรทั่วโลกและไทย...ตอบโจทย์แก้วิกฤตภาคเกษตร

4 กุมภาพันธ์ 2567 47,108

จับตากระแสการลงทุนสตาร์ทอัพเกษตรทั่วโลกและไทย...ตอบโจทย์แก้วิกฤตภาคเกษตร

 

“การสร้างนวัตกรรมเพื่อเกษตรกร” เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถช่วยลดต้นทุน และทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีและรายได้เพิ่มมากขึ้น นับได้ว่ามีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างมาก เนื่องจากภาคเกษตรเป็นพื้นฐานหลักสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารรองรับประชากรทั่วโลก ซึ่งคาดว่าภายในปี 2050 ทั่วโลกต้องการอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 รองรับการเพิ่มขึ้นของประชาการที่มากกว่า 9 พันล้านคน อีกทั้งความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยด้านการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามและราคาน้ำมัน การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร พื้นที่เพาะปลูกที่น้อยลง และพื้นที่เมืองที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นภาคการเกษตรทั่วโลกจึงต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาอันซับซ้อนของภาคเกษตร

 

“สตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup” จึงเป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีใหม่มาตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านการเกษตร สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเกษตรที่ AgFunder รายงานว่า ในปี 2022 มีการลงทุนสูงมากถึง 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 พันล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลิกโฉมภาคเกษตรสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ด้านประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และผลผลิตในการทำการเกษตร

 

10 อันดับ AgTech Startups ระดับนานาชาติที่ได้รับเงินระดมทุนสูงสุดในปี 2023

10 อันดับ AgTech Startups ระดับนานาชาติที่ได้รับเงินระดมทุนสูงสุดในปี 2023

 

จากการจัดอันดับ 10 สตาร์ทอัพด้านเกษตรระดับนานาชาติที่ได้รับการระดมทุนมากที่สุดในปี 2023 โดย AgFunder ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและจัดอันดับ AgTech Startups ที่ได้รับข้อเสนอด้านการลงทุนสูงสุด รวมถึงสรุปภาพรวมการลงทุนในสตาร์ทอัพเกษตรทั่วโลกว่า มีแนวโน้มเหมือนกับกลุ่มเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีการประเมินมูลค่าต่ำลง และมูลค่าการระดมทุนน้อยกว่าปี 2021 และ 2022 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการระดมทุนเพิ่มสูงขึ้นคือ กลุ่มที่แก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการจัดการของเหลือทิ้งทางการเกษตรและการคำนวณคาร์บอนเครดิตจากการทำเกษตร รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรก็ได้รับเงินระดมทุนสูงเช่นกัน โดย 10 อันดับสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ได้รับการลงทุนสูงสุดในปี 2023 มีมูลค่ารวม 1,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 50,787 ล้านบาท ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้

 

1. EcoCeres (สหรัฐอเมริกา) – โรงกลั่นไบโอรีไฟเนอรี่ที่แปลงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เป็นชีวมวลทางการเกษตร ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและกากน้ำมันปาล์มให้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนด้วยพลังน้ำ มีความคล้ายคลึงทางเคมีกับดีเซลฟอสซิลทำให้สามารถผสมได้ในทุกสัดส่วนโดยไม่ต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องบิน และเอทานอลจากเซลลูโลส ได้รับการร่วมลงทุนจาก Bain Capital ลงทุน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

2. Atlas Agro (สวิตเซอร์แลนด์) – บริษัทผลิตปุ๋ยไนโตรเจนด้วยพลังงานสะอาด ด้วยผสมระหว่างการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนและก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ ได้รับการลงทุน 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบสุดท้ายจาก Macquarie Group’s asset management arm ในออสเตรเลีย

 

3. eFishery (อินโดนีเซีย) – แพลตฟอร์มจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดห่วงโช่ ตั้งแต่ระบบให้อาหารอัตโนมัติด้วยไอโอที IoT ตลาดสำหรับการขายปลาและอาหารกุ้งให้กับเกษตรกร ผลิตภัณฑ์ปลาและกุ้งสดสำหรับผู้บริโภค B2B และผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา มีเกษตรกรใช้งานมากกว่า 70,000 รายใน 280 เมืองในอินโดนีเซีย ได้รับการลงทุนในรอบ Series D มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก G42 Global Expansion Fund (42xFund) จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, SoftBank Vision Fund II และอื่นๆ มีมูลค่าธุรกิจระดับยูนิคอร์น

 

4. Xpansiv (สหรัฐอเมริกา) – ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสถานที่ซื้อขายคาร์บอนและสินค้าสิ่งแวดล้อม ได้รับการลงทุน 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Blackstone Energy Partners, Bank of America และ Goldman Sachs.

 

5. Charm Industrial (สหรัฐอเมริกา) – ดักกักเก็บคาร์บอนด้วยเปลี่ยนชีวมวลทางการเกษตรให้เป็นของเหลวแล้วกักเก็บลงใต้ดิน กำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศอย่างถาวร ได้รับการลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ Series B ซึ่ง General Catalyst เข้ามาลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้ไปทั่วสหรัฐ

 

6. Silo (สหรัฐอเมริกา) – พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงินสำหรับผู้ค้าเกษตรและอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทานในลักษณะ B2B ได้รับการลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก First Citizens Bank

 

7. GoodLeaf Farms (แคนาดา) – ผู้ปลูกพืชในโรงเรือนเพาะปลูกแนวตั้งในระบบปิดโดยใช้แสงเทียมโดย จำหน่ายไมโครกรีนและเบบี้กรีนให้กับร้านค้าปลีกและร้านอาหารทั่วเมืองออนแทรีโอตั้งแต่ปี 2019 นี้ ได้รับการลงทุนจากสถาบันการเงิน CIBC และ Farm Credit Canada มูลค่า 78 ล้านดอลลาร์ ทำให้สามารถขยายธุรกิจของ GoodLeaf Farms ไปทั่วแคนาดา

 

8. Aphea.Bio (เบลเยียม) – พัฒนาการใช้จุลินทรีย์เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงโดยไม่ลดผลผลิต โดยมุ่งเน้นไปที่สายพันธุ์จุลินทรีย์สองประเภท ได้แก่ สารกระตุ้นทางชีวภาพซึ่งเพิ่มปริมาณสารอาหารที่พืชสามารถดูดซึมได้ และสารควบคุมทางชีวภาพที่ปกป้องจากโรคพืชผล ได้รับเงิน 70 ล้านยูโร (78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จาก Innovation Industries, Gates Foundation และอื่นๆ

 

9. Loam Bio (ออสเตรเลีย) – เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนของจุลินทรีย์เพื่อการฟื้นฟูคาร์บอนในดิน พืชสามารถปลูกเชื้อด้วยจุลินทรีย์ทางชีวภาพที่อาศัยอยู่ในความสัมพันธ์ร่วมกันกับพืชผล และสร้างคาร์บอนอินทรีย์ในดิน ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาศัยและความต้านทานโรค ในขณะเดียวกันก็ช่วยดินบริเวณรากพืชเพื่อกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้รับเงินลงทุน 105 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในรอบSeries B โดยกองทุน Lowercarbon Capital ของ Chris Sacca และ Wollemi Capital

 

10. SAEL (อินเดีย) – สตาร์ทอัพที่มีการแปลงของเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นพลังงานทดแทน โดยช่วยลดการเผาฟางในทุ่งนา ได้รับการลงทุน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Norfund‘s Norwegian Climate Investment Fund โดย SAEL ระบุว่าการลงทุนนี้ จะช่วยลดการปล่อย CO2 มากกว่า 2.8 ล้านตัน

 

3 AgTech Startups ไทยพิสูจน์ฝีมือเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก AI-Robotics-Biotech รับเงินระดมทุนปี 2023

3 AgTech Startups ไทยพิสูจน์ฝีมือเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก AI-Robotics-Biotech รับเงินระดมทุนปี 2023

ในปี 2023 ถือว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเกษตรไทยยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมี 3 การลงทุนที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยีเชิงลึกจากทั่วโลก ให้สามารถปรับใช้กับภาคเกษตร ดังนี้

 

1. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ใช้ข้อมูลทางการเกษตรขนาดใหญ่คาดการณ์และทำนายการทำเกษตรให้เกิดความแม่นยำขึ้น และสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ เกษตรกรสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์และสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ด้วยการทำนายรูปแบบสภาพอากาศ (ตามข้อมูลในอดีตและแบบเรียลไทม์) รวมถึงการตรวจสอบดินและพืชผล อัลกอริธึม AI สามารถช่วยให้นักปฐพีวิทยาใช้น้ำและปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจน เป็นแนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการเติบโตทางการตลาดสูงมากกว่าร้อยละ 23 ที่มีมูลค่าตลาด 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56 พันล้านบาทในปี 2023 คาดว่าจะเติบโตเป็น 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 155 พันล้านบาทในปี 2028สตาร์ทอัพเกษตรที่ได้รับการร่วมลงทุนในแนวโน้มเทคโนโลยีนี้ ได้แก่

อีซี่ไรซ์ (Easy Rice)

  • อีซี่ไรซ์ (Easy Rice) ระบบ AI ตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและคุณภาพข้าวสาร ได้รับระดมทุนรอบ Pre-Series A กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 66 ล้านบาท จากบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด และ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่แสดงให้เห็นถึงว่า ในระยะเวลาเพียง 1 ปีหลัง ที่สามารถสร้างให้เกิดผู้ใช้งานตั้งแต่ระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสี และผู้ส่งออกข้าว มากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ มีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบไปมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวไปมากถึง 6 ล้านตัน และเริ่มขยายการใช้งานไปยังกลุ่มปลูกข้าวอาเซียนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม นอกจากนี้ยังสามารถขยายเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้งานกับพืชเกษตรอื่นๆ ได้อีกด้วย

 

2. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ผลักดันให้เกิดความต้องการนำหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เข้ามาทำงานแทนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังเห็นไม่เห็นหุ่นยนต์เดินอยู่ในสวน ในไร่ ในนา สิ่งที่เห็นตอนนี้จะเป็น โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ที่เกษตรกรนำมาใช้งานกันหลากหลายพื้นที่ในการพ่นยา การพ่นปุ๋ย แทนแรงงานคน และปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งภาครัฐก็มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงสร้างอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกรอย่าง อาชีพนักบินโดรน จึงเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของการใช้หุ่นยนต์ในการเกษตรช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลต่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต สตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ทางการเกษตร ที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากนักลงทุนและบริษัทใหญ่ ได้แก่

เอชจี โรโบติกส์ (HG Robotics)

  • เอชจี โรโบติกส์ (HG Robotics) มุ่งเน้นด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ที่แก้ปัญหาให้กับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม พร้อมระบบบริหารจัดการเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอัตโนมัติและถูกต้องแม่นยำ ได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มทรูดิจิทัล ในการขยายธุรกิจเปิดโรงงานผลิตโดรนการเกษตรและหุ่นยนต์ที่ได้รับมาตรฐานโลกแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมผลิต “ไทเกอร์โดรน” ฝีมือสตาร์ทอัพไทยตั้งแต่การออกแบบ ชิ้นส่วนต่างๆ การประกอบ จนส่งถึงมือผู้ใช้งาน มีซอฟท์แวร์ภาษาไทย ปลอดภัยทุกพื้นที่การบิน สัมผัสประสบการณ์การทํางานที่ดีที่สุด ด้วยระบบการบินอัตโนมัติ พร้อมการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย ตอบโจทย์การพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่การเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัล รางวัลการออกแบบ Good Design Award 2023 (G Mark) ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง เป็นรางวัลการออกแบบระดับนานาชาติ ที่มอบให้แก่สินค้า ที่ไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์สวยงาม แต่ยังประเมินจากความเป็นนวัตกรรม ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและโลกอนาคต และรางวัลชนะเลิศรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม Design Excellence Award 2023 (DEmark) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

 

3. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มีบทบาทสำคัญและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่ปลอดภัย ลดการใช้ปุ๋ย ยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมี ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของภาคเกษตรกรรม การจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ศัตรูพืช ความแห้งแล้ง การสร้างพันธ์พืชใหม่ โดยในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทั้งทางด้านพืช สัตว์ และ จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายในฟาร์ม ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสร้างเกษตรปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ โดยมีสตาร์ทอัพเกษตรไทยในกลุ่มนี้ที่ได้รับการร่วมลงทุนที่ประกาศเมื่อต้นปี 2024 ได้แก่

ยูนิฟาร์ส (UniFahs)

  • ยูนิฟาร์ส (UniFahs) จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฟจ (Phage)” มากกว่า 15 ปี ทำให้ UniFAHS สามารถออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกได้เหมาะสมกับตลาดและผู้ใช้งานทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว เริ่มต้นด้วยผลิตภัณฑ์ "SalmoGuard" ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่าในลำไส้และระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีกเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมไบโอเทคจากเวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Global Finalists 2022” รวมทั้งได้รับรางวัล The Best Performance Award และรางวัล The Popular Award ในการเข้าร่วมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Inno4Farmers 2022 จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างธุรกิจให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเดือนมกราคม 2024 นี้เองได้ประกาศการได้รับการร่วมลงทุนจาก เอดีบี เวนเจอร์ส (Asian Development Bank Ventures หรือ ADB Ventures) และ อินโนสเปซ (ประเทศไทย) (InnoSpace (Thailand)) จำนวน 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 46 ล้านบาท ที่พร้อมขยายเทคโนโลยีใช้กับสินค้าเกษตรกลุ่มอื่นๆ เช่น เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ขยายธุรกิจและพลิกโฉมด้านการเกษตรด้วยแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

บทสรุปภาพรวมการลงทุนสตาร์ทอัพเกษตรไทย

การได้รับเงินระดมทุนนับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาและเทคโนโลยีที่ใช้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพเกษตร ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่มากรองรับอยู่ แต่การที่จะให้เกิดการนำมาใช้งานที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าการลงทุนและเงินลงทุนที่เป็นไปได้ ที่จะทำให้เกษตรกรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมที่จะเปลี่ยนจากวิถีการทำเกษตรแบบเดิม

 

สตาร์ทอัพเกษตรจึงมีความท้าทายและได้ความรับสนใจจากนักลงทุนอย่างสูงมาก ถ้าสามารถทำให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีตอบโจทย์ภาคการเกษตรได้อย่างตรงประเด็น เกิดผู้ใช้งานให้เกิดขึ้นได้จริง สำหรับในประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำสมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรของประเทศไทย ซึ่งรวบรวมข้อมูลการระดมทุนที่มาจากการศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์เชิงลึกจาก AgTech Startup จำนวน 40 บริษัท พบว่ามีการลงทุนตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี 2020 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 772 ล้านบาท ส่วนการลงทุนที่ต่อเนื่องในแต่ละปีที่ผ่านมายังมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาท ถึงแม้ยังดูไม่เยอะมาก แต่เงินลงทุนเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวการใช้งานนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ภาพเกษตรให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นธุรกิจชุมชนมีการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพมีรายได้เพิ่มขึ้น และสตาร์ทอัพเกษตรสามารถขยานธุรกิจเติบโต ก็จะเกิดการหมุนวนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน... Harmonized Growth towards Sustainability

 

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจและการผลิตทางการเกษตร จะทำให้สตาร์ทอัพสายเกษตรมีศักยภาพและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวิธีการเกษตรของอนาคตและสามารถสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนในตลาดได้ ทาง สนช. จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร สามารถกรอกข้อมูลรายละเอียดได้ที่ https://forms.gle/XCaoNN1sqbqLWNyT8 หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวปุญชรัสมิ์ วังน้อย โทร 092-278 8383 อีเมล [email protected]

 

บทความโดย
ปุญชรัสมิ์ วังน้อย (ลูกน้ำ)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

ข้อมูลอ้างอิง:

1. medium.com : https://shorturl.asia/d25g7
2. AgFunder : https://agfundernews.com/the-top-20-agtech-deals-of-2023
3. https://www.nia.or.th/bookshelf/view/175
4. https://moneyandbanking.co.th/2023/26778/
5. https://www.brandage.com/article/4684
6. https://mgronline.com/smes/detail/9650000124033
7. https://www.infopulse.com/blog/technology-trends-agriculture-farming
8. https://techsauce.co/news/easyrice-pre-series-a-yip-in-tsoi-ai-robotic-venture-innospace
9. https://techsauce.co/pr-news/true-digital-hiveground-agritech
10. https://techsauce.co/en/news/unifahs-raises-usd-14-million-to-scale-bacteriophage-technology-for-sustainable-agriculture