สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA-สภาอุตฯ-ม.แม่โจ้ จับมือภาคีเครือข่าย 19 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือ AgBioTech Consortium มุ่งปั้นสตาร์ทอัพเกษตรสายดีพเทคจากเทคโนโลยีชีวภาพ

News 1 พฤศจิกายน 2566 1,771

NIA-สภาอุตฯ-ม.แม่โจ้ จับมือภาคีเครือข่าย 19 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือ AgBioTech Consortium มุ่งปั้นสตาร์ทอัพเกษตรสายดีพเทคจากเทคโนโลยีชีวภาพ ช่วยยกระดับภาคเกษตรไทย

AgBioTech Consortium_1.jpg

 
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และภาคีเครือข่ายจำนวน 19 หน่วยงาน ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เครือข่ายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตร หรืองาน MOU AgBioTech Consortium เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนและผลักดันสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพของไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการพลิกโฉมภาคเกษตรร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
 
ดร.กริชผกา ได้กล่าวว่า จากความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทั้งทางด้านพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายในฟาร์มนั้น กอรปกับประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (อันดับ 3 ของอาเซียน) มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า 900 ท่าน และมีผลงานวิจัยและพัฒนาในระยะ 5 ปี มากกว่า 2,500 ผลงาน ทำให้มีความพร้อมในการพัฒนาเป็น สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสร้างให้เกิดการเติบโต โดยนำเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งมีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
 
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเกษตร และได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ และก้าวสู่การเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์ด้านการเกษตร” ในอนาคตอันใกล้ โดยได้ร่วมดำเนินงานร่วมกับ NIA และสภาอุตฯ ในการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้นธุรกิจ” หรือ “AgBioTech Incubation 2023” ขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานในปีแรก เพื่อสร้างให้เกิดความพร้อมทั้งกำลังคนในการสร้างแนวคิดให้อาจารย์นักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ให้เกิดความเข้าใจธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ และแนวทางในการบ่มเพาะ ที่จะเป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หรือ Train the Trainer to be AgBioTech Advisors ที่จะเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน ปลุกปั้นในเกิดสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมถึง 42 ท่าน จาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และกิจกรรมการสร้างสตาร์ทอัพเกษตรรายใหม่ด้วยกิจกรรมการบ่มเพาะ โดยมี 10 AgBioTech Startups ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ จากไอเดียสู่ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรที่ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้แก้ปัญหาการเกษตรของประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือ กิจกรรมสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร จึงได้เชิญเครือข่ายพันธมิตรทั้ง NIA สภาอุตฯ และมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ในอนาคตยังพร้อมเปิดรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจร่วมเป็น “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ AgBioTech Consortium”
 
โดยประกอบด้วย 19 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่
1.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
2.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3.มหาวิทยาลัยแม่โจ้
4.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6.มหาวิทยาลัยมหิดล
7.มหาวิทยาลัยบูรพา
8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
9.มหาวิทยาลัยนเรศวร
10.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
11.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
12.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
13.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
14.มหาวิทยาลัยพะเยา
15.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
16.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
17.มหาวิทยาลัยขอนแก่น
18.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
19.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
 
เมื่อมีภาคมหาวิทยาลัย ภาครัฐแล้ว ต้องมีภาคเอกชนที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตรงกับความต้องการของตลาด คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร จึงได้กล่าวสนับสนุนว่า “ภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหารที่มีความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพให้ตรงตามเวลา ที่จะเกิดประโยชน์ทั้งตลอด Supply Chain ดังนั้นเมื่อมีผลงานวิจัยและพัฒนาที่พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ จะเชื่อมโยงและวิเคราะห์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและภาคอุตสาหกรรมที่ใช้งาน เพื่อปรับให้ตอบโจทย์และตรงกับใช้งาน และเกิดมูลค่าให้กับภาคเกษตรสูงสุด นอกจากนี้ยังมี 'กองทุนอินโนเวชั่นวัน' จำนวน 1,000 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ สกสว. ภายในระยะเวลา 3 ปี ที่พร้อมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตอีกด้วย”
 
AgBioTech Consortium เป็นจุดเริ่มต้นของร่วมมือเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรให้เกิดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้เป็นกำลังสำคัญที่จะเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับภาคเกษตร เกิดเป็นเกษตรแม่นยำสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน