สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ห้องเรียน AR การศึกษาที่เปิดโลกแห่งจินตนาการ

บทความ 21 พฤษภาคม 2562 28,034

ห้องเรียน AR การศึกษาที่เปิดโลกแห่งจินตนาการ


ยิ่งโลกของเราขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากเท่าไร เทคโนโลยีก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวเข้าสู่โลกอีกใบ โลกที่ดึงคนไกลให้ใกล้กันมากขึ้น โลกที่ดึงพื้นที่ที่อยู่สุดขอบฟ้ามาอยู่ตรงหน้าได้ในชั่วพริบตา และจากนี้ นวัตกรรม Expeditions AR ของ Google ก็จะพาทุกคนก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่อีกครั้ง โลกที่จินตนาการและความเป็นจริงมาบรรจบกัน 


เทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง โดยประมวลภาพผ่านกล้องแล้วแสดงผลออกมาบนหน้าจอเป็นภาพสามมิติที่ลอยอยู่เหนือพื้นผิวจริง เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน อย่างในด้านธุรกิจที่นำมาประยุกต์เข้ากับสมาร์ทโฟนเพื่อสร้างความน่าสนใจในการนำเสนอสินค้า หรือสร้างภาพจำลองการสวมใส่สินค้าเพื่อให้ลูกค้าเลือกสินค้าได้ง่ายและสนุกยิ่งขึ้น ส่วนด้านความบันเทิงก็อย่างในเกม Pokemon Go ที่ใช้กล้องประมวลผลภาพพื้นที่จริงแล้วซ้อนกับภาพเสมือนของโปเกม่อนบนหน้าจอ และในด้านการศึกษา AR ก็สามารถสร้างแบบจำลององค์ความรู้ที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ให้ออกมาเป็นโมเดลที่เป็นรูปธรรมและทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้เรียนก็จะสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่พายุใหญ่มหึมาไปจนถึงของระดับเล็กจิ๋วอย่างโครงสร้างสายดีเอ็นเอเลยทีเดียว

แอปพลิเคชัน DAQRI Anatomy 4D

Expeditions AR ของ Google จึงถือกำเนิดขึ้นจากแรงบันดาลใจในการดึงเอาจินตนาการให้ออกมาอยู่ในโลกเสมือนจริง โดยความสามารถของ AR จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจองค์ความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น โครงสร้างร่างกายมนุษย์ที่มองเห็นองค์ประกอบได้ยาก แอปพลิเคชัน DAQRI Anatomy 4D ที่มาพร้อมโปสเตอร์รูปโครงสร้างร่างกายก็จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพียงแค่ใช้กล้องของโทรศัพท์มือถือสแกนลงไปบนโสเตอร์ แอปพลิเคชันก็จะสร้างแบบจำลองร่างกายมนุษย์แบบสามมิติขึ้นมาให้พร้อมบอกข้อมูลแต่ละส่วนอย่างครบถ้วน หรืออย่างแอปพลิเคชันตระกูลเดียวกันอย่าง DAQRI Elements 4D ก็ใช้หลักการทำงานเดียวกันในการสร้างแบบจำลองโครงสร้างตารางธาตุสามมิติออกมาเป็นโมเดลที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

แอปพลิเคชัน Quiver

นอกจากเทคโนโลยี AR จะมีประโยชน์ในด้านวิชาการแล้ว ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย อย่างในแอปพลิเคชัน Quiver ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเด็กเล็ก ภายในแอปพลิเคชันจะมีภาพมากมายที่สามารถดาวน์โหลดมาให้เด็ก ๆ ระบายสีได้ แล้วภาพดังกล่าวก็จะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวสามมิติตรงตามสีที่เด็กระบายลงไป ภาพในแอปพลิเคชันจะครอบคลุมตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ไปจนถึงด้านสังคม หรือแม้กระทั่งตัวการ์ตูนต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบก็มีเช่นเดียวกัน นอกจากจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการของเด็กแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อและการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตาได้อีกด้วย

แอปพลิเคชัน HP Reveal

เทคโนโลยี AR ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนเท่านั้น สำหรับผู้สอนที่อยากออกแบบการสอนเอง แอปพลิเคชัน HP Reveal ก็พร้อมรังสรรค์ห้องเรียนให้ได้ดั่งใจ ผู้ใช้สามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ออกแบบ AR ด้วยภาพ แอนิเมชัน หรือวิดีโอของตัวผู้ใช้เองหรือผู้ใช้ท่านอื่นที่แบ่งปันข้อมูลดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชันนี้ก็ได้ ตัวผู้สอนก็จะได้ใช้ AR ที่ออกแบบเองพร้อมกับตัวผู้เรียนที่ได้สัมผัสและเรียนรู้การทำงานของ AR ด้วยตัวเองเช่นกัน

ยกระดับการเรียนรู้ เปิดประตูสู่โลกใบใหม่

นับว่า Google นำ AR มาประยุกต์ใช้ได้อย่างชาญฉลาด สรรค์สร้างจินตนาการให้ออกมาโลดแล่นได้เสมือนจริงโดยใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีมาพัฒนากลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างภาคการศึกษา และพัฒนาตัวต้นแบบขึ้นจนกลายเป็น Expeditions AR ที่พร้อมเปลี่ยนโลกการศึกษาแบบการอ่านและอธิบายความเป็นการจินตนาการบนโลกสามมิติ จะเห็นได้ว่าการนำ AR มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนเป็นการยกระดับการเรียนรู้และเปิดประตูสู่โลกใบใหม่อย่างแท้จริง แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อยู่บ้าง แต่หากในอนาคต ภาคการศึกษานำเทคโนโลยี AR มาใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนก็จะก้าวตามทันโลกปัจจุบันที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง และประโยชน์สูงสุดก็จะตกที่ตัวผู้เรียนนั่นเอง

.

แหล่งที่มา :

https://mdreducation.com/2018/03/23/3-ways-augmented-wows-teachers-students/?utm_campaign=elearningindustry.com&utm_source=%2Fdigital-trends-in-2019-shape-education-5&utm_medium=link