สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

20 ปี 'เอสโตเนีย' ทำอย่างไร ให้เป็น ‘ประเทศพัฒนา’

บทความ 24 กันยายน 2563 11,236

20 ปี 'เอสโตเนีย' ทำอย่างไร ให้เป็น ‘ประเทศพัฒนา’    


จากที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ และแทบจะไม่มีใครบอกได้ว่าประเทศ “เอสโตเนีย” อยู่ที่ไหนบนแผนที่โลก… 20 ปีผ่านไป ประเทศไซส์มินิที่มีขนาดเล็กกว่าเราถึง 10 เท่านี้ กลับผงาดขึ้นเป็น ‘ประเทศพัฒนา’ และได้ชื่อว่าประเทศที่มีสังคมดิจิทัลล้ำสมัยที่สุดในโลก


นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลัง “เอสโตเนีย” แยกตัวเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 7,000 บาท/เดือน เด็กส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา หลายบ้านไม่มีโทรศัพท์ใช้ติดต่อหากัน เรียกว่าแทบไม่มีต้นทุนหรือความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกอย่างสิ้นเชิง


จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาถึงเมื่อ Matt Laar คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าในวัย 32 ที่ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีคนแรกของเอสโตเนีย พร้อมคณะรัฐมนตรีที่เด็กที่สุดในประวัติศาสตร์ (อายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี) เข้ามาวางแนวทางปฏิรูประบบประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการวางรากฐานให้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนส่วนงานต่างๆ ของประเทศ


เริ่มจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นว่าจำเป็นที่สุด นั่นคือ ‘อินเตอร์เน็ตใยแก้วนำแสงแบบไร้สาย’ (Fiber Optic) ที่รวดเร็วยิ่งกว่า ‘อินเตอร์เน็ตระบบโทรศัพท์บ้าน’ ซึ่งกำลังนิยมในเวลานั้น โดยเริ่มจากพื้นที่เมืองหลวง สถานที่ราชการ โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก่อนจะขยับขยายออกไปทั่วประเทศภายในปี 2000 ไม่ว่าจะเดินทางไปในเขตชนบท นั่งคาเฟ่ร้านอาหาร รอรถที่สถานีขนส่ง หรือแม้แต่ไปอาบแดดริมชายหาด ก็สามารถใช้งานได้แบบไม่มีสะดุด


ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ‘การพัฒนาเด็กและเยาวชน’ ผ่านการศึกษาที่เท่าเทียม โดยกำหนดให้ทุกสถานศึกษาต้องมีคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน และเชื่อมฐานข้อมูลความรู้ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้คุณครูในโรงเรียนห่างไกลสามารถนำไปสอนเด็กๆ ได้ไม่ต่างจากโรงเรียนในเมือง ทั้งยังมีการปูความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการเขียนโค้ดดิ้ง ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป ก่อนที่ต่อมาจะมีการพัฒนาระบบ e-Learning เป็นประเทศแรกๆ รวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับทุกคนจนจบมหาวิทยาลัยอีกด้วย


ขณะเดียวกัน รัฐบาลคนรุ่นใหม่ยังล้างระบบเอกสารภาครัฐ เปลี่ยนมาอยู่บนระบบออนไลน์แทบทั้งหมด และทางประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งการประหยัดเวลาในเรื่องหยุมหยิมเช่นนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเวลาไปคิดและพัฒนาเรื่องอื่นๆ ได้เพิ่มอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-ID Card) ที่แรกในโลก และนำ Blockchain มาใช้เพื่อรักษาความปลอดภัย และเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูลบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่องานราชการ จ่ายภาษี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เช็กตารางเวลารถสาธารณะ โอนเงินซื้อบ้านซื้อรถ แจ้งจัดตั้งบริษัท หรือแม้กระทั่งเรื่องยากๆ อย่างการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง


นอกจากนี้ เอสโตเนียยังวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนิติบุคคล ที่จะคิดภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินปันผล (Dividend Tax) เท่านั้น ไม่คิดภาษีจากกำไร (Profit Tax) อย่างในประเทศไทย และระบบ e-Residency ที่เปิดให้ทุกคนทั่วโลกสามารถ “เปิดบริษัทและทำธุรกิจเสมือนอยู่ในเอสโตเนีย” แม้จะอยู่นอกประเทศ ซึ่งให้สิทธิ์ในการเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ เซ็นเอกสารผ่านระบบดิจิทัล และยื่นภาษีนิติบุคคลออนไลน์ (ไม่ถือสัญชาติและไม่สามารถใช้เข้าออกยุโรปแทนวีซ่าได้) เพื่อจูงใจให้คนในประเทศลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจของตัวเอง รวมถึงดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน


ปัจจัยหลายๆ อย่างที่ถูกพูดถึง เป็นส่วนผสมที่รัฐบาลเอสโตเนียใช้สร้างจุดเด่นในการแข่งขันที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยประชากรกว่า 30% ของประเทศ อยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นต้นกำเนิดบริษัทและสตาร์ทอัพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Skype โปรแกรมติดต่อสื่อสารผ่านวิดีโอคอลชั้นนำของโลก (ก่อนจะขายให้กับ eBay และ Microsoft) Bolt แอปฯ เรียกรถคล้าย Uber ที่กำลังมาแรงในยุโรป หรือ TransferWise สตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่ให้บริการโอนเงินข้ามประเทศแบบไม่ผ่านระบบธนาคารกลาง


ไม่เพียงแค่ฉายา ‘ประเทศที่มีสังคมดิจิทัลล้ำสมัยที่สุด’ ที่ได้รับไป แต่ความพยายามอย่างหนักกว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ประชากรเอสโตเนียมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 53,000 บาท/เดือน ทุกคนเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา การแพทย์ และโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม แถมยังติดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยและเสรีภาพบนโลกออนไลน์อันดับต้นๆ และกลายเป็นโรลโมเดลให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเรา ใช้เป็นแนวทางในการวางรากฐานประเทศที่ยั่งยืนไปตามๆ กัน