สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

12 ปี NIA ติดสปีดประเทศ สู่ Innovation Nation

บทความ 14 กันยายน 2563 3,103

12 ปี NIA ติดสปีดประเทศ สู่ Innovation Nation


ประเทศคุณภาพชีวิตดีที่สุด ประเทศปลอดภัยที่สุด ประเทศที่การศึกษาดีที่สุด… แม้การจัดอันดับเหล่านี้จะมีตัวชี้วัดมากมายที่ถูกหยิบมาคำนวณ แต่หนึ่งตัวแปรสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ “ระดับความก้าวหน้าของนวัตกรรม”


นั่นก็เพราะ ‘นวัตกรรม’ ไม่เพียงช่วยให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวันได้สะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและช่วยพัฒนาโครงสร้างด้านต่างๆ ให้กับประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศถึงกำลังผลักดันระบบนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง


เช่นเดียวกับ NIA ที่มุ่งมั่นส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 นี้ NIA เตรียมเร่งสปีดการพัฒนาระบบนวัตกรรมในมิติต่างๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งด้านการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ การสนับสนุนทางการเงิน และเรื่องใหม่ๆ อย่างการใช้ประโยชน์จาก “นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” (Data-driven Innovation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ท้าทายขึ้นในทุกวัน


จะมีโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย!

“นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราขาดนวัตกร”

การพัฒนา ‘คน’ เป็นหนึ่งเรื่องที่ NIA ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักสูตรและโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม ที่ออกแบบใหม่เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญต่างๆ ทั้งกระบวนการคิดและออกแบบนวัตกรรม การประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ การวางแผนธุรกิจและการตลาด รวมถึงสิ่งสำคัญอย่าง Mindset แบบผู้ประกอบการนวัตกรรมจริง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมหน้าใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ‘ระบบนวัตกรรม’ ไปพร้อมกับ NIA


ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กช็อป “STEAM4Innovator” ที่ใช้พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมแบบเข้มข้น โครงการ “Startup Thailand League” เวทีประกวดไอเดียนวัตกรรมสำหรับเยาวชนระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย รวมถึง “Youth Startup Fund” กองทุนสนับสนุนสานฝันธุรกิจให้กับเยาวชน ซึ่ง NIA เตรียมขายผลโครงการเหล่านี้ ลงไปสู่นักเรียนระดับประถมและมัธยม เพื่อกระตุ้นให้เกิด ‘Startup Ecosystem’ ในสถานศึกษา


นอกจากนี้ NIA ยังเตรียมพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่เข้มข้นขึ้น ตัวอย่างเช่น “IDE to IPO” สำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ “PPCL” สำหรับผู้บริหารองค์กรระดับสูง ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ พร้อมเตรียมขยายโอกาสโครงการดีๆ เหล่านี้ ไปยังพี่น้องในระดับภูมิภาค

“การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นส่วนสำคัญให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเติบโต”

“การสนับสนุนทางด้านการเงิน” เป็นแรงผลักดันที่ช่วยกระตุ้นให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทย มีความกล้าที่จะลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนากลไกการสนับสนุนเงินทุนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ไปจนถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายนักลงทุนจากทั่วโลกให้ได้รู้จักกับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเติบโต


โดย NIA วางแนวทางการพัฒนา “การเงินนวัตกรรม” ที่พูดถึงนี้ ให้กระจายไปสู่ระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ที่ยังมีผู้ประกอบการนวัตกรรมไม่มากนักและยังมีโอกาสเติบโตได้อีก รวมถึงวงเงินสนับสนุนให้กับกลุ่มนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อย่างธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 


รวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อสังคมในมิติต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศไทย เช่น นวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก นวัตกรรมบริการภาครัฐ และนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และนวัตกรรมส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อบรรเทาปัญหาที่พี่น้องไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ 

“Data คือเครื่องมือที่ช่วยให้เราวางแผนอนาคตได้ดีมากขึ้น”

ในปีที่ 12 นี้ NIA ยังเริ่มต้นพัฒนาเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ อย่างการพัฒนา “นวัตกรรมข้อมูล” (Data-driven Innovation) ที่นำ Data ที่สำคัญต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับบริษัทขนาดเล็ก ไปจนถึงการวางโครงสร้างการทำงานระดับประเทศ


โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลด้านนวัตกรรมด้านต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา (https://data.nia.or.th/) ที่รวบรวมข้อมูลสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรม โครงสร้างองค์กร รูปแบบนวัตกรรมที่พัฒนา ฯลฯ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ เช่น หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่กำลังสนใจพัฒนานวัตกรรม ก็สามารถเข้าไปดูได้ว่าสถานการณ์ในอุตสาหกรรมที่สนใจเป็นยังไง มีนวัตกรรมแบบไหนแล้วบ้าง และยังมีโอกาสอะไรให้คุณได้ลงสนาม หรือในขณะเดียวกัน นักลงทุนที่สนใจ ก็สามารถเข้าไปดูได้ว่าสตาร์ทอัพหรือบริษัทที่กำลังสนใจนั้นอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ 


นอกจากนี้ NIA ยังพัฒนา “โปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร” (https://iop.nia.or.th/) ซึ่งทุกบริษัทสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ศักยภาพขององค์กรได้ว่า มีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหนบ้าง เพื่อวางแผนการพัฒนาส่วนงานต่างๆ ของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจัดตั้ง “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม” (IFI: Innovation Foresight Institute) เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมในมิติต่างๆ ล่วงหน้า เพื่อใช้กำหนดนโยบายภาครัฐและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที