สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

"เปลือกข้าวโพด" นวัตกรรมการจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร

บทความ 12 มีนาคม 2562 30,277

"เปลือกข้าวโพด" นวัตกรรมการจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร


ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นต่อเกษตรไทยมายาวนาน ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีความต้องการในการใช้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก จนส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

NIA เล็งเห็นถึงปัญหา จึงได้มีการร่วมกันหาแนวทางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหลือทิ้งมาแปรรูปในด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จำนวนกว่า 2 ล้านบาท โดยริเริ่มโครงการที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

กรรมวิธีเปลี่ยนแปลงวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องเผาทิ้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดจากการสนับสนุนงานวิจัยของ สวทช. ภาคเหนือ เริ่มจากนำเปลือกข้าวโพดเข้าสู่กระบวนการหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน อาศัยจุลินทรีย์จากลูกแป้งเป็นตัวช่วยส่งเสริมการหมักและใช้กากน้ำตาลเพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการหมัก ขั้นตอนคือต้องปิดถุงหมักให้สนิทไม่ให้อากาศเข้าเพื่อปรับความชื้นให้เรียบร้อย หลังจากนั้น 21 วัน จึงพร้อมนำไปเป็นอาหารสัตว์ทดแทนหญ้าได้ดี

จากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ด้านกระบวนการจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ทั้งนี้ในระดับอุตสาหกรรมทำเพื่อเป็นอาหารหมักสำหรับโคเนื้อ โดยมีการจัดตั้งโรงแปรรูปเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พัฒนาสูตรและกระบวนการร่วมกับพืชท้องถิ่นเพื่อให้ได้สารอาหารที่เหมาะสมที่สุดก่อนจะนำไปเลี้ยงโคเนื้อ

ดังนั้น ประโยชน์จากการจัดตั้งโรงแปรรูปนี้ช่วยแก้ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม และหมอกควันในพื้นที่ที่เกิดจากการเผาทำลายวัสดุเหลือทิ้ง ทั้งช่วยส่งเสริมเกษตรปลูกข้าวโพดและกลุ่มอาชีพผู้เลี้ยงโคพื้นเมือง เพื่อสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน ทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรและลดมูลค่าการนำเข้าของโคเนื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเรียนรู้กระบวนทางการเกษตรแบบประยุกต์ รวมทั้งการตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างมีคุณค่า นับว่าเป็นนวัตกรรมของเกษตรกรเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


ที่มา : ไพรัช โตวิวัฒน์. (2560). โครงการการจัดการเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งแบบครบวงจร (เพื่อลดมลพิษจากการเผาทำลาย) โดยเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์. รายงานโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ.

#NIA #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #นวัตกรรมเพื่อสังคม #SocialInnovation