สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทยไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ระยะที่ 2) เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และเกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนได้ ตลอดจนสามารถช่วยให้อุตสาหกรรม SMEs ได้พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเศรษฐกิจในอนาคต ผ่านรูปแบบการสนับสนุนเงินให้เปล่า (grant) ในรูปแบบ “คูปอง” ซึ่งผลจากการดำเนินงานในระยะแรก พ.ศ. 2553-2555 ที่ผ่านมา สามารถส่งเสริมนวัตกรรมผ่านทางผู้ให้บริการนวัตกรรม (ISP) ผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้พัฒนาแนวคิดและต้นแบบ จำนวน 277 โครงการ มีผู้เชี่ยวชาญสนใจสมัครเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการงานนวัตกรรม (Innovation Service Provider : ISP) จำนวน 832 ราย ประกอบผลการประเมินจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพบว่า โครงการคูปองนวัตกรรมฯ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ 4.95 เท่า กล่าวคือ งบประมาณภาครัฐจำนวน 1 บาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4.95 บาท
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2557 จึงมีมติให้ สนช. ดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2 ในกรอบวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่ง สนช. ได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนที่สำคัญคือ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” และ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือเชิงสังคม ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ จำนวน 250 โครงการ ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) เกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม 2) อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3) อุตสาหกรรมเดิม (ไม่รวมอาหาร) 4) อุตสาหกรรมอนาคต และ 5) อุตสาหกรรมบริการ (ท่องเที่ยว สื่อสาร โทรคมนาคม โลจิติกส์)
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 กันยายน2559 สนช. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แล้วจำนวน 202 โครงการ วงเงินสนับสนุน 170,467,674.76-บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบล้านสี่แสนหกหมื่นเจ็ดพันหกร้อยเจ็ดสิบสี่บาทเจ็ดสิบหกสตางค์) จากมูลค่าโครงการรวม 398,872,954.86-บาท ประมาณการมูลค่าการลงทุนใหม่กว่า 2,280 ล้านบาท
มีเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจใหม่ มีความแตกต่าง เป็นธุรกิจที่เกิดจากการพัฒนางานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ (laboratory scale) ให้เป็นระดับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม (manufacturing scale) ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เท่านั้น โดยจะมีคณะกรรมการจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เข้าร่วมคัดเลือกผลงานเด่นสำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลเริ่มต้นของโครงการ
สนช. ได้นิยามความเกี่ยวข้องของนวัตกรรมไว้ว่ามีรากฐานจากผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และสิทธิบัตร หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือบริการใหม่ หรือเพื่อจัดระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ที่ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพ หรือผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน หรือทำให้เกิดบริษัทใหม่ (new company) ที่ใช้ฐานความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา (research-based industry) อันจะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมในระดับกลุ่มบริษัทและนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในระดับอุตสาหกรรมและจะก่อให้เกิดผลกระทบที่มีประโยชน์ในวงกว้าง
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ R4i ไม่จำกัดว่ามีขนาดของธุรกิจ เล็ก/กลาง/ใหญ่ หรือระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ (startup จนไปถึงเป็นบริษัทมหาชน) นักธุรกิจ นักเทคโนโลยีที่สนใจ สามารถดำเนินการดังนี้
สนช. ได้ดำเนินการพัฒนางานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลักของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานข้างต้นเริ่มโครงการพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม (R4i) โดยต่อยอดผลงานวิจัยทั้งที่ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่างๆ และที่มีความโดดเด่นในระดับการค้นพบสิ่งใหม่ นำผลงานเหล่านี้มาพัฒนาสู่ภาคธุรกิจได้จำนวนกว่า 30 โครงการนวัตกรรม นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมร่วมพัฒนาระบบกับหน่วยงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายมียอดเปิดอ่านมากกว่า 18,000 ครั้ง และยังได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ระบบวิจัยและระบบนวัตกรรมจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอิสราเอล ประเทศสวีเดนอีกด้วย ทั้งนี้ผลของการดำเนินงานจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างภาควิจัย ภาคอุตสาหกรรม และภาคผู้ใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม