สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Innovation Booster! กระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วย “ARI Tech” พลิก 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรงแห่งยุค

บทความ 22 กุมภาพันธ์ 2565 3,789

Innovation Booster! กระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วย “ARI Tech” พลิก 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรงแห่งยุค

 

พร้อมบูสต์เข็มกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วหรือยัง! กับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยให้แข็งแรง 

 

เรียกว่าเป็นฟ้าหลังฝนก็คงไม่ผิด หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซามานาน มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตจะมีกลุ่มเทคโนโลยีม้ามืดที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 10 ล้านล้านบาท! ซึ่งกลุ่มเทคโนโลยีที่ว่านั่นก็คือ “ARI Tech” เทคโนโลยีเชิงลึกที่ประกอบไปด้วย Artificial Intelligence (AI) Robotics และ Immersive & IoT เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างมูลค่าให้แก่สตาร์ทอัพทั่วโลกในทุกๆ อุตสาหกรรม เปรียบเสมือน Innovation Booster! วัคซีนทางด้านนวัตกรรมที่มีบทบาทสำคัญสามารถพลิกโฉม ฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดดกันเลยทีเดียว!

 

สำหรับประเทศไทยได้มีการนำ ARI Tech มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นกัน ทั้งในภาคการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการบริการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในหลายมิติ โดยในวันนี้เราได้รวบรวมแนวโน้มและเทรนด์ของ 3 กลุ่มนวัตกรรมที่น่าจับตามอง จนนักลงทุนทั่วโลกมุ่งหากันอย่างไม่ขาดสายมาฝาก พร้อมอธิบายให้เห็นว่า ARI Tech เข้าไปมีบทบาทหรือเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้ยังไง และ NIA มีส่วนช่วยผลักดันนวัตกรรมด้านนี้มากน้อยแค่ไหน ไปดูกัน!

เทรนด์อาหารและการเกษตร (Food and Agriculture) พัฒนารากฐานชีวิตและความเป็นอยู่

เริ่มกันที่เทรนด์แรกในกลุ่ม “อาหารและเกษตร” เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่มีตลาดใหญ่ โดดเด่นทั้งในด้านการส่งออกและการบริโภคในประเทศ เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง จนสามารถดึงดูดนักลงทุนได้อยู่เสมอ แต่การเติบโตของตลาดกลับสวนทางกับรายได้และความเป็นอยู่ของผู้คนในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่อง เงินทุน การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน หรือขาดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ฯลฯ

 

“ARI Tech” จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของสินค้าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่ภาคการเกษตร ปัจจุบันได้เริ่มมีการทำ Smart Farming อย่างแพร่หลาย อาทิ Predictive Farming คือการนำ AI มาวิเคราะห์สภาพอากาศ ดิน ผลผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามความต้องการของตลาด การผลิตโดรนเพื่อการเกษตรที่จะมาช่วยตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตร หว่านเมล็ด ฉีดพ่นปุ๋ย ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนแรงงานคนได้ 

 

ไปจนถึงปลายน้ำที่อาหารไปถึงมือผู้บริโภคก็มีถึงขั้นหุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟอาหารหรือ AI เป็นตัวช่วยคำนวณส่วนผสมและวัตถุดิบให้กับคนได้ทานแล้ว ซึ่งเกือบทั้งหมดมีสตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการอยู่หลายราย เช่น Ricult, ListenField, NOVY Drone ฯลฯ ซึ่งเป็นการค่อยๆ ทลายข้อจำกัดอย่างที่เราเคยพูดไปก่อนหน้านี้ 

 

ถ้าอยากติดตามหรือเจาะลึกนวัตกรรมในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น NIA ก็มีโครงการที่สนับสนุนผลงานนวัตกรรมใน 2 อุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร หรือ “SPACE-F” และโครงการด้านการเกษตรอย่าง AgTech Connext ที่เป็นสะพานในการเชื่อมโยงเกษตรกรและสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน ประเทศไทยก็สามารถเป็น “Food Silicon Valley” ได้ในอนาคต และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เทรนด์สุขภาพและการแพทย์ (Healthcare and Medical) พร้อมสู้วิกฤตปรับสมดุลชีวิตยุคใหม่ 

จากวิกฤตโรคระบาด ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นจากความเครียดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านการแพทย์มีการพัฒนาอย่างก้าวล้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตในอนาคต รวมถึงเกิดธุรกิจด้านการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ARI Tech เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

 

1.การคัดกรองผู้ป่วย (Screening) จากเดิมที่รายละเอียดทุกอย่างอยู่ในแฟ้มเอกสารแล้วต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการค้นหาข้อมูล และประเมินผู้ป่วยในแต่ละวัน ปัจจุบันสามารถนำ AI มาใช้ในการบริหารจัดการหลายๆ ขั้นตอน เช่น การคาดการณ์จำนวนเตียงที่ใช้ในการรักษา ประเมินปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ ฯลฯ หรือในรูปแบบ Homecare ก็มีแอปพลิเคชันของไทย Agnos Health ที่ใช้ AI ช่วยประเมินโรคจากการตอบคำถามด้วยตัวเองได้ก่อนที่จะมาโรงพยาบาล เป็นการช่วยลดปัญหาผู้ป่วยล้นในสถานพยาบาลได้ในทางหนึ่ง

 

2.การวินิจฉัยโรค (Diagnosis) ในทางการแพทย์ก็มีเทคโนโลยีจำนวนมากออกมา เพื่อใช้ในการร่วมวินิจฉัยโรค แต่โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศและมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ในประเทศไทยเองมีการผลิตนวัตกรรมโดยใช้ ARI Tech เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น เช่น สตาร์ทอัพที่ชื่อว่า “Perceptra” ได้ทำการสร้างแพลตฟอร์ม “Inspectra” ซึ่งเป็นการใช้ AI ในรูปแบบ Deep Learning มาช่วยเอกซเรย์ปอดผู้ป่วยโควิด หรืออีกตัวอย่างคือความร่วมมือระหว่าง NIA รพ.จุฬาฯ และบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ในการสร้าง “เครื่องช่วยหายใจ อัตราการไหลสูง Chula High Flow Nasal Cannula” เป็นอีกนวัตกรรมที่ช่วยต่อชีวิตคนไทยให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง

 

3.บริการ Telemedicine ทุกวันนี้การติดตามผลการรักษาอาจไม่จำเป็นต้องนัดมาเจอที่โรงพยาบาลทุกครั้งเหมือนแต่ก่อน เพราะในประเทศไทยก็มีบริการ Telemedicine ที่สามารถพูดคุย บันทึกข้อมูลการรักษา ผลข้างเคียงของยาผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ ได้โดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งที่เป็น ARI Tech และเทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดพร้อมกับสามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้

 

เนื่องจากเป็นกลุ่มเทรนด์ที่มีความสำคัญ NIA เองมีส่วนในการผลักดันนวัตกรรมด้านการแพทย์ (MedTech & HealthTech) เช่นกัน โดยได้เข้ามาช่วยพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีในกรุงเทพมหานคร และย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกในจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นย่านที่มีศักยภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ 

เทรนด์การบริการจากภาครัฐ (Government Service) สู่การเป็น “Innovation Nation”

นอกจาก ARI Tech จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้หรือสร้างแต้มต่อทางธุรกิจให้เติบโตแล้ว ARI Tech ยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการปรับโฉมบริการจากภาครัฐให้เปลี่ยนไปจากเดิม มีความสะดวกสบายขึ้น รวดเร็วขึ้น และเข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญยังคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนมาเป็นอันดับแรก ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่า วันหนึ่งประเทศไทยจะสามารถกลายเป็น “Innovation Nation” ได้ในที่สุด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือไกลตัวอีกต่อไป เพราะในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยเองก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีด้านนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน
 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุดในโลก ได้มีการใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ซึ่งเชื่อมกับสัญญาณไฟจราจรทั้งประเทศ ทำให้ประชากรในเมืองสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวกสบายและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “MyTransport.SG”  หรือการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ Data ที่มีขนาดมหาศาลอย่างข้อมูลเครดิตบูโร และข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก

 

สำหรับ NIA เองได้มีการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม “ตู้แดงอัจฉริยะ 24 Hi-Care Center” อุปกรณ์ช่วยแจ้งเตือนภัยที่เชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง เป็นการใช้ AI ตรวจจับใบหน้าหรือทะเบียนรถผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา หากพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติก็สามารถแจ้งเตือนได้ทันที ซึ่งเป็นนวัตกรรมจาก บริษัท บีเอ็มเค ซีซีทีวี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร และยังเป็นผู้ชนะรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาคกลาง ในการแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย #นิลมังกรแคมเปญ อีกด้วย 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพว่า ARI Tech เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาในแต่ละกลุ่มได้ยังไง และไม่ได้มีแค่ใน 3 กลุ่มนี้เท่านั้น เพราะ ARI Tech สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น โลจิสติกส์ การศึกษา การท่องเที่ยว พลังงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในโอกาสหน้าเราอาจได้มาอธิบายให้ทุกคนได้รู้จักเพิ่มเติม


อ้างอิงข้อมูลจาก : 

https://www.bangkokbiznews.com/tech/943718
https://www.nia.or.th/AgTechDrones
https://www.prachachat.net/economy/news-847240
https://www.nia.or.th/ThaiDeepTechStartup
https://www.redcross.or.th/news/hot/16581/
https://www.nia.or.th/PACPODCAST17-Public-sector-innovation
https://www.nia.or.th/SmartestSingapore
https://social.nia.or.th/2021/open0032/