สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

The Next Forest ฟื้นฟูระบบนิเวศ คืนชีวิตแด่ผืนป่าด้วยนวัตกรรม

22 ธันวาคม 2567 67

The Next Forest ฟื้นฟูระบบนิเวศ คืนชีวิตแด่ผืนป่าด้วยนวัตกรรม


🚨🌳  วิกฤตผืนป่า! ปี 2022 - 2023 ประเทศไทยมีจำนวนป่าไม้ลดลงสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือคิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ 317,819.20 ไร่ (รายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่า สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ 2566)

🚧 สาเหตุที่ทำให้ผืนป่าหายไป มาจากปัจจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน การสร้างถนน อีกกิจกรรมที่ทำให้ตัวเลขการใช้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากเดิม คือการจัดสรรที่ดินทำกิน และการเกิดไฟป่าที่ลุกลาม จนกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหานี้ส่งผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักจนไม่อาจละเลยได้

🌱 ทำให้ปัจจุบันผู้คนมากมายเริ่มหันมาปกป้องและดูแลผืนป่ามากขึ้น โดยวิธีที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ การปลูกป่าให้ธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ แต่ #การปลูกป่า กับ #การฟื้นฟูป่า นั้นยังเป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดอยู่ เพราะ “การปลูกป่า” นั้นหมายถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกพืชชนิดใดก็ได้ ซึ่งการปลูกลงไปโดยไม่ได้ศึกษาสายพันธุ์อาจส่งผลกระทบไปถึงการยับยั้งการฟื้นตัวของป่าตามวิถีธรรมชาติ ในขณะที่ “การฟื้นฟูป่า” จะหมายถึงการทำให้พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย กลับมามีสภาพใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด

🗺 การฟื้นฟูป่าจึงมาควบคู่กับการศึกษาระบบนิเวศเดิมอย่างละเอียด เน้นคืนพื้นที่สีเขียวตาม “วิธีพรรณไม้โครงสร้าง” เป็นการเลือกปลูกต้นไม้ตามพันธุ์พื้นเมือง ที่ช่วยเสริมการฟื้นตัวของป่า คืนความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้กล้าไม้มีอัตราการรอดสูงขึ้น และเติบโตได้ดีในระยะยาว รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะนิเวศน์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณภาพดิน ปริมาณน้ำ ทิศทางแสงแดด และอื่น ๆ อีกมากมาย

🌎 “The Next Forest” หนึ่งในกลุ่มนวัตกรไทยที่สนใจการฟื้นฟูป่าตาม วิธีพรรณไม้โครงสร้าง จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการสำรวจพรรณไม้ในท้องถิ่น แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้โดยง่าย เพราะไหนจะต้องคำนึงถึงความซับซ้อนของป่าไม้ ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ในการจำแนกสายพันธุ์ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงต้องมีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการทำงาน ดังนั้น The Next Forest ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินพันธุ์ไม้ จึงได้มาขอรับการสนับสนุนนวัตกรรม ที่มีการนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้ามาประยุกต์ในการใช้งานเพื่อการสำรวจและฟื้นฟูป่าไม้ ผ่านโครงการ “นวัตกรรม การจำแนกชนิดพันธุ์ไม้โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน)” 🛰️ และได้รับการสนับสนุน จาก NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม

👩‍💻 โครงการนี้ เป็นการออกแบบโปรแกรมประมวลและจำแนกภาพป่าไม้ด้วย Machine Learning โดยวิธีการ ‘Maximum Likelihood’ ด้วยชุดข้อมูลภาพที่ถ่ายด้วยโดรน และสร้างโปรแกรมจำแนกชนิดพันธุ์ไม้หลักในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งส่วนที่ท้าทายคือการทำให้โปรแกรมสามารถจำแนกพันธุ์ได้จากสีสะท้อนตามช่วงเวลา ทรงพุ่ม และเรือนยอดของต้นไม้ทั้งหมด โดยการพัฒนาโปรแกรมนี้จะช่วยย่นระยะเวลาในการสำรวจพื้นที่ 100 ไร่ จากที่เคยใช้ไป 14 วัน ให้เหลือเพียง 2 วันเท่านั้น จึงลดต้นทุนลงไปกว่าเดิมได้ถึง 7 เท่า

⛰️ นวัตกรรม นี้ถือเป็นการสร้างจุดแข็งสำหรับธุรกิจ เพราะนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีใครทำแล้ว ข้อมูลที่ได้รับยังถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของงานบริการ ตั้งแต่การสำรวจไปจนถึงการตรวจสอบผลลัพธ์ ส่งผลให้ The Next Forest กลายเป็นผู้นำในธุรกิจด้าน ฟื้นฟูป่า ซึ่งมีบริการที่ตอบโจทย์กับทุกกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น การให้ความรู้สำหรับชุมชนในการดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยให้ชาวบ้านนำพื้นที่มาเข้าโครงการ วางแผนร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพ เปิดโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้ และการประเมินพื้นที่ว่างเพื่อพัฒนาโครงการเอกชนให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนที่สุด

🚶‍♀️🏞 ในการฟื้นฟูป่า และพื้นที่สีเขียว The Next Forest ได้เริ่มต้นการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน จนในปัจจุบัน The Next Forest  มีการขยายการทำงานไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนพื้นที่ป่าหลงเหลืออยู่เพียง 4,018 ไร่ หรือคิดเป็น 0.41% เท่านั้น ตัวอย่างการปลูกป่าในโครงการ “ปลูกป่าในเมือง” จึงถือเป็นโมเดลสำคัญในการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วย นวัตกรรม ในเมืองสำหรับประชาชน ตามนโยบาย “สวน 15 นาที” ด้วยเทคนิค “วิธีพรรณไม้โครงสร้าง” ที่มีการปลูกกล้าไม้ท้องถิ่นมากถึง 30 ชนิด 

♻️ การทำงานของ The Next Forest ทำให้หลายภาคส่วน เล็งเห็นถึงแนวทางที่ถูกวิธีในการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวทั้งระบบนิเวศ นำความหลากหลายกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้มองแค่ “การปลูกป่า” แต่จะต้องหันมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ #การฟื้นฟูป่า ด้วย ยวัตกรรม ที่เคารพและให้ความสำคัญกับสมดุลที่เหมาะสมของวัฏจักรป่าไม้ธรรมชาติ

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.seub.or.th/document/สถานการณ์ป่าไม้ไทย/2024-279/ 
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000038824 
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2024-17/ 
https://www.forest.go.th/plantationexpert/wp-content/uploads/sites/122/2021/01/วิธีพรรณไม้โครงสร้างบท5.pdf 
https://www.nia.or.th/The-next-forest 
https://impactflow.org/about/project/51 
https://www.posttoday.com/smart-sme/710077 
https://bit.ly/49RVYlV