สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA จัดกิจกรรม Corporate Spark 2024: Demo Day จับคู่ภาคธุรกิจไทยกับสตาร์ทอัพระดับโลกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับศักยภาพและขยายธุรกิจไทยสู่ตลาดสากล

News 17 มกราคม 2568 14

NIA จัดกิจกรรม Corporate Spark 2024: Demo Day จับคู่ภาคธุรกิจไทยกับสตาร์ทอัพระดับโลกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับศักยภาพและขยายธุรกิจไทยสู่ตลาดสากล

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอกย้ำวิสัยทัศน์การยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียน ผ่านโครงการ Corporate Spark 2024 จัดกิจกรรม Corporate Spark 2024: Demo Day ขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจไทยได้พบปะและสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพระดับโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนยกระดับศักยภาพและขยายธุรกิจของไทยสู่ตลาดสากล โดยได้รับความสนใจจากสตาร์ทอัพนานาชาติกว่า 100 ราย และบริษัทชั้นนำของไทยกว่า 70 แห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกและจับคู่ธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวน 18 คู่ความร่วมมือ ครอบคลุม 4 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ AgriTech, Climate Tech, Digital Health Tech และ Travel Tech ณ โรงแรมเอส 31 (สุขุมวิท) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า "การยกระดับนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยการสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพระดับโลกผ่านโครงการ Corporate Spark 2024 จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม และการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของไทยสู่ระดับสากล นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทไทยได้เข้าถึงนวัตกรรมระดับโลกที่พร้อมใช้งาน ลดระยะเวลา และต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีเอง"
 
กิจกรรม Demo Day ที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นการรวบรวมโซลูชันนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยจากสตาร์ทอัพชั้นนำทั่วโลก ซึ่งมีจุดเด่นในการนำเสนอนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ด้านการเกษตร: เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ให้เกษตรกรไทย ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ: เทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน ประหยัดพลังงาน สร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในระดับประเทศ ด้านการแพทย์: เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ลดระยะเวลาในการรักษา และขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง และด้านการท่องเที่ยว: นวัตกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่ในการให้บริการและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
 
โดยมีสตาร์ทอัพชั้นนำร่วมงานมากมาย เช่น Mechanocross เทคโนโลยีการแยกและจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตในภาคเคมีและโลหการ Giken Technologies ระบบกักเก็บพลังงานและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขั้นสูง AISAP AI โซลูชั่นการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายหรือผลตรวจที่รองรับการวินิจฉัยแบบเรียลไทม์ในโรงพยาบาลและคลินิก Alterpacks เทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบและเปลือกธัญพืช โดยเน้นการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ในงานยังมีกิจกรรม Business Matching ระหว่างสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกกับบริษัทไทยและนักลงทุนกว่า 150 ราย เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมทุนและพัฒนาธุรกิจร่วมกันในอนาคต
 
"จะเห็นได้ว่า การที่มีสตาร์ทอัพระดับโลกกว่า 100 รายให้ความสนใจร่วมมือกับบริษัทในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาค โดยสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกล้วนมีเทคโนโลยีที่โดดเด่นและพร้อมปรับให้เข้ากับบริบทของตลาดไทย ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย สร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว" ดร. กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม
 
โครงการ Corporate Spark 2024 ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมไทยกับพันธมิตรจากทั่วโลก ซึ่งตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการลงทุนด้านนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ สร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://spark.nia.or.th