สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

อะไรบ้างที่เป็น “อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย” เพื่อเชื่อมโอกาสการลงทุนจากทั่วโลก

25 เมษายน 2566 21,493

อะไรบ้างที่เป็น “อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย” เพื่อเชื่อมโอกาสการลงทุนจากทั่วโลก

การนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็น Destination ของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ได้เป็นแค่ภาพฝัน
เพราะเรากำลังเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นระบบ!

ในปี 2022 ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) อยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่นิ่งนอนใจ เร่งเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะ NIA ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม เราจึงได้พัฒนาโครงการต่างๆ ที่มุ่งสร้าง Talent และขยายความร่วมมือเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

โดยสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีการต่อยอดอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น แต่ทุกคนจำกันได้ไหมว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยนั้นมีอะไรบ้าง อะไรที่เป็นการพัฒนาจุดเด่น หรืออุตสาหกรรมใดคือเทรนด์ใหม่ที่ไทยจะตกขบวนไม่ได้ มาทบทวนกับเราในวันนี้ได้เลย

“กลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve”

1. ยานยนต์สมัยใหม่
2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3. การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5. การแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

แค่เห็นลิสต์รายชื่อก็จะเข้าใจได้ในทันที เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีมูลค่ากว่า 9.7 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2565) หรือการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตมากขึ้น ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศอย่าง อาหารและการเกษตร

เพื่อให้พร้อมอัปเกรดตามไปกับเทรนด์และทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve ที่เป็นเหมือนกับรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จึงควรได้รับการพัฒนาเพื่อสร้างจุดแข็งและเชื่อมโยงกับนักลงทุนมากขึ้น เพราะมีการคาดกันว่า แค่อุตสาหกรรม EV ในพื้นที่ EEC มีการลงทุนใหม่ถึงร้อยละ 10 ของ GDP หรือกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและสร้างงานกว่า 2 แสนตำแหน่งเลยทีเดียว

แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า จะเสริมสร้างแค่สิ่งที่เราแข็งแรงอยู่แล้วอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดเราจึงต้องมี

“กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve”

6. หุ่นยนต์
7. การบิน
8. ดิจิทัล
9. การแพทย์ครบวงจร
10. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนกับ New Growth Engine ให้กับประเทศไทย ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาก็อาจจะตกขบวน ฉะนั้นมาตรการนี้จึงรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วย เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาทำการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น และขยายโอกาสในการสร้างรายได้และการจ้างงานใหม่ๆ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมในกลุ่ม First S-Curve

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนทัศนียภาพใหม่ในทุกอุตสาหกรรม ถ้าเรามีผู้เล่นและนักลงทุนเข้ามาในระบบนิเวศนี้มากขึ้น ก็จะทำให้สร้างการเติบโตได้ในอีกระดับ และในขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศได้อีกด้วย เช่น ด้านการแพทย์ ภาครัฐจะต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่าหกหมื่นล้านบาทต่อปี ถ้าเราดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาช่วยสร้างหรือส่งเสริมสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ภายในประเทศ ก็จะยิ่งช่วยลดงบประมาณในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ราคาสูงเหล่านี้ได้อย่างมหาศาล

ติดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไปแล้ว...มาสู่การสนับสนุนในด้านอื่นๆ กัน!

“กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมนโยบายหลักของประเทศ”

11. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
12. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
13. อุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยและพัฒนา
14. อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะนอกจากช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว ยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สอดรับกับนโยบายหลักของประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของโลก รวมไปถึงมิติที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ เป็นไปตามความต้องการของตลาด จนเกิดเป็นตลาดแรงงานที่มีฝีมือและมีคุณภาพกระจายไปสู่ทุกๆ อุตสาหกรรม

ทุกอุตสาหกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาก็กำลังถูกขยายผลในทันที เพราะปัจจุบัน NIA ก็ได้มีการทำงานร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI” ในการเปิดรับคนทำงานสตาร์ทอัพ นักลงทุน จากต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้สะดวกสบายมากขึ้น ผ่านการทำ “SMART Visa” ซึ่งเป็นการต่ออายุการทำงานได้มากสุดถึง 4 ปี* (*ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด)

นอกจากนี้ยังมี “Global Startup Hub” ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแบบ One Stop Service ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทย กิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรม กิจกรรมสร้างเครือข่าย ไปจนถึงการช่วยเชื่อมโยงกับนักลงทุนหรือบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ เรียกได้ว่าครบจบในที่เดียว ผู้ประกอบการคนไหนที่มี Connection คนทำงานหรือนักลงทุนจากต่างประเทศ แนะนำให้มาที่นี่ได้เลย

และล่าสุดกับการรับรองบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน หรือมาตรการยกเว้น “Capital Gains Tax” ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายหุ้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุน ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 14 อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น โดยมาตรการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูด Talent และนักลงทุนให้เข้ามาดำเนินธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น ซึ่ง NIA ได้ให้การสนับสนุนด้วยการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองสตาร์ทอัพที่ต้องการขอใช้สิทธิ์ สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการท่านไหนที่ต้องการขอรับพิจารณาในมาตรการนี้ สามารถส่งข้อมูลเข้ามาที่ NIA ได้เลย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และส่งข้อมูลเข้ามาได้ที่ > https://www.nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax 
ทำความรู้จักโครงการ “SMART Visa” ได้เพิ่มเติมที่นี่ > https://smart-visa.boi.go.th/
หรือติดตามความเคลื่อนไหวจากแฟนเพจ “Global Startup Hub Thailand” ได้เลย > https://www.facebook.com/GlobalStartupHubTH

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.imd.org/centers/wcc/world-competitiveness-center/rankings/world-competitiveness-ranking/
https://www.stemplus.or.th/target_industry
https://www.mreport.co.th/news/statistic-and-ranking/355-Thailand-Automotive-Export-2022-December
https://www.bangkokbiznews.com/tech/994470
https://www.nia.or.th/quote-NIAnatomy-ep10
https://smart-visa.boi.go.th/smart/pages/about.html#what