สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
#การมองอนาคต คือสิ่งที่นำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่เรื่อง ชีวิตประจำวัน ธุรกิจ ไปจนถึงสังคมโลก
ไม่ต้องพึ่งหมอดู…ก็คาดการณ์อนาคตได้! เพราะตอนนี้เรามีทักษะที่สำคัญอย่าง “การมองอนาคต (Foresight)” ที่จะช่วยให้คุณพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน และสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน การทำธุรกิจ หรือแม้แต่เทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคมโลกได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือประกอบอาชีพอะไร ก็สามารถมองอนาคตได้อย่างเฉียบคมและแม่นยำ
รายการ #NIAnatomy Episode ที่ 9 นี้จะพาไปพูดคุยกับ “คุณป๊อกกี้ ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์” ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม โดยปัจจุบันยังมีอีกบทบาทคือ ผู้อำนวยการสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute) หรือ IFI ซึ่งเป็นสถาบันที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการนำศาสตร์แห่ง “การมองอนาคต” มาใช้ในการออกแบบและวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพิ่มศักยภาพการมองอนาคตให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและส่วนภูมิภาค รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยเราได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านเรียบร้อยแล้ว!
🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่ https://soundcloud.com/niathailand/ep9-nianatomy-podcast
"เราอาจถอดบทเรียนในอดีตมาคาดเดาอนาคตได้ แต่เรื่องที่คาดเดาได้ยาก อาจต้องอาศัยจินตนาการ หรือการมองแบบ Science Fiction เข้ามาช่วย"
พูดถึงคำว่า “อนาคต” ทุกคนคงคิดเหมือนกันว่าโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจนถูกนิยามได้ว่าเป็นยุคของ VUCA หรือเป็นยุคที่มีแต่ความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติโรคระบาดที่ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ ไปจนถึงเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงมากๆ อย่างเรื่องสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งในบางเรื่องเราอาจถอดบทเรียนในอดีตมาคาดเดาอนาคตได้ แต่การมองอนาคตนั้นแตกต่างจากงานวิจัยทั่วไป
ทำให้เรื่องที่คาดเดาได้ยาก บางครั้งต้องอาศัยจินตนาการเข้ามาช่วยมองภาพอนาคตด้วย โดยหนึ่งในกระบวนการตัวอย่างที่ช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นก็คือ “การมองแบบ Science Fiction” คือการหยิบเอานิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์ไซไฟมาทำนายการเกิดเรื่องราวในอนาคต เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ที่กำกับโดย Stanley Kubrick ซึ่งถูกฉายมาตั้งแต่ปี 1968 นับเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้คนไปสำรวจอวกาศได้สำเร็จ หรือเรื่อง Ready Player One ที่เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องราวบนโลกเสมือน และวันนี้เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า Metaverse หรือเทคโนโลยี VR แล้ว
"คนทำธุรกิจหรือผู้ประกอบการนวัตกรรม จำเป็นต้องเข้าใจสัญญาณความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับเราตลอดเวลา"
โดยส่วนใหญ่คนทำธุรกิจหรือผู้ประกอบการนวัตกรรมมักให้ความสนใจไปที่เรื่องเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะเป็นองค์ความรู้หรือเรื่องราวที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง แต่ในวันนี้ทิศทางของโลกกำลังเปลี่ยนไป เพราะเราต้องเข้าใจและสามารถจับสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคม กฎหมาย หรือสิ่งแวดล้อม แบบหลอมรวมกัน เพื่อให้เข้าใจพลวัตทางสังคมและปรับตัวไปพร้อมกับสถานการณ์โลกได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับเราตลอดเวลาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ไอที ซึ่งทั้งหมดต้องพึ่งพิงการผลิตชิฟหรือการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก ปีที่ผ่านมาไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เกิดวิกฤติน้ำขาดแคลนและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาล ทำให้สายพานการผลิตหยุดชะงัก ก็ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ชะงักตามไปด้วย หรือเหตุการณ์ล่าสุดอย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยสิ่งที่ชัดที่สุดคือเรื่องวิกฤติพลังงานและวิกฤติการเงิน ทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดปัญหาจนมาถึงเวลานี้ ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน หากคนทำธุรกิจหรือผู้ประกอบการนวัตกรรมเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ ก็จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้
"IFI ทำหน้าที่เปรียบเหมือน Think Tank ที่ช่วยมองภาพอนาคตในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมเพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง วางแผนชีวิตและธุรกิจได้"
เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ให้พร้อมรับมือกับอนาคตมากขึ้น NIA จึงได้ตั้งยูนิตที่มีชื่อว่า “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า IFI ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่มองอนาคตทิศทางนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต เพื่อให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปออกแบบนโยบาย วางแผนธุรกิจ และบุคคลทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ผ่านแนวทางการดำเนินงานหลัก 3 ข้อด้วยกันดังนี้
1. การพัฒนาและสร้างเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ (Future Force)
2. การศึกษาและพัฒนาแนวโน้มอนาคต (Future Scene)
3. การส่งเสริมการใช้เครื่องมือนวัตกรรมเพื่อวางแผนอนาคตในภาคธุรกิจ (Future Enterprise)
ซึ่งในปัจจุบัน IFI ยังได้ทำงานร่วมกับ FutureTales LAB by MQDC ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนแห่งแรกในไทยที่ศึกษาวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ เพื่อฉายภาพภูมิทัศน์ในอนาคตของประเทศไทยให้คนทั่วไปพร้อมรับมือกับอนาคตในหลายๆ มิติ และนอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Program) เพื่อพัฒนาองค์กรต่างๆ ให้เป็น “Innovative Organization” ผ่านเครื่องมือและองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามี
ทำความรู้จัก “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://ifi.nia.or.th/