สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

#ประเทศไทยชึ้นชื่อว่าเป็น Medical Hub ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากต่างประเทศถึงปีละกว่าหกหมื่นล้านบาท

27 สิงหาคม 2565 5,319

#ประเทศไทยชึ้นชื่อว่าเป็น Medical Hub ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากต่างประเทศถึงปีละกว่าหกหมื่นล้านบาท

#ประเทศไทยชึ้นชื่อว่าเป็น Medical Hub ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากต่างประเทศถึงปีละกว่าหกหมื่นล้านบาท

ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโรคระบาดเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนทั้งโลก ประเทศไทยเราถือเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่คนทั่วโลกอยากจะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ เพราะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีฝีมือในระดับโลก มีโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำหลายแห่งที่มีการบริการที่น่าประทับใจ จนขึ้นชื่อได้ว่าเป็น Medical Hub ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก จากการจัดอันดับในหลายดัชนี เช่น Global Health Security Index ประเทศไทยติดอันดับที่ 5 จาก 195 ประเทศ

แต่ทุกคนทราบกันไหมว่า ประเทศไทยเรากลับต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศถึงปีละหกหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งเมื่อมาเจอกับวิกฤติโรคระบาดที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลกเริ่มขาดแคลน และความซับซ้อนของโรคที่เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีต้นทุนราคาแพงเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนำมารักษาชีวิตผู้คนได้ โจทย์นี้จึงกลายเป็นอีกความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

รายการ #NIAnatomy Episode ที่ 10 นี้ “คุณตั้ม อุกฤช กิจศิริเจริญชัย” ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จาก NIA ซึ่งมีบทบาทในการดูแลนวัตกรรมรายสาขาอย่าง MedTech หรือนวัตกรรมการแพทย์ ได้มาเผยถึงเส้นทางของนวัตกรรมการแพทย์ไทย ทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เทรนด์นวัตกรรมการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงเรื่องกลไกการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์ ว่าจะกลายเป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมที่สำคัญในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่ https://soundcloud.com/niathailand/ep10-nianatomy-podcast

"ปัจจุบันเทรนด์นวัตกรรมทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิดการแข่งขัน และมีผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจาก การนำ DeepTech มาประยุกต์กับนวัตกรรมการแพทย์"

เมื่อเราพูดถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยส่วนใหญ่ เราก็จะนึกถึงอุปกรณ์ที่ช่วยในการรักษาเป็นหลัก เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องผ่าตัด ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีต้นทุนสูง เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ต้องมี Clinical research รองรับ และผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นอุปกรณ์ที่แพทย์สามารถใช้เพื่อการรักษาได้ ทำให้มีผู้ผลิตและพัฒนาน้อยราย กลไกราคาจึงขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเป็นหลัก

แต่ปัจจุบันเทรนด์นวัตกรรมการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ DeepTech เข้ามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมการแพทย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI ที่ช่วยในการคัดกรองโรค เทคโนโลยี Blockchain ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเวชระเบียนผู้ป่วย เทคโนโลยี 3D Printing ที่จะช่วยสร้างอวัยวะเทียม ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัดและนวัตกรรมในกลุ่ม Biotechnology ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพในหลายด้าน

คำว่านวัตกรรมการแพทย์ในยุคนี้จึงเป็นมากกว่าการรักษา เพราะมันคือเครื่องมือที่เข้ามาอยู่ในทุกกระบวนการของการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา เกิดนวัตกรรมในแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการดูแลสุขภาพของผู้คน

“หากเราลดการนำเข้าด้วยการพัฒนานวัตกรรมด้วยตัวเอง ก็จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยได้มากขึ้น”

จากปัญหาที่เราเคยพูดถึงในตอนต้นว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงถึงหกหมื่นล้านบาทต่อปี ผสานกับทิศทางเทรนด์นวัตกรรมการแพทย์ยุคใหม่ที่มุ่งใช้เทคโนโลยี DeepTech มากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยก็มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมเป็นของตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันได้มีสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยหลายรายที่กำลังพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อยู่เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น นวัตกรรม “Inspectra” จากสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า Perceptra ได้ใช้ AI ในรูปแบบ Deep Learning เข้ามาช่วยแพทย์วินิจฉัยเอกซเรย์ปอดผู้ป่วยโควิด รวมถึงโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกับปอดโรคอื่นๆ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างมาก เพราะสามารถช่วยลดภาระงานของรังสีแพทย์ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วให้ทำงานได้สะดวกขึ้น หรือผลงานนวัตกรรมสุดล้ำอย่าง “H3 Lumio 3D Face Scanner” เครื่องสแกนใบหน้าสามมิติคุณภาพสูงสำหรับการใช้งานทางการแพทย์ จาก Lumio 3D ที่จะเข้ามาช่วยให้การศัลยกรรมใบหน้ามีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หรือนำไปใช้กับการรักษาอวัยวะอื่นที่อยู่บนใบหน้าได้ เช่น งานทันตกรรม เป็นต้น

"YMID และ SMID เป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่จาก NIA ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ไทย ให้มีประสิทธิภาพจนเป็นที่น่าจับตาของภูมิภาค"

ความท้าทายในเรื่องนวัตกรรมการแพทย์ ไม่ได้มีแค่เรื่องของราคาและการแข่งขันในตลาด เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพัฒนาร่วมกัน ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์และเทคโนโลยีควบคู่กันไป รวมถึงการทำให้คนไทยยอมรับและมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของไทยมากขึ้น NIA จึงเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย

หนึ่งในกลไกการทำงานที่สำคัญคือ การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID)  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ถนนโยธี จังหวัดกรุงเทพมหานคร และการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District: SMID) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทย ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น ผ่านหลากหลายโครงการในย่าน รวมถึงช่วยดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่นี้ด้วย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพจนเป็นที่น่าจับตาในภูมิภาค

และนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดคนเข้ามาแล้ว ทั้ง 2 พื้นที่นี้ยังเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในมิติของงานวิจัย Clinical research การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิต จนสามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาลได้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อยู่ ที่แห่งนี้ตอบโจทย์ในทุกด้านที่ต้องการ

ทำความรู้จัก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” เพิ่มเติมได้ที่ > https://ymid.or.th/
ทำความรู้จัก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก” เพิ่มเติมได้ที่ > https://smid.or.th/