สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เพราะ “ฉันเป็นประธานบริษัท” คู่มือฝ่าวิกฤต พลิกธุรกิจทุกกระบวนท่า

บทความ 27 พฤศจิกายน 2564 2,399

เพราะ “ฉันเป็นประธานบริษัท” คู่มือฝ่าวิกฤต พลิกธุรกิจทุกกระบวนท่า


เพราะ "ฉันเป็นประธานบริษัท" ในยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและปัญหาร้อยแปด


จากวิกฤตโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าแทบจะมีเรื่องอัปเดตกันรายวัน การเป็นผู้นำในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องรื้อวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน อัปสกิล รีสกิล กันยกใหญ่ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่ สตาร์ทอัพ หรือ SME ต่างก็ต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน 


เราจึงพร้อมติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ ผู้บริหารรวมถึงหัวหน้างานทุกคนด้วยคู่มือบริหารการทำงาน สกิลใหม่ๆ ที่ควรมีในยุคนี้ ไปจนถึงวิธีดูแลสภาพจิตใจ ครบทุกด้านทุกมุม สามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณได้เลย  

วิธีบริหารงานแบบ “Digital Leadership

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจากอิทธิพลของ Digital transformation ที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลายปีมานี้ ส่งผลให้แทบทุกธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทเทคโนโลยี ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกันหมดแถมยังมีตัวเร่งจากวิกฤตโรคระบาด ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มี Digital literacy ส่วนจะบริหารทีมยังไงให้สมกับที่เป็น “Digital Leadership” มาอ่านไปพร้อมกัน 


• กำหนดเป้าหมาย และ Digitalize ข้อมูลในองค์กรให้เชื่อมโยงกันทั้งหมด

การกำหนดเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญเพราะต้องทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่าบริษัทมีทิศทางการทำงานแบบไหน และเอกสารหรืองานทั้งหมดก็ควรจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลไฟล์โดยให้ทุกคนในองค์กรเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกบริษัทควรมี 


• ส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานค้นหาวิธีการและ Digital Tools ใหม่ๆ ในการทำงาน

สิ่งที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้กับงานชิ้นต่อไปในอนาคต การส่งเสริมให้พนักงานค้นหาวิธีการและเครื่องมือการทำงานใหม่ๆ จึงเป็นบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานสร้างผลงานได้เต็มศักยภาพและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์


• สร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับผู้ร่วมงานทุกคน

ทุกคนในบริษัทเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ การสร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงานจึงมีความจำเป็นเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีแหล่งการเรียนรู้มากมายให้ได้เลือกสรร ในฐานะผู้นำองค์กรจึงควรให้การสนับสนุนและลงทุนในส่วนนี้ให้มากขึ้น 


• สื่อสารกันให้บ่อยขึ้นทั้งแบบ Online และ On-site

การทำงานยุคใหม่เป็นยุคที่ต้องเน้นการทำงานแบบ Collaboration จึงควรสื่อสารกันให้มากขึ้นในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือพบปะกันจริงๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่หลายๆ ออฟฟิศเริ่มกลับมาทำงานโดยใช้วิธีแบบ Hybrid มากขึ้น 

6 Skills สำคัญที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ขาดไม่ได้

ถึงเวลาพก Skill ติดตัวเพิ่มเติมกันแล้ว ผู้ประกอบการคนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองยังขาดทักษะด้านไหนที่มีความจำเป็นในปัจจุบัน มาอัปเดตเพิ่มเติมกันได้ในส่วนนี้ โดยทักษะทั้งหมดที่เราได้หยิบยกมานั้นอ้างอิงมาจาก The Future of Jobs Report ของ World Economic Forum และ SEAC ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน 


• รู้รอบ รู้ลึก (T-Shaped & M-Shaped Skills)

หากต้องการก้าวให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ได้เปรียบกว่าเพราะรู้เยอะกว่า ผู้ประกอบการยุคใหม่จึงควรเป็นคนที่มีลักษณะแบบรู้กว้างและรู้ลึก หรือที่เรียกกันว่า  T-Shaped & M-Shaped Skills ฟังดูเหมือนยาก แต่ก็สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเน้นเรียนรู้แบบรอบด้าน บริหารแนวคิดและจัดการเวลาอย่างเป็นระบบ รวมถึงทำงานร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น


• มีองค์ความรู้ด้านการเงินและข้อมูล (Data & Financial Literacy)

การทำธุรกิจกับเรื่องการเงินเป็นของคู่กัน ทักษะนี้จึงเป็นเรื่องขาดไม่ได้ไม่ว่ายุคไหน คนเป็นผู้ประกอบการโดยพื้นฐานต้องรู้จัก พื้นฐานการทำบัญชี งบการเงิน วิธีคำนวณสภาพคล่องของบริษัท รวมถึงเรื่องภาษี เพื่อจะได้เข้าใจสภาพการเงินของบริษัท และถ้าอยากอัปสกิลให้เหนือกว่าก็ควรมีองค์ความรู้เรื่อง Data เพื่อทำให้บริษัทมีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น วิเคราะห์ได้ตรงจุดแม่นยำและได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์


• เข้าใจการคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม (Analytical Thinking and Innovation)

การคิดเชิงวิเคราะห์คือทักษะการคิดที่แยกแยะส่วนประกอบต่างๆ ตามเหตุและผลเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นระบบชัดเจน ส่วนการคิดเชิงนวัตกรรมคือการค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม หากผู้ประกอบการเป็นคนที่มีความคิดทั้งสองแบบผสานรวมกันก็จะกลายเป็นผู้นำองค์กรที่มีศักยภาพ สามารถกำหนดนโยบาย วางแผนแผนงาน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการได้อย่างน่าสนใจ 


• สร้างการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติหรือลงมือทำจริง (Active Learning and Learning Strategy)

ปัจจุบันวิธีการเรียนรู้มีอยู่หลายรูปแบบ แต่หนึ่งในวิธีการที่สร้าง Productivity มากที่สุดคือการเรียนแบบ Active Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์หรือมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้นั้นๆ ซึ่งทำได้หลายวิธีตั้งแต่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหากรณีศึกษา ไปจนถึงทดลองลงมือทำจริง สำหรับคนเป็นผู้ประกอบการอาจมีเวลาไม่มาก แต่ก็สามารถเริ่มต้นลงมือทำได้แถมยังเป็นการช่วยเปิดพื้นที่ได้ไปพบปะกับคนใหม่ๆ อีกด้วย  


• เป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคม (Social Influence) 

หลายคนอาจจะเคยเห็นนักธุรกิจชื่อดังระดับโลก ออกมาทวิตข้อความอันเดียวแล้วสร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการ หรือผู้ประกอบการในไทยหลายๆ คนก็ออกมาเคลื่อนไหวในหลากหลายประเด็นทางโซเชียลมีเดีย ในฐานะผู้ประกอบการ การใส่ใจในธุรกิจของตัวเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอถ้าอยากก้าวไปไกลกว่าจุดเดิมที่เป็นอยู่ การมีส่วนร่วมกับสังคมด้วยความจริงใจ มีมุมมองที่ทันโลก จึงเป็นอีกบทบาทสำคัญที่คนเป็นผู้นำองค์กรควรมองเห็นและเป็นให้ได้


• ยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว (Resilient Mindset)

จากทุกสกิลที่ผ่านมา สกิลนี้มีความจำเป็นที่สุดแล้วในเวลานี้ เพราะท่ามกลางวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ความยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจแบบไหน เล็กหรือใหญ่ ถ้าไม่ปรับตัวก็อาจอยู่ไม่รอด และเราเชื่อว่ามันจะเป็น Mindset ที่มีความจำเป็นต่อไปอีกในอนาคต เพราะด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะเป็นชนวนที่สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจของคุณได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ดูแลสภาพจิตใจยังไงในวันที่องค์กรต้องการผู้นำที่เก่งกว่าเมื่อวาน

เรื่องของ #สภาพจิตใจ ก็สำคัญ เพราะคนเป็นผู้ประกอบการหรือผู้นำองค์กรมีเรื่องให้ต้องจัดการมากมาย ทั้งเรื่องการบริหาร การเงิน ไปจนถึงเรื่องคน แทบทุกเรื่องต้องผูกไว้กับคนคนเดียว ไหนจะหาเวลามาพัฒนาตัวเองและองค์กรไปพร้อมๆ กันอีก ถ้าคุณเริ่มไม่ไหวให้ลองทำตามเคล็ดลับที่เราได้นำเสนอมาให้ในวันนี้ ก่อนจะอ่านต่อไปให้วางทุกเรื่องทิ้งไว้แล้วก็ค่อยๆ ทบทวนตัวเองตามไปทีละข้อ


• เข้าใจความต้องการของตัวเอง

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น คนเป็นผู้ประกอบการหรือผู้นำองค์กรมีเรื่องให้ต้องดูแลจัดการหลายส่วน จนอาจทำให้ไม่ได้มีเวลาให้กับตัวเองมากนัก หากเจอปัญหานี้อยากให้คุณลองกลับมาถามตัวเองว่า เราเข้ามาบริหารบริษัทนี้เพื่ออะไร เป้าหมายของการสร้างธุรกิจนี้คืออะไรกันแน่ เพราะมันจะช่วยเติมเต็มในด้านความรู้สึกไปพร้อมๆ กันด้วย 


• รู้สาเหตุและสัญญาณของความรู้สึกในแง่ลบ

นอกจากการรู้สาเหตุของความทุกข์และหมั่นทบทวนความรู้สึกด้วยตัวเอง ตัวคุณเองในฐานะผู้นำองค์กรรวมถึงพนักงานภายในบริษัทก็สามารถเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาจะได้ทราบสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในใจ และนำไปสู่การแก้ไขอย่างทันท่วงที แม้ตอนนี้จะยังไม่มีภาวะหรือโรคใดๆ ก็ตาม เพราะปัญหาบางเรื่องอาจมีความซับซ้อนเกินที่ตัวเราจะเข้าใจในสาเหตุนั้นๆ 


• ยอมรับว่าตัวเองมีความทุกข์แล้วหาคนช่วยเหลือ

ไม่ไหวบอกไม่ไหว! ปัญหาหนึ่งที่มักพบบ่อยสำหรับคนเป็นผู้ประกอบการคือ ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองเหนื่อย เศร้า หรือมีความทุกข์ เพราะหลายคนคิดว่าทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง ทำให้ผู้นำองค์กรหลายคนมักมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตกันมาก แนวทางการแก้ไขคือ ยอมรับว่าตัวเองมีความทุกข์และหาเวลาคุยกับคนที่เชื่อใจมากที่สุดเพื่อระบายความรู้สึกที่มีออกไปทั้งหมด 


• ใช้การพูดคุยแบบเปิดกว้างเพื่อทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น

ในช่วงนี้ที่หลายออฟฟิศเริ่มเปลี่ยนมาทำงานในรูปแบบ Hybrid ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันมากขึ้น และใช้เวลานี้พูดคุยกับคนภายในบริษัทให้มากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องงานก็ได้ ใช้บทสนทนาแบบเปิดกว้างเพื่อทำให้เห็นมุมมองหรือเรื่องราวที่หลากหลาย และสามารถช่วยลดความฟุ้งซ่าน ความเครียด จากการอยู่คนเดียวนานๆ ได้ 


ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.mckinsey.com/business-functions/people-and-organizational-performance/our-insights/unlocking-success-in-digital-transformations
https://www.itday.in.th/seac-opens-the-perspective-of-knowing-deep-knowledge-in-the-form-of-t-shaped-m-shaped-skills-leadership/
https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2020
https://www.fastcompany.com/90567035/5-ways-to-design-a-better-mental-health-future-for-a-stressed-out-workforce