สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สตาร์ทอัพเกษตรของไทยและจีน ระดมทุนสวนกระแสยุคโควิด มุ่งใช้ดีพเทคสู่ต้นน้ำ

บทความ 4 พฤษภาคม 2564 3,418

สตาร์ทอัพเกษตรของไทยและจีน ระดมทุนสวนกระแสยุคโควิด มุ่งใช้ดีพเทคสู่ต้นน้ำ


การสร้างระบบนิเวศด้านเกษตรมีความสำคัญอย่างสูงมาก เพราะตอบโจทย์ด้านความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร และสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่เกือบหนึ่งในสามของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศยิ่งใหญ่อย่างจีนและประเทศไทยที่เป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม ที่มีนโยบายเร่งผลักดันและขับเคลื่อนการสร้างสตาร์ทอัพเกษตรใหม่ ๆ ด้วยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศทีจะทำให้เกิดการขยายการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยที่ จีน ที่ถือเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของโลกที่มีความพร้อมทั้งเป็นผู้ผลิต และจำนวนประชากรอันดับหนึ่งของโลกกว่า 1,400 ล้านคน ที่เป็นผู้บริโภคสร้างตลาดที่น่าสนใจสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนของจีดีพีในภาคเกษตร
ร้อยละ 8.6 แต่ด้วยนโยบายการผลักดันด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตรของจีนที่มีความชัดเจน รวมถึงต้องการสร้างความมั่นคงในการผลิตอาหาร จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างหลากหลาย จากความร่วมมือการพัฒนาตั้งแต่งานวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนาจากบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เห็นการเกษตรสมัยใหม่ของจีนที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างครบห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม เช่น การปลูกข้าวทนน้ำเค็ม การใช้โรงเรือนปลูกพืช การใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรทางการเกษตรมากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมด้านตลาดสินค้าออนไลน์ตั้งแต่การส่งเสริมเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ขายผ่านแพลตฟอร์มการค้าต่าง ๆ

ส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาทางการเกษตรอย่างตอบโจทย์อย่างหลากหลาย โดยสตาร์ทอัพเกษตรเหล่านี้ได้เติบโตมีมูลค่าสูงระดับยูนิคอร์น อย่างเหม่ยช่าย ที่ขายผักสดออนไลน์ รวมไปถึงขยายการระดมลงทุนได้อย่างสูงมากแม้ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เห็นได้จากรายงานการระดมทุนของสตาร์ทอัพด้านเกษตรอาหารของจีน ปี 2020 โดยการรวบรวมของ AgFunder และ BitexBite โดยพบว่า การลงทุนด้านเกษตรอาหารมีมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากปีที่แล้ว ต่างจากภาพรวมในภาคการระดมทุนในทุกภาคส่วนในจีนนั้นลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญด้านเกษตรและอาหารจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ตามกระแสจากการปรับตัวในยุคโควิด ทำให้การเติบโตด้านการขายของออนไลน์เติบโตอย่างมาก สินค้าเกษตรก็เช่นกัน กลุ่มร้านขายของชำออนไลน์ (E-Grocery) ยังครองอันดับหนึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2019 ที่มีระดับการระดมทุนขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 108,000 ล้านบาท โดยสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดการทำตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถรวมสินค้าเป็นจำนวนมาก ซื้อโดยตรงจากฟาร์ม และบริษัทผลิตอาหาร ร่วมกับการบริหารจัดการขนส่ง เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง โดยเห็นได้จากการได้รับเงินลงทุนระดับซีรีส์ F ด้วยการประเมินมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 90,000 ล้านบาท ของ Missfresh ที่สามารถจัดการคลังสินค้าขนาดเล็กเพื่อลดเวลาในการจัดส่งและต้นทุนในระบบความเย็น มีข้อสังเกตุหนึ่งว่าจำนวนข้อตกลงลดลงร้อยละ 10 เนื่องจากนักลงทุนจะมองหาการลงทุนในส่วนเกษตรต้นน้ำมากขึ้น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การบริหารจัดการฟาร์มและโลจิสติกส์เข้ามาร่วมสนับสนุนมากขึ้น

ในปี 2020 สตาร์ทอัพของจีนในประเภทต้นน้ำระดมทุนได้รวม 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 42,000 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพผู้ผลิตโดรน XAG ที่การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์ม ได้รับการลงทุนในรอบซีรีส์ C มูลค่า 174 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5,220 ล้านบาท นอกจากนี้จากนโยบายของรัฐบาลกลางของจีนได้ผลักดันการรวมฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่การดeเนินงานแบบอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างซินไบโอที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความั่นคงด้านการเกษตรและอาหาร สตาร์ทอัพ CapitalBio Technology พัฒนาด้านความปลอดภัยของอาหารด้วยการปรับปรุงพันธุ์โมเลกุล มีมูลค่าก่อนเข้าตลาดหุ้น 116 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,480 ล้านบาท รวมถึงมีสตาร์ทอัพด้านนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ที่จะเกิดการเร่งและผลักดันระบบนิเวศเกษตรของจีนที่จะสร้างสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาดึงดูดนักลงทุนให้มากขึ้นด้วย

ถ้ากลับมามองถึงประเทศไทยที่มีจีดีพีด้านการเกษตรใกล้เคียงกับจีนไม่ถึงร้อยละ 10 โดยเน้นการส่งออกในรูปวัตถุดิบไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ระบบนิเวศสตาร์ทอัพการเกษตรของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชัดเจนในการผลักดันและเร่งให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่จะเข้าเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมการเกษตรไทย ซึ่งถ้ามองในแง่ของงบการระดมทุนระดับ Seed สูงถึงร้อยละ 64 โดยเงินลงทุนรวม 677 ล้านบาท หรือ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกระจายไปในหลากหลายกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มของการบริหารจัดการฟาร์ม มีการลงทุนสูงสุด และสตาร์ทอัพด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง ได้รับเงินลงทุนน้อยที่สุด เพราะยังมีบริษัทอยู่จำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่มีเงินลงทุนเฉลี่ยต่อบริษัทสูงสุดและเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากกระแสความต้องการสินค้าเกษตรปลอดสารพิษและการทำเกษตรในเมืองเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงปี 2019 ที่เรียกว่าเป็นช่วงวิกฤติโควิด ก็ยังเห็นการประกาศการระดมทุนครั้งใหญ่ของ Ricult มูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท สตาร์ทอัพใช้แผนที่ดาวเทียมและ Machine Learning ในการวางแผนการเพาะปลูก มีเกษตรเข้ามาใช้ในระบบกว่า 300,000 คน และ Freshket มูลค่า 90 ล้านบาท ตลาดสออนไลน์สินค้าเกษตรสำหรับร้านอาหาร เมื่อสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า เทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้จริง จะมีนักลงทุนพร้อมร่วมมือสนับสนุนการเติบโตอย่างแน่นอน เพราะในเมืองไทยมีนักลงทุน และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกองทุนรวมกันเกือบ 3,000 ล้านบาท

ดังนั้น ขอฝากส่งท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคคนไทยทั้งภาครัฐ เอกชน และทุก ๆ คน ร่วมสนับสนุนแพลตฟอร์มคนไทยกันให้มากขึ้น เมื่อมีการใช้มากขึ้นสตาร์ทอัพก็รีบปรับปรุงประเด็นปัญหาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ให้เกษตรกรไทยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพผลิต ลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น...ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน เราจะเติบโตไปด้วยกัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://agfundernews.com/china-2021-agrifood-investment-report-released.html

https://www.foodingredientsfirst.com/news/agfunder-heralds-the-golden-era-of-chinas-agri-food-tech-ecosystem.html

โดย มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
       ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)