สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมเชิงศิลป์ วัฒนธรรม และมานุษยวิทยา

บทความ 11 กรกฎาคม 2564 12,948

นวัตกรรมเชิงศิลป์ วัฒนธรรม และมานุษยวิทยา


หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดกำเนิดแรกของนวัตกรรม” เรียกได้ว่าความคิดสร้างสรรค์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มักจะใช้ควบคู่กันเพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรม โดยในบางครั้ง หลายนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากการตกผลึกความรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรม หรือมานุษยวิทยา เสริมด้วยแนวคิดใหม่ หรือเทคโนโลยีบางอย่าง เกิดเป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคม และหนึ่งในนั้น คือ นวัตกรรมเชิงศิลป์ (Aesthetic Innovation) ทั้งดนตรี ศิลปะ และสันทนาการ และ นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ซึ่งเป็นประเด็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในอนาคต

ตัวอย่างนวัตกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรม หรือมานุษยวิทยา เช่น ด้านทัศนศิลป์ (Visual Arts) ที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในวงการศิลปะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านวิธีผลิตผลงานในรูปแบบสื่อที่แตกต่างจากเดิม เช่น การใช้เทคโนโลยี AR และ VR ในการจัดแสดงงานนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ สำหรับด้านการจินตนาการศิลปะการแสดงแบบใหม่ (Re-Imagine Performing Arts) ได้เริ่มมีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอด้วยการผสมผสานระหว่างศิลปะ ดนตรี การแสดง และเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ยกตัวอย่าง โครงการโพธิเธียเตอร์ (Bodhi Theatre) ที่เป็นผลงานการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะสามมิติแบบล้ำ ๆ ด้วยการใช้ 3D Projection Mapping หรือเทคนิคที่ใช้โปรเจกเตอร์มาฉายแอนิเมชั่น และกราฟฟิกต่าง ๆ จนเกิดเป็นแสง สี เสียงบนพื้นผิว ทำให้วัตถุ หรือสถานที่นั้นเคลื่อนไหวดูราวกับมีชีวิต ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมจะได้รับทั้งความรู้ด้านพุทธศาสนา พร้อมกับความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจไปด้วย อีกตัวอย่างในงานเฉลิมฉลองปีใหม่ของประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่มีการใช้โดรน 2,000 ลำในการแปรขบวนตัวอักษรแทนการใช้พลุไฟ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างความประทับใจในรูปแบบใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับชม อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นด้วย


สำหรับในวงการดนตรี เทคโนโลยี AR และ VR เริ่มเข้ามามีบทบาทเช่นกัน จากเดิมที่ต้องเดินทางไปรับชมในสถานที่จัดงาน กลายเป็นการรับชมคอนเสิร์ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือส่วนตัวแบบเอ็กคลูซีฟได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านดนตรีอย่างวิธีฟิกเกอร์โน้ต นวัตกรรมจากประเทศฟินแลนด์ที่ระบุตัวโน้ตด้วยสีสันและรูปร่างต่างๆ ช่วยให้ผู้เรียนและเด็กที่พิการทางสมองรับรู้ตัวโน้ตได้ชัดเจนขึ้น ช่วยเรียนรู้ดนตรีได้เร็วขึ้นกว่าวิธีแบบดั้งเดิม และช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของผู้เรียนที่เป็นผู้ทุพพลภาพ เด็กอนุบาล และเด็กนักเรียนที่อายุน้อยอีกด้วยเช่นกัน

การประยุกต์ใช้นวัตกรรมไม่หยุดอยู่เพียงแค่ในวงการศิลปะเท่านั้น ในด้าน ศาสนา (Religions) เอง ก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้สอดรับกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน อย่างโครงการ “เรียนรู้ รักษ์ วัดโพธิ์” ที่มีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในสถานที่จริง ทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมสามารถซึมซับ ดื่มด่ำกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ และหลักธรรมคำสอนผ่านเทคนิคการนำเสนอ ร่วมกับการชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมในวัดโพธิ์ไปพร้อมกันหรือการพัฒนาแพลตฟอร์ม Jariah ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนเงินบริจาคตามหลักศาสนาอิสลาม ที่มีจุดมุ่งหมาย คือนำเงินบริจาคไปใช้ในสาธารณประโยชน์ การพัฒนาแพลตฟอร์มให้คำแนะนำเพื่อช่วยเหลือสุขภาวะทางจิตใจซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มอาสาสมัครคริสเตียนในประเทศไทย หรือการรณรงค์ด้านความรับผิดชอบร่วม ซึ่งเป็นงานเพื่อสังคมรายปีของคริสตจักรเอวันเจลิคัลลูเทอรันแห่งฟินแลนด์ที่มีพันธกิจหลัก คือ การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เป็นกระบอกเสียงให้มองเห็นความทุกข์ยากในที่ห่างไกล และช่วยให้องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมอื่นๆ เป็นที่รู้จัก การรณรงค์นี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 70 ปี จะเห็นได้ว่าการนำนวัตกรรมมาใช้ให้สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติในทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ล้วนส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความน่าสนใจในการพัฒนาต่อไป

สำหรับอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในสังคมคือ การยกระดับภูมิปัญญาพื้นถิ่น (Innovation from Local Wisdom) ซึ่งการส่งเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่นวัตกรรมจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจด้านวิถีชีวิต หรือด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมควบคู่กับรักษาเอกลักษณ์อย่างยั่งยืน ตัวอย่างแนวทางการพัฒนา เช่น ภูมิปัญญาการตกปลาในน้ำแข็งของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งปัจจุบันมีการต่อยอดพัฒนาอุปกรณ์ตกปลาในน้ำแข็ง เช่น เหยื่อทั้งแบบธรรมชาติ และเหยื่อสังเคราะห์กลิ่นต่างๆ ไฟฉายติดศีรษะสำหรับการตกปลาน้ำจืดเบอร์บอตตอนกลางคืน และการพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์เพื่อให้ได้ชุดตกปลาที่ทำให้สามารถอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิต่ำมากได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานเส้นทางคริสต์มาส ณ เกาะเซวราซาริ (Seurasaari) ในเมืองเฮลซิงกิ โดยจัดกิจกรรมการร้องเพลง การละเล่น การเล่านิทาน และหลักสูตรกิจกรรม เพื่อสร้างการมีความส่วนร่วมระหว่างเด็กๆ และชุมชน และยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจ ทำให้สามารถเสริมสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น ทั้งนี้ ในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการยกระดับงานหัตถกรรม คือ โครงการ VT THAI (วิถีไทย) ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นเรื่องงานคราฟท์ฝีมือคนไทย ที่ชูศิลปหัตถกรรม รวมถึงอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวบ้านผสานกับดีไซน์สมัยใหม่จนประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ

อีกหนึ่งแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการนำเอกลักษณ์ด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnic Diversity) มาผนวกกับไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์คุณค่า เช่น การใช้เทียนที่ละลายวาดลวดลายเรื่องราววิถีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งเเวดล้อมรอบๆ ตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวม้งบนผืนผ้า การพัฒนานี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากศิลปะลายผ้าของชาวเขาเผ่าม้งแล้ว  ยังส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดการเรียนรู้ในด้านมานุษยวิทยา (Anthropology) เเละรู้สึกอยากจะอนุรักษ์เรื่องราวเหล่านี้ไว้อีกด้วย ทั้งนี้ หนึ่งในกรณีศึกษาของประเทศฟินแลนด์เกี่ยวกับเรื่องราวของชนพื้นเมืองชาวซามิ ซึ่งทางสภาซามิได้วางแผนการสร้างศูนย์วัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการรวมวิถีชีวิตสมัยใหม่เข้ามาในวัฒนธรรมดั้งเดิม ในลักษณะที่จะรักษารากฐานทางวัฒนธรรมของตนควบคู่ไปกับการสร้างสังคมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นทั้งกรณีศึกษาในประเทศไทย และกรณีศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ที่เป็นกลุ่มประเทศผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมของโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เชื่อว่าการนำศิลปะ วัฒนธรรม และมานุษยวิทยา มาบูรณาการจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ช่วยยกระดับคุณค่าของผลงาน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในหลากหลายมิติ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิง:

Image Credit:

โดย อธิชา ชูสุทธิ์
       นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)