สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

อาชีพแห่งอนาคต ทักษะงานแห่งนวัตกรรม

บทความ 10 กันยายน 2562 9,104

อาชีพแห่งอนาคต ทักษะงานแห่งนวัตกรรม


ขณะที่เทคโนโลยีหยั่งรากลึกลงในสังคมดิจิทัลและเติบโตมากขึ้นทุกขณะ เราก็จะเห็นได้ว่ามีงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน ในปัจจุบันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายเพื่อสอดรับความต้องการในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ที่ตอบโจทย์การเสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์ของคนในยุคนี้ หรือ Ethical Hacker ที่ทำหน้าที่เจาะระบบขององค์กรหรือบริษัทเพื่อหาช่องโหว่และคิดแนวทางป้องกัน ในทางกลับกัน หลาย ๆ อาชีพเองก็ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทำงานได้อย่างแม่นยำมากกว่า ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบตามมา

ทางออกสำคัญของเรา

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หนึ่งในทางออกสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจ คือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาศักยภาพคนในประเทศให้ตามทันสังคมแห่งนวัตกรรม โดยงานที่มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ได้ง่ายที่สุด คือ งานประเภทที่ต้องอาศัยการทำแบบเดิมซ้ำ ๆ (Routine Work) และไม่จำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์และตัดสินใจที่ซับซ้อน เราจึงควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขีดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้เด็กยุคใหม่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมให้พัฒนาต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมและอารมณ์ไปด้วย ซึ่งทักษะนี้จะเป็นทักษะสำคัญของงานส่วนใหญ่ในอนาคต และจะช่วยให้เด็กยุคใหม่จัดการปัญหาที่มีความท้าทายและซับซ้อนยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมได้ดียิ่งขึ้น


ไม่เพียงเท่านั้น การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กยุคใหม่ยังครอบคลุมไปถึงการปลูกฝังและส่งเสริมแนวคิดแบบนวัตกรและผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมผ่านระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) ทั้งในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย สร้างการเรียนรู้และกระตุ้นการพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต เช่น การใช้ภาษา การใช้เทคโนโลยี และการใช้วิทยาศาสตร์กับสิ่งรอบตัว เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการนำความรู้ในด้านต่าง ๆ มาบูรณาการข้ามกลุ่ม และสนับสนุนหลักสูตรและทักษะระดับสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจ


การเตรียมความพร้อมเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ในห้องเรียนแบบเก่าอีกต่อไป เด็กยุคใหม่จำเป็นต้องได้เรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมและลงมือทำจริงเพื่อฝึกฝนซ้ำ ๆ จนกลายเป็นทักษะ ได้เห็นผลที่ตามมาจากการตัดสินใจและเกิดการเรียนรู้ในทันที และได้รู้ผลการประเมินและคำแนะนำเพื่อเรียนรู้แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเข้าใจคอยให้คำแนะนำและแนวทางแทนการป้อนข้อมูลให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันอีกด้วย

งานแห่งอนาคต

นอกจากการปรับรูปแบบการเรียนแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการสอนก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้อีกทางหนึ่ง อย่างเทคโนโลยี AR ที่แสดงผลผ่านสมาร์ทโฟนออกมาเป็นภาพจำลองสามมิติก็จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพได้ง่าย และเข้าใจองค์ความรู้ที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น เช่น การมองแบบแปลนอาคารด้วยภาพจำลองสามมิติก็ทำให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนมากกว่าการมองรูปแปลนบนกระดาษทั่วไป เป็นต้น


รูปแบบการทำงานในอนาคตจะเป็นการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี ในเชิงโครงสร้างบุคคลขององค์กรแล้ว ฝ่ายบริหารงานทรัพยากรบุคคลต้องมีทั้งความเข้าใจในรูปแบบใหม่ของสังคมการทำงานและมีทักษะในการบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้องค์กรทำงานได้อย่างลื่นไหล นอกจากนี้ เพื่อนร่วมทีมของเราก็อาจไม่ได้จำกัดแค่มนุษย์ แต่อาจเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดเวลาการทำงานให้เราได้ เช่น ระบบแปลภาษาที่ช่วยร่นเวลาแปลให้น้อยลงและระบบตรวจจับคำผิดที่ช่วยตรวจทานงานของเราให้ออกมาถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เมื่อรวมกับประสบการณ์การทำงานและความสามารถด้านอารมณ์ของนักแปลแล้ว นักแปลก็จะช่วยขัดเกลาภาษาที่ได้จากระบบแปลภาษาให้สละสลวย ทำให้งานที่ออกมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทักษะนี้เองที่จะช่วยเติมเต็มให้มนุษย์ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว


จะเห็นได้ว่าในยุคที่โลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทางออกที่จะช่วยให้เราตามการเปลี่ยนแปลงได้ทันอาจไม่ใช่แค่การวิ่งไล่ตามเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรองรับทุกสภาพการเปลี่ยนแปลง แนวทางเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม และเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่พร้อมรับมือสังคมแห่งนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์

.

แหล่งข้อมูล:

https://medium.com/base-the-business-playhouse/21st-century-skill-%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-21-898985d417ce

https://www.trueplookpanya.com/blog/content/66054/-teaartedu-teaart-teaarttea-