สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA หารือ WIPO เสริมแกร่งระบบนิเวศนวัตกรรมไทย ดันสตาร์ทอัพไทยใช้ IP เชิงพาณิชย์

News 8 เมษายน 2568 87

NIA หารือ WIPO เสริมแกร่งระบบนิเวศนวัตกรรมไทย ดันสตาร์ทอัพไทยใช้ IP เชิงพาณิชย์

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา และคณะเจ้าหน้าที่ เข้าพบหารือร่วมกับนายดาเรน ทัง (Mr. Daren Tang) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ณ สำนักงานใหญ่ WIPO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 โดยการหารือครั้งนี้มุ่งเน้นความร่วมมือการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคธุรกิจและสตาร์ทอัพไทย

นายดาเรน ทัง ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมในโอกาสที่อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ของประเทศไทยสามารถขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 41 จากอันดับที่ 43 ในรอบ 10 ปี ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะภาคเอกชนของประเทศไทยมีความเข้มแข็งและมีความเป็นผู้ประกอบการสูง แต่ยังคงมีความท้าทายในมิติของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา พร้อมย้ำถึงบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย สตาร์ทอัพ และภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดย WIPO ยินดีที่จะสนับสนุนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของไทย ไม่เพียงแต่จดทะเบียนหรือการปกป้องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่การนำทรัพย์สินทางปัญญา ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนให้มากขึ้น 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการวิจัยและการใช้ AI ในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตร เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับการผลิตข้าวและกาแฟ รวมถึงการขยายโครงการไปยังประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนามและญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างความร่วมมือระดับอาเซียน  การส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย (TTO) หรือ สำนักงานอนุญาตสิทธิ์เทคโนโลยี (TLO) และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Support Center: TISC) ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแปลงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจะมีคัดเลือกมหาวิทยาลัยไทยเพื่อร่วมมือกับ WIPO ในการจัดตั้งศูนย์ TISCs และสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มเติม 

การส่งเสริมความรู้และความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพ การพัฒนา Deep Tech Startups รวมถึงความร่วมมือระหว่าง WIPO และ กระทรวงสาธารณสุขไทยในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน และ WIPO ได้เสนอแนะเชิญชวนประเทศเข้าร่วมเครือข่ายวิเคราะห์สิทธิบัตร (Patent Analytics Community of Practice) ของ WIPO เพื่อยกระดับข้อมูลเชิงนโยบาย เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มระดับโลก โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้ การปรับปรุงนโยบายด้าน IP และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ “การร่วมมือกันอย่างจริงจังในระดับนโยบาย การพัฒนาคน และการสนับสนุนเชิงระบบ คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ความร่วมมือกับ WIPO ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมสตาร์ทอัพและมหาวิทยาลัยให้สามารถนำผลงานวิจัย นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้จริง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ NIA ในการขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม"

#NIA #WIPO #GII #Innovation #InnovationPartnership