สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จากการตามล่าหา “ยูนิคอร์น” สู่การรวมฝูงของ “ม้าลาย” และ 3 ตัวอย่างนวัตกรรมในรูปแบบ “ม้าลาย” ของประเทศไทย

15 สิงหาคม 2567 15,135

จากการตามล่าหา “ยูนิคอร์น” สู่การรวมฝูงของ “ม้าลาย” และ 3 ตัวอย่างนวัตกรรมในรูปแบบ “ม้าลาย” ของประเทศไทย

ทุกท่านที่อยู่ในวงการนวัตกรรม หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) อาจจะเคยได้ยินคำว่า “ยูนิคอร์น” (Unicorn)* กันมาบ้าง แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงศัพท์ที่อาจจะไม่ใหม่มาก แต่กำลังเป็นที่จับตามองในวงการสตาร์ทอัพ นั่นก็คือ “ม้าลาย” (Zebra) โดยถึงแม้ว่า “ม้าลาย” นั้น จะไม่ใช่สัตว์ในตำนานที่หาได้ยากอย่าง “ยูนิคอร์น” แต่บทความนี้จะพาไปรู้จักกลุ่มนวัตกรรมที่กำลังมาแรงพร้อมกับกระแสความยั่งยืนที่เข้มข้นของโลก ทำให้คำนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการสตาร์ทอัพของประเทศไทย รวมถึง 3 ตัวอย่างนวัตกรรมในรูปแบบ “ม้าลาย” ของประเทศไทย

 

เมื่อกระแสธุรกิจในรูปแบบบริษัทสตาร์ทอัพเติบโตขึ้น มีทั้งผู้ที่สามารถประสบความสำเร็จจริง และอีกหลายบริษัทที่ไม่มีโอกาสได้เติบโต ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมีทรัพยากรมากมาย ทั้งจากภาครัฐและนักลงทุนเอกชน ที่ทุ่มเทไปกับการตามล่าหาสตาร์ทอัพ ที่พร้อมจะกลายร่างเป็น “ยูนิคอร์น” ซึ่งจากสถิติพบว่าค่อนข้างหาได้ยาก ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2560 มีกลุ่มเครือข่ายที่มีชื่อว่า “Zebra Unites” ซึ่งก่อตั้งโดย คุณ Jennifer Brandel คุณ Mara Zepeda คุณ Astrid Scholz และคุณ Aniyia Williams ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ นั่นคือ “ม้าลาย” ซึ่งแนวคิดนี้กำลังเริ่มได้รับความสนใจ และมุ่งส่งเสริมให้ผู้พัฒนาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคำนึงถึงผลกระทบร่วมกันมากขึ้น โดยมีแนวคิดที่ว่า “ม้าลายอยู่กันเป็นฝูง เกื้อกูลกัน” และ “ม้าลายมีสีขาวและดำ หมายถึง การดำเนินงานจะไม่มุ่งไปที่กำไร หรือผลกระทบทางสังคมอย่างเดียว แต่ทั้งสองแนวทางต้องมาควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” โดยสรุป แนวคิด “ม้าลาย” ที่แตกต่างจาก “ยูนิคอร์น” คือ การมองเป้าหมายด้านความยั่งยืน มากกว่าการเติบโตที่รวดเร็ว และผลประโยชน์ของบริษัทจะกระจายไปยังผู้มีส่วนได้เสีย หรือชุมชน นอกเหนือจากการกระจายไปยังผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หรือ สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า “3P” ได้แก่ Profit, People และ Planet หมายถึง เป้าหมายในการสร้างผลกำไรให้แก่บริษัท โดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนควบคู่ไปด้วยกัน

 

 

3 ตัวอย่างนวัตกรรมในที่มีโอกาสเติบโตในรูปแบบ “ม้าลาย” ของประเทศไทย

1. “ตั้งต้นดี: แพลตฟอร์มสำหรับการเสริมสร้างอาชีพแก่ผู้พ้นโทษ” โดย บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด

รูปแบบธุรกิจของบริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด คือการดูแลกลุ่มผู้พ้นโทษทั้งเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการสร้างรายได้ ซึ่งบริษัทฯ มีการเติบโตได้ดีจากการมีกลุ่มผู้พ้นโทษ สามารถออกมาทำอาหารในศูนย์อาหารของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) ทั้งนี้ บริษัทต้องการเติบโตต่อ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในศูนย์อาหาร ทำให้ไม่สามารถรับกลุ่มผู้พ้นโทษได้มากกว่านี้ จึงออกแบบการพัฒนาทักษะของกลุ่มผู้พ้นโทษ ให้ขยายออกไปเป็นแรงงานในเครือบริษัทใหญ่ และอีกช่องทาง คือการสร้างจุดขายอาหารจานด่วนตามร้านสะดวกซื้อ นอกเหนือจากในศูนย์อาหารเดิม ซึ่งทางบริษัทได้รับการสนับสนุนโครงการแพลตฟอร์มการอบรมและสร้างอาชีพแก่ผู้พ้นโทษ โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อขยายกลุ่มจำนวนผู้พ้นโทษที่รับมาดูแล และลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม รวมถึงเป็นประโยชน์ด้านการติดตามช่วยเหลือนอกสถานที่ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบริษัทแล้ว กลุ่มผู้พ้นโทษยังสามารถเรียนรู้เพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อการกลับเข้าสู่สังคมอย่างสมบูรณ์ทั้งด้านรายได้ และด้านสุขภาพจิต ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปทำงานใกล้ภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อที่สามารถจะกลับไปดูแลครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ นอกจากนี้ โครงการยังมองถึงเรื่องความยั่งยืนในการพัฒนาแรงงาน และสร้างประโยชน์แก่กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้พ้นโทษและครอบครัว กลุ่มพันธมิตรของบริษัท เช่น CJ More และกลุ่ม PTTOR ในการจัดหาแรงงาน ตลอดจนสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การ มหาชน) (TIJ) และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม

 

บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด

www.facebook.com/restartacademy/ 

 

 
2. “Wearswap: แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง remake โดยนักออกแบบรุ่นใหม่และช่างตัดเย็บท้องถิ่น” โดย บริษัท แวร์สแวป จำกัด

แพลตฟอร์มการขายเสื้อผ้ามือสองมีมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ “แวร์สแวป” คิดต่างก็คือ การสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้แก่เสื้อผ้ามือสอง โดยการนำวัสดุผ้ามือสอง ที่หลุดระยะวางขายหรือขายไม่ได้ มาออกแบบโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ และตัดเย็บโดยช่างท้องถิ่น เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ที่เพิ่มคุณค่าและสร้างความโดดเด่นให้ผู้ซื้อ สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำ และในท้ายที่สุดแพลตฟอร์มจะกลายเป็นแพลตฟอร์มสินค้าแฟชั่นหมุนเวียนอย่างยั่งยืนครบวงจร ซึ่งบริษัทมุ่งสร้างพันธมิตรที่เป็นนักศึกษาด้านแฟชั่น หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้มีโอกาสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ สำหรับในส่วนงานตัดเย็บ บริษัทเน้นการกระจายรายได้ไปยังช่างฝีมือท้องถิ่น ในที่สุดแพลตฟอร์มจะสามารถนำเสนอสินค้าที่มีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มจากงานฝีมือ อีกทั้งยังช่วยลดขยะจาก Fast Fashion อีกด้วย

.wearswapwearswap-2

www.wearswap.co.th/ 

 

3. “การบริหารจัดการขยะถุงน้ำยาล้างไตเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์” โดย บริษัท เอคโคแลบ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด

บริษัทได้ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการ Upcycling จากการแปรรูปถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมที่มีความคงทนและมีความสวยงามแปลกใหม่ โดยกระบวนการจัดการนั้น เริ่มตั้งแต่การรับซื้อ การทำความสะอาดถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกวิธี ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมด้วยกรรมวิธีที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว ให้กลายเป็นกระเป๋ารูปทรงทันสมัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะเหลือทิ้งแล้ว ยังเป็นช่องทางการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้จำหน่ายถุงน้ำยาล้างไต เช่น จากผู้ป่วย หรือญาติ รวมถึงชุมชนดินแดง ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระเป๋าที่ร่วมโครงการอีกด้วย

scrapshopkaset 

https://www.facebook.com/scrapshopkaset 

 

จะเห็นได้ว่า วิธีการสร้างผลกำไรให้บริษัท ในรูปแบบการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่แตกต่างและมีคุณค่านั้น มีทางเลือกมากมาย การสร้างกลุ่ม “ม้าลาย” ด้วยรูปแบบการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของบริษัท ที่มาพร้อมกับความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย และหากคุณกำลังสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ วันที่มาถึงช่วงตัดสินใจในการเติบโตของธุรกิจ อาจมีทางเลือกเพิ่มขึ้นว่าจะเติบโตไปในรูปแบบ “ยูนิคอร์น” หรือ เติบโตในรูปแบบการรวมกลุ่มของ “ม้าลาย” ที่ร่วมกันสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร และหากในวันนี้คุณสนใจที่จะสนับสนุนกลุ่มม้าลายเพิ่มเติม เรายังมีลายแทงให้คุณค้นหาได้ที่เว็บไซต์ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) https://social.nia.or.th  พร้อมร่วมให้กำลังใจในการเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคและติดตามการเติบโตของเหล่าม้าลาย ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ NIA

 

*หมายเหตุ

“ยูนิคอร์น” (Unicorn) หมายถึง บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลักษณะโดยรวม คือ ธุรกิจ มีความสามารถให้การเติบโตที่เร็วอย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth) มุ่งเป้าให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น (Shareholders) อย่างสูงสุด และส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งจะวางเป้าหมายเป็นการ “Exit” เป็นการเพิ่มมูลค่าของบริษัทผ่านการระดมทุนแลกกับหุ้นในบริษัท หรือขายต่อให้กลุ่มบริษัทอื่น (ซึ่งในคำศัพท์ที่แบ่งประเภทธุรกิจตามมูลค่า ยังมีคำว่า Centaur (เซนทอร์) Decacorn (เดเคคอร์น) และ Hectocorn (เฮกโตคอร์น) ซึ่งเป็นการอธิบายสถานะของสตาร์ทอัพโดยวัดจากมูลค่าบริษัท เป็น subset ย่อยด้วย)

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

ช่องทางติดต่อ "ผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อสังคม"

  • โครงการ “ตั้งต้นดี: แพลตฟอร์มสำหรับการเสริมสร้างอาชีพแก่ผู้พ้นโทษ” โดย บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัดFacebook: ตั้งต้นดี >> https://www.facebook.com/restartacademy/, E-mail: [email protected]
  • โครงการ “Wearswap: แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง remake โดยนักออกแบบรุ่นใหม่และช่างตัดเย็บท้องถิ่น” โดย บริษัท แวร์สแวป จำกัด
    เว็บไซต์: https://www.wearswap.co.th/, E-mail: [email protected]
  • โครงการ “การบริหารจัดการขยะถุงน้ำยาล้างไตเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์” โดย บริษัท เอคโคแลบ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
    Facebook: Scrap shop ร้านรักษ์โลก >> https://www.facebook.com/scrapshopkaset, E-mail: [email protected]

 

อ้างอิงข้อมูลจาก