สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ชวนท่อง “Shanghai Bay Area” พื้นที่เศรษฐกิจการค้าเสรีของจีน เชื่อมเมือง เชื่อมคน เชื่อมนวัตกรรม

15 สิงหาคม 2565 3,094

ชวนท่อง “Shanghai Bay Area” พื้นที่เศรษฐกิจการค้าเสรีของจีน เชื่อมเมือง เชื่อมคน เชื่อมนวัตกรรม

ชวนโล้สำเภา ท่อง “Shanghai Bay Area” พื้นที่เศรษฐกิจการค้าเสรีของจีน ที่ขึ้นชื่อว่ามีคนรวยอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศ!

ก่อนหน้านี้เราได้พาทุกคนไปทำความรู้จัก Tokyo Bay Area ต้นแบบพื้นที่เศรษฐกิจร้อยปีกันมาแล้ว วันนี้ถึงคราวที่เราขยับไปสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจีนแผ่นดินใหญ่กันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพูดถึงพื้นที่ที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของจีน ก็คงหนีไม่พ้น “Shanghai Bay Area” เพราะพูดแค่ชื่อเราก็จะนึกถึงคำว่า เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ หรือ ภาพผู้หญิงใส่ชุดราตรีนั่งดินเนอร์อยู่บนตึกระฟ้า แต่สิ่งที่เรารู้จักนี้เป็นภาพแทนเพียงเสี้ยวเดียวจากความรุ่งเรืองของเซี่ยงไฮ้เท่านั้น

เพราะที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน รวมถึงเรื่องแฟชั่นและการท่องเที่ยว  เซี่ยงไฮ้จึงกลายเป็นเมืองในฝันและเป็นความภาคภูมิใจชองชาวจีนในช่วงยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าบนพื้นที่อ่าวแห่งนี้ สามารถเจริญเติบโตจนกลายเป็นเมืองในฝันของคนจีนได้ยังไง และอนาคตเซี่ยงไฮ้จะมีทิศทางการพัฒนาเมืองในรูปแบบใดบ้างให้พร้อมรับสมรภูมิทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

Shanghai Bay Area 101 : ทำความรู้จักหัวมังกรทางเศรษฐกิจแบบรวบรัด! พื้นที่นี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนอย่างไร

แรกเริ่มเดิมทีบริเวณเซี่ยงไฮ้และพื้นที่โดยรอบเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่ด้วยพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยมเพราะตั้งอยู่บนพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River) และมีทางออกสู่ทะเล ทำให้เชื่อมเมืองใหญ่ๆ อย่างเจียงซู (Jiangsu) และเจ้อเจียง (Zhejiang) รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่ติดแม่น้ำแยงซีเกียงได้ง่าย จากวันนั้นก็เติบโตเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้งอย่าง สงครามฝิ่น ยุทธการที่เซี่ยงไฮ้ จากสงครามจีน–ญี่ปุ่น รวมถึงเหตุการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าครอบครองจีนแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ. 1949 ที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศถูกจำกัด ผู้คนเริ่มมีปัญหาปากท้อง

ประเทศจีนจึงเริ่มละทิ้งความเข้มงวดทางอุดมการณ์ในอดีต แล้วก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยเติ้ง เสี่ยวผิงเลือกเซี่ยงไฮ้ให้ทำหน้าที่เป็น “หัวมังกร (The Head of the Dragon)” ด้วยการพัฒนาเมืองครั้งใหญ่โดยเฉพาะในเขตผู่ตง (Pudong) ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นจุดการค้าเสรี (Free-Trade Zone) แห่งแรกในประเทศ ส่งผลให้ในปัจจุบันเซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองที่มีผู้คนที่รวยที่สุดในประเทศจีน มีตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และนับเป็นเมืองเดียวในเอเชียตะวันออกที่มี GDP สูงกว่าเมืองหลวงอีกด้วย

และเพื่อทำให้ประเทศจีนก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมและเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) จึงได้เลือกพัฒนาพื้นที่ Shanghai Bay Area ทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่เชิงบูรณาการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2018 ซึ่งแต่เดิมเมืองเหล่านี้เป็นพื้นที่ด้านนวัตกรรมที่เปิดกว้าง แถมเปิดรับนักลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว โดยเป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม หนุนการสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมต่อกันมากขึ้น จนทำให้พื้นที่ Bay Area แห่งนี้สร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจได้ไม่แพ้ Tokyo Bay Area,  San Francisco Bay Area หรือพื้นที่ Bay Area อื่นๆ

งัดไม้เด็ด
! กับกระบวนท่า “One Center, One Belt, Two Axes And Four Areas” บนพื้นที่ Shanghai Bay Area

หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพื้นที่นี้คือ  “One Center, One Belt, Two Axes And Four Areas” ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 – 2035 เห็นแค่ชื่อที่ดูยาวและเหมือนจะเข้าใจยาก แต่จริงๆ แล้วเข้าใจได้ง่ายมาก เพราะมันคือการลากเส้นแบ่งเมืองที่ติดบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงให้เชื่อมถึงกัน โดยยึดเมืองจินซาน (Jinshan) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่อยู่ทางทิศใต้จากเซี่ยงไฮ้ ให้เป็น “One Point” หรือจุดศูนย์กลางด้านนวัตกรรม ศูนย์กลางทางการเงินระดับนานาชาติ และเป็นฮับด้านการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเมืองในพื้นที่รายล้อมให้มีการเชื่อมต่อกันได้มากขึ้นและกระจายความเจริญไปสู่เมืองต่างๆ ดังนี้

เขตด้ามขวานที่หนึ่ง “Ting Wei Development Axis” คือการเชื่อมย่านเมืองทิงลิน (Tinglin) และเขตอุตสาหกรรมจินซาน (Jinshan Industrial Park) ที่จะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ให้เชื่อมต่อกับ One Center อย่างเมืองจินซานเข้าไว้ด้วยกัน สำหรับเขตด้ามขวานที่สอง ก็คือ “Ting-Feng Development Axis” ซึ่งประกอบด้วยเมืองเฟิ่งจิง (Fengjing) และเมืองซู่จิง (Zhujing) ให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่จะเชื่อมกับเขตพื้นที่อุตสาหกรรมในด้ามขวานที่หนึ่ง

สุดท้ายคือการพัฒนาเขต “Central Green Heart Area” ให้กลายเป็นเมืองที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นการพัฒนาย่านใหม่ใน 3 จุดด้วยกัน ได้แก่ย่านจางยาน (Zhangyan) หล่างเซีย (Langxia) และ ลู่เซียง (Luxiang) โดยทั้งหมดมีการเชื่อมโยงถึงกันจนเปรียบได้ว่าเป็น “One Belt” บนพื้นที่ Bay Area แห่งนี้

ปักหมุด! พัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต พร้อมหนุน 4 อุตสาหกรรมที่สร้างการเติบโตให้กับประเทศ

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อระหว่างเมือง Shanghai Bay Area ก็พร้อมยกระดับพื้นที่ให้เป็น “Shanghai Innovation Bay” หรือย่านวิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ของเซี่ยงไฮ้ ที่ทำหน้าที่เป็น Think Tank ที่จะสร้างอิทธิพลไปทั่วโลก ผ่านการพัฒนา 4 อุตสาหกรรมที่สร้างการเติบโตให้กับประเทศ ดังนี้

1. “Life and Health”
นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีน ซึ่งเห็นได้จากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา หรือวัคซีนที่ได้ส่งออกไปประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยเอง เซี่ยงไฮ้จึงมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมพัฒนางานวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยโรค (Disease Diagnosis Technology) และนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของผู้คนให้มากขึ้น

2. “AI”
ถ้ายุคก่อนหน้าเหล็กกล้าคือตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยุคนี้และในอนาคตก็คงหนีไม่พ้น AI ที่กำลังแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรม แม้แต่ในวงการศิลปะที่กำลังฮือฮากันจากผลงานของ AI ที่ชื่อว่า Midjourney จึงได้มีการหนุนพัฒนานวัตกรรมในด้านนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์อัจฉริยะ (Intelligent Medicine) หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Robot) การลงทุนอัจฉริยะ (Intelligent Investment and Consulting) ไปจนถึงเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงอย่าง Virtual Reality และ Augmented Reality เพื่อรองรับโลกในอนาคต

3. “Environment Technology”
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องที่เซี่ยงไฮ้ให้ความสำคัญมาก ซึ่งเห็นได้จากการวางแผนการพัฒนาเขต “Central Green Heart Area” ที่เราได้เล่าไปก่อนหน้านี้ โดย Shanghai Innovation Bay พร้อมทำหน้าที่เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศที่ยั่งยืน ผ่านการบ่มเพาะและเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบเช่น ยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle) อุปกรณ์อัจฉริยะที่ประหยัดพลังงาน (Efficient Intelligent Equipment) ฯลฯ

4. “Culture and Education”
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาคำว่า “Soft Power” กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างพูดถึง แม้แต่รัฐบาลในประเทศต่างๆ รวมถึงจีนก็ต้องหันมาให้ความสนใจ โดยอีกหน้าที่หนึ่งในพื้นที่นี้คือการพัฒนาการศึกษานวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมงานสร้างสรรค์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (Creative Design) ทัศนศิลป์ (Visual Art) เกมออนไลน์ (Online Game) แอนิเมชัน (Animation) ภาพยนตร์ (Film) และสื่ออีกหลายประเภทที่จะทำเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล  

จากแผนการพัฒนาทั้งหมดกำลังชี้ให้เห็นว่า Shanghai Bay Area กำลังมุ่งสู่การพัฒนาแบบรอบด้าน เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในทุกมิติ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และนี่เป็นเพียงพื้นที่เดียวของประเทศจีนเท่านั้น เพราะยังมีเมืองสำคัญอีกหลายเมือง อย่าง ปักกิ่ง (Beijing) เซินเจิ้น (Shenzhen) ที่จะเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีนในอีกระดับ

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.china-briefing.com/news/shanghai-industry-economics-policy/
https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2018/12/19/40-years-ago-deng-xiaoping-changed-china-and-the-world/
https://www.chinadaily.com.cn/a/201906/20/WS5d0b3dc8a3103dbf14329593.html
https://workpointtoday.com/ai-midjourney/
https://thestandard.co/shanghai/
https://www.shanghai-bay.com/en/introduction/