สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปัญหาความยากจนและโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ผ่าน "ระบบการจัดการขยะ" ที่มีประสิทธิภาพ

8 มกราคม 2566 5,699

ปัญหาความยากจนและโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ผ่าน "ระบบการจัดการขยะ" ที่มีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่นานาชาติต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development Goals: SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ให้บรรลุภายในปี 2573 ซึ่งกำหนดให้การขจัดปัญหาความยากจนในทุกมิติและทุกพื้นที่นั้นอยู่ในเป้าหมายที่หนึ่ง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องตระหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังจะเห็นได้จาก “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ประเทศที่มีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องความยากจนจริงจังมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยประเทศจีนนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายในการบรรเทาความยากจนตาม วาระปี 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ The 2030 Agenda for Sustainable Development ขององค์การสหประชาชาติ ได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ถึง 10 ปี อีกทั้งยังมีคนจนอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

 

ปัญหาด้านความเป็นอยู่ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไทยหลายคนออกจากความยากจนไม่ได้

สำหรับสถานการณ์ปัญหาความยากจนในประเทศไทยจากรายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2564 พบว่า ปัญหาความยากจนไม่ได้มีเพียงมิติด้านความมั่นคงทางการเงินเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงมิติด้านความเป็นอยู่ มิติการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และมิติด้านการศึกษาด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าความยากจนหลายมิติมีแนวโน้มกลับตัวไปในทางที่ดีขึ้นและมีความขัดสนในมิติต่าง ๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความเป็นอยู่ก็ยังคงเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งยังคงติดกับดับความยากจน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากยังขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี การจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง การถือครองทรัพย์สิน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะในการเดินทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ขาดตกบกพร่องทำให้ปัญหาความยากจนยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงในสังคมไทย

ที่มา: รายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2564 โดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม,
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

การจัดการขยะ ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามในแง่การแก้ปัญหาความยากจนด้านความเป็นอยู่ของประเทศไทย

ปัจจุบันการจัดการขยะมักถูกพูดถึงในแง่ของการรักษ์โลก การลดโลกร้อน หรือการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามองในแง่ของความยากจนแล้ว การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพแวดล้อมของครัวเรือนไม่ดี ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนโดยตรง โดยรายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2564 ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าปัญหาการจัดการขยะก็ยังคงเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อความยากจนของคนไทยในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 14.4 เนื่องจากการกำจัดขยะภายในครัวเรือน เป็นเครื่องบ่งชี้สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยของครัวเรือน ซึ่งการกำจัดขยะอย่างไม่เหมาะสม อาทิ การเผา การฝังกลบ การทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองหรือที่สาธารณะ จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่าง ๆ ตามมา ทั้งเขม่าควันจากการเผา กลิ่นเหม็นจากน้ำเน่าเสีย และส่งผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพสภาพแวดล้อมในบริเวณที่อยู่อาศัยของครัวเรือน รวมทั้งยังจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ซึ่งหากการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะถูกหยิบยกมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยากจนให้ทุกคนตระหนักรู้แล้ว อาจทำให้คนในสังคมไทยให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการขยะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยได้มากขึ้น

ภาพสถานการณ์ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพมหานคร จากเว็บไซต์ข่าว มติชนออนไลน์

 

ภาคอีสานติดโผอันดับหนึ่งสัดส่วนคนจนหลายมิติที่ขัดสนในมิติปัญหาความเป็นอยู่ ด้านการกำจัดขยะ

จากการศึกษาดังกล่าวยังพบว่า คนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลมีความเป็นอยู่ที่ดีน้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล โดยมีสัดส่วนคนจนหลายมิติที่ขัดสนด้านการกำจัดขยะมากกว่าถึง 4.7 เท่า เนื่องจากการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะที่ถูกวิธีของคนนอกเขตเทศบาลยังคงเป็นปัญหาอยู่มาก โดยส่วนใหญ่พบปัญหาการฝังกลบ การเผาขยะแบบไม่คัดแยก และปัญหากลิ่นเน่าเหม็นที่เกิดจากขยะอาหารเปียก หรือในบางพื้นที่พบว่ามีการสร้างบ่อขยะในพื้นที่ชุมชนนอกเขตเทศบาลเพื่อบริการพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาล แต่ขาดการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยนอกเขตเทศบาลมักประสบปัญหาด้านกลิ่นและควันอยู่เป็นประจำ

เมื่อพิจารณาพื้นที่ตามภูมิภาคแล้ว พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนคนจนหลายมิติที่ขัดสนในมิติปัญหาความเป็นอยู่ ด้านการกำจัดขยะ สูงที่สุดของประเทศถึงร้อยละ 13.1 รองลงมาได้แก่ภาคใต้ ร้อยละ 10.6 ภาคเหนือ ร้อยละ 8.6 ภาคกลาง ร้อยละ 4.0 และกรุงเทพฯ ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

ที่มา: รายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2564 โดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม,
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

Kamikatsu ตัวอย่างเมืองชนบทเล็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นที่มีนวัตกรรมด้านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจนติดอันดับเมืองที่ปลอดขยะอันดับต้น ๆ ของโลก

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องผู้ผลิตขยะพลาสติกเป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นประเทศที่มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกด้วยเช่นกัน โดยคามิคัตสึเป็นเมืองชนบทเล็ก ๆ ของจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถติดอันดับเมืองที่ปลอดขยะอันดับต้น ๆ ของโลกได้ ด้วยการมีศูนย์การเรียนรู้ Zero Waste Academy ที่ออกแบบให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการแยกขยะแบบละเอียดถึง 45 ประเภท พร้อมทั้งมีโรงคัดแยกขยะที่สามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนสามารถนำขยะมารีไซเคิลได้เป็นจำนวนมาก โดยสิ่งของเหล่านั้นจะนำไปอยู่ที่ร้าน Kuru Kuru ซึ่งชุมชนสามารถมาเลือกสิ่งของไปใช้ต่อได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าใหม่ในการอุปโภคได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีรายได้จากการศึกษาดูงานของสถานศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชน รวมไปถึงเมืองคามิคัตสึ ได้เปรียบในแง่ความสวยงามของทัศนียภาพที่เป็นหุบเขา และการติดอันดับเมืองที่ปลอดขยะมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ชุมชนหันมาประกอบการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยชูจุดขายเมืองปลอดขยะที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติกลางหุบเขา

เราจะเห็นได้ว่าการจัดการขยะของเมืองคามิคัตสึ มีความพยายามที่จะนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้ชุมชนมีความเข้าใจในขยะของตัวเอง สามารถนำขยะสภาพดีกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมของชุมชนน่าอยู่ ลดมลภาวะจากขยะที่อาจกระทบต่อสุขภาพของชุมชนได้มากขึ้น และยังต่อยอดด้านการท่องเที่ยวชุมชนได้อีกด้วย


ภาพแสดงโรงคัดแยกขยะทั้งหมด 45 ประเภท ในเมืองคามิคัตสึ จังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น จากเว็บไซต์ nippon.com 

 

การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดการขยะ สามารถขจัดความยากจนได้ในทวีปแอฟริกา

จากงานวิจัยประเด็น การขจัดความยากจนโดยการปรับปรุงการเก็บขยะ: กรณีศึกษาของแอฟริกา หรือ Poverty eradication by improving waste collection: an Africa case study (2020) ได้กล่าวถึงชุมชนรายได้ต่ำย่านชานเมืองอาบีจาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ไอวอรีโคสต์ ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาไว้ว่า การจัดระบบและคิดค้นนวัตกรรมในกระบวนการเก็บขยะของบริษัทเก็บขยะเอกชน ทำให้ชุมชนเกิดการจ้างงานในกระบวนการจัดการขยะมากยิ่งขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนถูกจ้างงานเพื่อการจัดการขยะถึงร้อยละ 73 รวมถึงสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนที่มีรายได้ต่ำจำนวน 20 แห่งได้รับการยกระดับ และสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น เช่น น้ำดื่มสะอาดขึ้น ระบบสุขาภิบาลดีขึ้น มลพิษจากการฝังกลบขยะลดลง หรือการเข้าถึงการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย (เนื่องจากขยะกีดขวางทางสัญจรลดลง) ซึ่งการสำรวจประชาชนกว่า 402 ครัวเรือนมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และลูกหลานมีงานทำมากขึ้นจากการเกิดกระบวนการใหม่ ๆ ในการเก็บและจัดการขยะ เช่น การเกิดธุรกิจ re-cycle ขยะ (ซึ่งภายหลังเป็นที่นิยมมาก ๆ ในประเทศแถบแอฟริกา) อีกทั้งยังก่อให้เกิดการดึงดูดผู้ประกอบการใหม่ ๆ เข้าไปประกอบการในชุมชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชุมชนมีทัศนียภาพที่สวยงามมากขึ้น และเป็นมิตรต่อคนที่สัญจรไปมา ทำให้การจ้างงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอีกด้วย

ภาพพนักงานในบริษัทรีไซเคิลขยะแห่งหนึ่งในเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรีโคสต์
จากเว็บไซต์ dandc.eu และ disrupt-africa.com

 

นวัตกรรมการจัดการขยะในครัวเรือน สามารถบรรเทาความรุนแรงของความยากจน และเพิ่มโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

จากตัวอย่างทั้งเมืองคามิคัตสึ ประเทศญี่ปุ่น และชานเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรีโคสต์ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า การคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาเรื่องขยะ สามารถบรรเทาปัญหาความยากจน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ โดยจะเห็นได้ว่า หากครัวเรือนและชุมชนมีการบริหารจัดการด้านขยะดีขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ดีขึ้น เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน อีกทั้งยังก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ทางอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานจากการคิดค้นระบบใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการเรื่องขยะ การเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในชุมชน และการท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนต่างถิ่นเข้ามาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากทัศนียภาพโดยรวมของชุมชนมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น หากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทยให้ความสนใจและคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง อาจลดความรุนแรงของปัญหาความยากจนในหลายพื้นที่ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และโอกาสทางรายได้ของคนไทยได้มากขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2564. รายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ปี 2564.
  • Anne Briand, Noukignon Kone. 2020. Poverty eradication by improving waste collection: an Africa case study.
  • Julia Bucknall, Christiane Kraus, and Poonam Pillai. 2000. Poverty and Environment: Background Paper for the World Bank Environment Strategy.

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

 

บทความโดย
วงศกร จูเจี่ย (เฟรนด์)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)