สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Checklist! Pitch Deck พิชิตใจ เตรียมไฟล์นำเสนอแบบไหน ถึงชนะใจกรรมการ
👩💻 ฤดูกาลขอทุนเริ่มขึ้นแล้ว! เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายไม่พลาดโอกาสสำคัญในการรับทุน...NIA เลยทำเช็กลิสต์ขึ้นมาเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เตรียมไฟล์พรีเซนต์เอาชนะใจกรรมการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
📂 ก่อนอื่น อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการทำ Pitch Deck มากพอๆ กับการ Pitching เพราะ Pitch Deck ที่ดี จะช่วยให้เรียบเรียงความคิดที่นำเสนอออกมาได้น่าสนใจ และเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นจุดสำคัญ เพื่อให้กรรมการเห็นภาพรวมโครงการทั้งหมด
💬 เริ่มจากข้อมูลพื้นฐาน เพราะหลายคนอาจพลาดตั้งแต่ส่วนสำคัญแรกอย่างการตั้งชื่อโครงการ ซึ่งชื่อที่ดีควรตั้งให้กระชับ ตรงประเด็น และสื่อถึงสิ่งที่จะทำ โดยอย่าลืมเพิ่มคำอธิบายสั้นๆ เพื่อให้กรรมการเข้าใจภาพรวมโครงการทั้งหมด และหากเป็นการขอรับทุนจาก NIA การตั้งชื่อต้องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี
❓ ต่อมาคือไอเดียแก้ปัญหาที่จับ Paint Point ได้อยู่หมัด ข้อมูลตรงนี้จะต้องระบุให้ชัดว่า ปัญหาคืออะไร เป็นปัญหาของใคร และมีวิธีแก้ไขแบบใด สิ่งสำคัญเลยคือ ต้องอย่าลืมนำผลงานของเราเข้าไปอธิบายให้ได้ว่า จะนำมารับมือโดยอาศัยหลักการหรือคุณสมบัติของผลงานอย่างไร เพื่อช่วยให้กรรมการพิจารณาได้ว่า ผลงานของเราสอดรับกับทุนอย่างแท้จริง
👩🚀 อีกทั้ง Business Model ควรใส่เนื้อหาให้เข้าใจง่าย ครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ความสำคัญไปที่วิธีการทำงาน โดยเฉพาะการสร้างรายได้จากกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีแผนการดึงดูดให้พวกเขาเข้ามาซื้อหรือใช้งานอย่างไร ซึ่งอาจใช้ผัง Customer Journey แสดงภาพ เพื่อให้เข้าใจเส้นทางการตัดสินใจของลูกค้าประกอบด้วย
👥 ต่อกันที่ข้อมูลด้านโอกาสและจุดเด่นของโครงการ อย่าลืมว่าทุกตลาดย่อมมีคู่แข่ง ข้อมูลของเราควรแสดงให้เห็นว่า มีจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบอย่างไร ทั้งในเชิงคุณค่าและราคาในตลาดเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือ การวิเคราะห์ธุรกิจ ณ ปัจจุบันว่า เราอยู่ตรงจุดไหน นอกจากนี้ อาจแสดงแนวคิดทางธุรกิจ โดยบอกชื่อเครือข่ายพันธมิตร ฐานลูกค้าเดิม หรือหากมีผลสำรวจตลาด ก็นำมาโชว์เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นได้เช่นกัน
📃 จุดสำคัญที่จะตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า โครงการของเราทำได้จริง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายขึ้นมาลอยๆ คือมีผลการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัย แผนภาพการผลิต หรือกลยุทธ์การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเพิ่มข้อมูลส่วนนี้มาในข้อมูลความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีได้เลย ที่สำคัญหากเป็นการขอทุนกับ NIA ต้องบอกความเป็นนวัตกรรมของผลงานให้ชัดเจน โดยเปรียบเทียบกับของเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน บอกถึงแนวทางการปรับปรุง และระบุถึงความยากง่ายในการลอกเลียนแบบของสินค้า
👩🔬 ในด้านความเชี่ยวชาญของทีม ต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่า ทีมเราพร้อมที่สุด โดยข้อแนะนำสำหรับการระบุข้อมูลแต่ละคน ควรใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสำเร็จในอดีตที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และหากในทีมยังขาดตำแหน่งใด ควรบอกให้ได้ว่า ในอนาคตจะเติมเต็มตำแหน่งที่ขาดไปได้อย่างไร
📅 ส่วนสุดท้ายคือ เนื้อหาที่พูดถึงเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ แผนการทำงาน และสิ่งที่ต้องการในการสนับสนุน โดยเมื่อใส่รายละเอียดของ Timeline ด้านผลตอบแทน อย่าลืมบอกสมมติฐาน ที่มาที่ไปของการคาดการณ์เป้าหมายรายปีที่เราวางไว้ ซึ่งต้องสอดคล้องไปกับ Action Plan ที่มีการบอกสถานการณ์ในปัจจุบัน และแผนที่จะดำเนินการต่อหลังจากนี้ เช่น การทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความพึงพอใจ หรือการยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
สำหรับจุดที่อยากเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการใส่ใจเป็นพิเศษคือ ควรระบุสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนมาให้ชัดเจน โดยนำเสนอรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการพัฒนาผลงาน และอธิบายแผนการใช้เงินด้วยว่า จะนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไรหลังจากนี้
ทั้งหมดนี้ในการนำเสนอ เราอาจใช้วิธีการสื่อสารแบบเดียวกับผู้ฟังทุกกลุ่มไม่ได้ จึงต้องคอยพิจารณาถึงข้อความหรือภาพรวมที่เหมาะสมควบคู่กัน พยายามดึงแก่นสำคัญออกมานำเสนอในเวลาที่พอเหมาะ และสร้างองค์รวมของพรีเซนต์ที่สร้างประสบการณ์ร่วมให้กับผู้ฟังไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://nia.or.th/2022/public/download/detail_presentation_2022.pdf
https://kxinnovation.com/slides_pitch_by_guykawasaki/
https://www.timeconsulting.co.th/what-is-business-model-canvas
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/project-pitching.html