สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จากคนธรรมดา สู่ผู้สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม

บทความ 16 สิงหาคม 2562 5,102

จากคนธรรมดา สู่ผู้สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม


ไม่นานมานี้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีความสามารถด้านนวัตกรรม (Global Index Innovation : GII) ในปี พ.ศ. 2562 พบว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเป็นประเทศอันดับที่ 43 ในกลุ่มประเทศนวัตกรรมทั่วโลกและอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะพาให้นวัตกรรมไทยไปสู่เวทีนวัตกรรมโลกได้ แต่คงดีไม่น้อยหากเราสามารถก้าวไปได้ไกลขึ้นด้วยการพัฒนาจากรากฐานในสังคมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN)

นวัตกรรมสร้างได้ เริ่มจากตัวเรา


คนทั่วไปอาจมองว่านวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัวที่ต้องมีภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐาน แต่อันที่จริงแล้วคนธรรมดาอย่างเราต่างหากที่เป็นด่านแรกของโครงสร้างที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ ทั้งในฐานะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในวันที่พร้อมเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้นำนวัตกรรมมาใช้จริงในวันที่ท้องหิวจนต้องสมาร์ทโฟนมากดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน และเป็นผู้บอกต่อแนวคิดที่น่าสนใจในโซเชียลมีเดียให้คนใกล้ตัวรับรู้

แน่นอนว่าคนที่ใกล้ตัวเราที่สุดย่อมเป็นคนในครอบครัว การพัฒนาในระดับถัดมาจึงต้องเริ่มจากระดับครัวเรือนเพราะเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ โดยเราอาจเป็นผู้ริเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม คอยบอกต่อแนวคิดที่เคยพบเจอมาในระหว่างมื้ออาหาร หรือนำนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ย่อมได้ เช่น สอนให้พ่อแม่ปลูกผักอินทรีย์ในวันหยุดเพื่อเลี่ยงการทานผักที่มียาฆ่าแมลง

และเมื่อครอบครัวเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญและเข้าใจนวัตกรรมมากขึ้นแล้ว แนวโน้มที่การบอกต่อจะกระจายไปไกลกว่านั้นย่อมเพิ่มขึ้นตามมา ในวันหนึ่งคนในครอบครัวของเราจะเริ่มส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้คนในชุมชนใกล้เคียงทำตาม เล่าสู่กันฟัง และขยายต่อไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น เกิดเป็นปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากระดับรากฐานสู่ระดับมหภาค

ตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เห็นได้ชัดเลย คือ กรณีของเพจ “Human of New York” ที่สัมภาษณ์คนทั่วไปที่พบเจอบนท้องถนนเพื่อนำเสนอถึงมุมมองต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ทั้งด้านการใช้ชีวิต ความรัก ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ทัศนคติทางการเมือง ไปจนถึงจุดประกายแรงบันดาลใจแก่ลูกเพจจำนวนกว่าสิบแปดล้านแอคเคาท์ ให้ตระหนักถึงสิ่งที่ตนอาจมองข้ามและลงมือทำบางสิ่งเพื่อสังคมรอบข้าง ซึ่งเพจนี้เองได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพจ “Human of Siam” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อส่งต่อมุมมองจากชาวไทยสู่สายตาของทั้งชาวไทยและชาวโลก

จากกรณีดังกล่าวเราจึงอาจอนุมานได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดาอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย แต่คงไม่ยากเกินไปนักหากเรารู้จักใช้นวัตกรรมที่มีในมืออย่างโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ เพียงแต่เราต้องกล้าที่จะเริ่มคิด ลองลงมือทำ และส่งต่อความรู้ที่ตนมีให้ผู้อื่น เท่านี้เองการกระพือปีกของผีเสื้อจึงจะส่งผลให้โลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

.

แหล่งอ้างอิง


https://www.un.org/sustainabledevelopment/takeaction/ 

http://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/ 

https://www.posttoday.com/world/596125 

http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=3003&filename=index 

https://www.facebook.com/humansofnewyork/

https://www.facebook.com/humansofsiam