สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

PIN 5 ปักหมุด Grooming นวัตกรรมท้องถิ่น สร้างเครือข่ายธุรกิจ จากการพัฒนาภูมิภาค

14 มกราคม 2568 157

PIN 5 ปักหมุด Grooming นวัตกรรมท้องถิ่น สร้างเครือข่ายธุรกิจ จากการพัฒนาภูมิภาค


💻 “ทำธุรกิจ” อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันจริงไหม ? หากปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย ยังส่งผลให้ธุรกิจนวัตกรรมท้องถิ่นขาดโอกาส 

📊 จากข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ประเทศไทยมีสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ จำนวนทั้งสิ้น 2 ล้านแห่ง โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนของสถานประกอบการมากที่สุดคือ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของธุรกิจทั้งหมด

💰 แต่หากมาดูข้อมูลในเชิงรายได้จะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสัดส่วนสถานประกอบการมากที่สุด กลับมีรายได้เพียงแค่ 1,722.5 พันล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถสร้างรายได้มากถึง 3,576.4 พันล้านบาท ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสูญเสียศักยภาพในการดึงดูดเงินลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทางเทคโนโลยี และที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจรายใหม่เช่นกัน

จากปัญหานี้ ‘”ประเทศไทย” จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจนวัตกรรมท้องถิ่น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอแนวทางไว้หลายอย่าง 

📑 ไม่ว่าจะเป็น #การเชื่อมโยงตลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเชิง ‘Economies of Scale’ ที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง #การกระจายอำนาจ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรตามความต้องการ ช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองรองในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และ #การสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย ที่จะทำให้ธุรกิจนวัตกรรมท้องถิ่น เข้าถึงต้นทุนใหม่ๆ ทั้งในเงินทุน องค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต้องการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

🤝 จะเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนั้น NIA จึงมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในรายภูมิภาค ผ่าน “กิจกรรมสร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในส่วนภูมิภาค (Pioneering Innovator Network: PIN)” ต่อเนื่องมาถึง ‘รุ่นที่ 5’ ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และเพิ่มผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในส่วนภูมิภาค รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เตรียมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่เอื้อให้ธุรกิจนวัตกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน และสนับสนุนบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ

👍🏻โดยผลลัพธ์จากการดำเนินกิจกรรมนี้ทั้ง 4 รุ่นที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2562 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี มีจำนวนเครือข่ายนวัตกรรวมทั้งสิ้น 1,229 ราย ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสังคมและภาคชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในพื้นที่ที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในภูมิภาค ผลลัพธ์จากการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาค ทำให้เกิดเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมในพื้นที่ผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เช่น การจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID) ระดับจังหวัดพัทลุงและจังหวัดพะเยา เกิดพื้นที่ทดลองนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เขา ป่า นา เล จังหวัดพัทลุง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทดลองใช้งานในพื้นที่ทดลอง เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองเชียงใหม่ การเชื่อมโยงกลไกในการพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูง (โคดำลำตะคอง) จังหวัดนครราชสีมา ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมอุบลอาร์ตเฟส จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นงานประจำจังหวัดอุบลราชธานีที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินให้คนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเกิดการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง 

🧑🏻‍💻 สำหรับความน่าสนใจของกิจกรรม ‘PIN รุ่นที่ 5’ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้พบกับเหล่าสุดยอดกูรูด้านการพัฒนาแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมและการสร้างแบรนด์ ที่เตรียมพร้อมมาถ่ายทอดความรู้กันครบทุกมิติ ประกอบไปด้วย 6 หัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
• Entrepreneurial Mindset: การสร้างแนวคิดแบบผู้ประกอบการ
• Business Model Navigator: การวิเคราะห์แผนธุรกิจของบริษัท
• Customer Behavior: พฤติกรรมผู้บริโภค
• Market Trends: การวิเคราะห์แนวโน้มการตลาด
• Branding: การสร้างตัวตนของแบรนด์
• Storytelling: การสร้างเรื่องราวของธุรกิจให้ดูน่าสนใจและน่าติดตาม

โดยกิจกรรมในปีนี้จะเริ่มเดินสายกระจายความรู้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาคและขยายไปสู่ระดับประเทศ สามารถพึ่งพาตัวเองในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาคที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ เกิดเป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาค และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานด้านนวัตกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกัน รวมไปถึงเกิดการจ้างงานของธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาค ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคให้เติบโตต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/title_presentation/2023/20231213113926_98680.pdf
https://www.amarintv.com/spotlight/economy/69218 
https://arc.nia.or.th/th/calendarnia/article/detail/id/1/iid/62