สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปักหมุดห้องเรียนนวัตกรรมทั่วไทย! สร้างครู - อาจารย์ ผู้สร้างนวัตกรในสไตล์ “Trainers' LAB”

บทความ 25 พฤษภาคม 2565 1,918

ปักหมุดห้องเรียนนวัตกรรมทั่วไทย! สร้างครู - อาจารย์ ผู้สร้างนวัตกรในสไตล์ “Trainers' LAB”

 

พร้อมปักหมุดทั่วไทย! กับโมเดลสร้างครูและอาจารย์ให้ก้าวทันนวัตกรรมในโครงการ Trainers' LAB

เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมดีๆ มีอยู่ทุกที่ทั่วประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่า NIA เดินหน้าเป็นสะพานเชื่อม (System Integrator) กลไกด้านนวัตกรรมในทั่วทุกภูมิภาคของไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นพัฒนากำลังคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม

NIA จึงร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พร้อมสร้างครู อาจารย์และโค้ช เพื่อถ่ายทอดกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมส่งต่อไปยังเยาวชน ปั้นนวัตกรรุ่นเยาว์ในทุกภูมิภาคทั่วไทย ภายใต้โครงการ “Trainers' LAB” โดยโครงการนี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับครูและเยาวชนในทั่วประเทศได้อย่างไร และพร้อมเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ไหนบ้าง เตรียมปักหมุดไว้เลย!

โครงการ “Trainers' LAB” คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร 

Trainers' LAB หรือโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สร้างนวัตกรอย่างเข้มข้น เกิดขึ้นมาภายใต้ แผนการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชน โดยมีโครงการต่างๆ มากมายที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนและนักศึกษาเป็นหลัก แต่เพื่อเติมเต็มโครงสร้างทางการศึกษาทั้งระบบจึงได้เกิดโครงการ Trainers' LAB ขึ้นมาควบคู่กัน

เพื่อสร้างต้นแบบครู อาจารย์และบุคลากรด้านการศึกษาที่พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในหลักสูตรSTEAM4INNOVATOR ให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดการเรียนรู้ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากผู้มีประสบการณ์ตรงในกระบวนการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ร่วมกับการพัฒนาทักษะในด้านการสอนและทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 โดยในปีนี้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศให้มากขึ้น

4C หัวใจหลักในการพัฒนาแบบ “Trainers' LAB”

สำหรับกระบวนการทำงานในโครงการ Trainers’ LAB ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การอบรมเชิงปฏิบัติการในการสร้างนวัตกรรม การอบรมทักษะการสอนเชิงบูรณาการ การทดลองสอนจริงในห้องเรียนทดลอง (Mocking Class) และการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในการออกแบบการสอนร่วมกัน โดยมี 4C ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาแบบ “Trainers’ LAB” ดังนี้

1. “Content” สร้างแกนการเรียนรู้ STEAM4INNOVATOR และการใช้เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน
2. “Coaching” พร้อมสร้างโค้ชนวัตกรในสถาบันการศึกษา
3. “Connection” เชื่อมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาผลงานนวัตกรรม4. “Cluster” ร่วมกันสร้างเครือข่ายในสถาบันการศึกษาให้เกิดนวัตกรระดับเยาวชนในพื้นที่

โดยแต่ละพื้นที่จะมีการดำเนินการใน 3 ระยะ แบ่งออกเป็น
 - Phase 1 พัฒนาผู้นำศูนย์
 - Phase 2 สร้างโค้ชและเครือข่าย
 - Phase 3 ผลิตนวัตกรในพื้นที่
 และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ตามความต้องการของพื้นที่นั้นๆ

Trainers’ LAB” มีการดำเนินการในพื้นที่ไหนบ้างในปี 2565 

ปี 2565 นี้เรียกได้ว่าเข้มข้นมากขึ้น! เพราะโครงการ Trainers’ LAB พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพทั่วประเทศไทย ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา ดังนี้

“ภาคเหนือ” ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (6 พื้นที่) มีการส่งเสริมบุคลากรของคณะ มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 104 คน โดยมีการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตนวัตกรรม ผ่านการประกวดโครงการนวัตกรรมในหัวข้อ BCG สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี

“ภาคกลาง” ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เน้นสร้างหลักสูตรกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ให้กับนักศึกษาจำนวน 400 คน เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดที่ช่วยให้นักศึกษาสร้างนวัตกรรมจากช่องว่างที่ผู้อื่นอาจจะมองไม่เห็นได้

“ภาคใต้” ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมหาวิทยาสงขลานครินทร์มีหลักสูตรวิศวกรนักนวัตกรรมและนักจัดการนวัตกรรม ผ่านการประกวดโครงการนวัตกรรมในทุกวิทยาเขต สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจะมีโครงการ Gen Z Gen Biz Innovation ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นทั้งการบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและผลักดันเยาวชนที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจาก NIA ในลำดับต่อไป

และ “ทั่วประเทศ” ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีโครงการอาชีวะสร้างสรรค์แปรฝันสู่ธุรกิจ (RRR Award) เป้าหมายสำคัญคือ สร้างทักษะให้แก่เยาวชนอาชีวศึกษาทั่วประเทศมากกว่า 4,500 คนในแต่ละปี มีการสร้างอาจารย์แกนนำและโค้ช รวมกว่า 150 คน

โดยทั้งหมดนี้เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่สำคัญ เพราะการสร้างครูและอาจารย์ที่มีความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมทั่วทุกภูมิภาคจะทำให้สามารถส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับคนรุ่นถัดๆ ไปได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการสร้างมาตรฐานการศึกษาแบบใหม่ที่กระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งการทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” จะขาดสิ่งนี้ไปไม่ได้เลย