สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ทำความรู้จัก “SITE” แบบ Insight! งานมหกรรมนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
รู้ไว้ก่อนเข้าชมงานในปีนี้! กับงานมหกรรมนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อีกไม่นานเราก็กำลังเดินทางเข้าสู่งานที่เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมจากทั่วประเทศไทยกันแล้ว กับงาน “SITE2022” หรืองานมหกรรมนวัตกรรมและเครือข่ายสตาร์ทอัพไทยที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 นี้ และเพื่อการร่วมงานให้ได้อรรถรสและได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน เราจึงได้นำเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับงานนี้มาฝาก หรือใครที่เพิ่งเคยรู้จักงานนี้ก็จะช่วยให้คลายทุกข้อสงสัยได้!
งาน SITE คืออะไร จัดขึ้นโดยใคร ?
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก งาน “SITE” หรืองาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO” คืองานมหกรรมนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2020 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งจะมีแนวคิดของงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่พบปะระหว่างผู้ประกอบการ นักลงทุน หน่วยงานภาครัฐไปจนถึงบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านธุรกิจนวัตกรรม
จัดขึ้นโดย “Startup Thailand” ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและพัฒนา Startup Ecosystem ของไทย ร่วมกับ “Innovation Thailand” ซึ่งมุ่งเน้นการเผยแพร่งานนวัตกรรมของคนไทยสู่สายตาคนไทยและคนทั่วโลกให้มากขึ้น โดยอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์และโครงการต่างๆ ในการสร้างให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งงาน SITE เองก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานที่จะมาขับเคลื่อนมิติด้านนวัตกรรมให้แก่สังคมไทย และพร้อมปรับโฉมประเทศจาก “ประเทศที่มีความโดดเด่นในรากฐานวัฒนธรรม” สู่การเป็น “ประเทศนวัตกรรม”
ภายในงานประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?
เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่สมกับเป็นงานมหกรรมนวัตกรรม เพราะงานนี้เป็นงานเดียวในประเทศที่มี Session ครบในทุกด้าน ที่สำคัญฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid ที่สามารถเข้าร่วมงานได้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเน้นที่ออนไลน์เป็นหลัก ส่วนทางออฟไลน์สามารถเข้ามาร่วมงานจริงได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ภายในงานครอบคลุมตั้งแต่งานเสวนา ไปจนถึงการมอบรางวัลต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
1. “Forum” งานเสวนาแบบเต็มอิ่มตลอดวัน อัดแน่นไปด้วยความรู้ด้านธุรกิจนวัตกรรม ในหลากหลายประเด็นที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เทรนด์นวัตกรรมที่กำลังมาแรงในขณะนั้น หรือการแสดงวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับแนวคิดของงานที่จัดขึ้นในแต่ละปี ซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาร่วมได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมี Panel ที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2. “Opportunity” พื้นที่แห่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรม เพราะเราจะมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอสินค้านวัตกรรมของตัวเองแก่สาธารณชน ผ่านหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน ตั้งแต่
- Virtual Marketplace การออกบูธสินค้านวัตกรรมในช่องทางออนไลน์ที่รวบรวมนวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการจากสตาร์ทอัพทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) ผู้นำด้านนวัตกรรมซึ่งอยู่ในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand Alliance)
- Business Consulting พื้นที่ให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจนวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม
- Business Matching มีไอเดียแต่ยังขาดเงินลงทุน เราก็มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้ Pitch งานกับนักลงทุนในเครือข่ายของ NIA
3. “Show” การแสดงเรื่องราวนวัตกรรมที่น่าสนใจในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยในปีนี้มาในธีม Innovation for Crafted Living ที่จะแสดงให้เห็นเส้นทางของการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Journey) ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย กระบวนการผลิต จนถึงการเข้าสู่ตลาด มาเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์
4. “Award” การมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพของประเทศ “รางวัล Prime Minister Award: National Startup” และผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตการณ์ “รางวัล Prime Minister Award: Innovation for Crisis” โดยแต่ละรางวัลมีการแบ่งประเภท ดังนี้
รางวัล Prime Minister Award: National Startup แบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่
1. Startup of the Year รางวัลสำหรับสตาร์ทอัพในสาขาธุรกิจเป้าหมาย
2. Global Tech Startup of the Year รางวัลสำหรับสตาร์ทอัพในสาขาธุรกิจเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
3. Evangelist of the Year รางวัลสำหรับบุคคลต้นแบบที่มีศักยภาพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
4. Investor of the Year รางวัลสำหรับบริษัทร่วมลงทุนที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ
5. Best Brotherhood of the Year รางวัลสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ หรือ หน่วยงานภาครัฐที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ
รางวัล Prime Minister Award: Innovation for Crisis สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤต โดยแบ่งออกเป็น 3 รางวัล ได้แก่
1. รางวัลประเภทหน่วยงานภาครัฐ (Government Sector)
2. รางวัลประเภทหน่วยงานภาคเอกชน (Private Sector)
3. รางวัลประเภทบุคคลทั่วไป (Individual Award)
ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
จากวิกฤตโรคระบาดสู่จุดเริ่มต้นของงาน SITE จะเห็นได้ว่าวิกฤตในวันนั้น สร้างวิถีใหม่ในการดำเนินชีวิตให้กับเราทุกคน จากNew Normal มาสู่ Next Normal ในช่วงเวลานั้นทั้งประเทศไทยและทั่วโลกต่างพบกับปัญหาเศรษฐกิจชะงัก คนทำธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมและผู้บริโภคต้องปรับตัวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดกระแส Digital Transformation ในทุกองค์กรไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐ และแน่นอนว่าสิ่งที่จะมาช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ก็คือ “นวัตกรรม”
ปี 2020 จึงมีการจัดงานภายใต้แนวคิด “Innovation in Times of Crisis” ขึ้นมาเพื่อเป็นการอัปเดตข้อมูลในแวดวงสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจากทั่วโลกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ Pandemic (วิกฤตโรคการระบาด) Economic Crisis (วิกฤตเศรษฐกิจ) และ Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก)
โดยเป็นงานที่ถือเป็นมิติใหม่ เพราะเป็นงานแรกในประเทศที่จัดในรูปแบบโลกเสมือนจริง (Virtual World) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มียอดผู้เข้าชมงานกว่า 190,000 คน เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุนกว่า 15,000 ราย และสร้างเม็ดเงินที่พร้อมลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท
สำหรับในปี 2021 ก็มีความเข้มข้นเช่นกัน เพราะเป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด “DeepTech Rising…The Next Frontier of Innovation” ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยนวัตกรรมเชิงลึก หรือที่เรียกว่า “DeepTech” ตัวอย่างเช่น AI, IoT, Blockchain, Robotics ฯลฯ เพื่อเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ตั้งแต่ระยะการพัฒนาแนวคิด พัฒนาต้นแบบ ทดลองตลอด และขยายการเติบโต จนกระทั่งมีความสมบูรณ์พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ประเทศไทยไปสู่ 1 ใน 30 ประเทศแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ซึ่งในปีนี้มีผู้ร่วมงานมากถึง 70,000 คน มียอดผู้เข้าชมงานสูงถึง 300,000 ครั้งเลยทีเดียว
และในปี 2022 นี้! เตรียมพบกับงาน SITE ภายใต้แนวคิด “Global Innovation City | Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบ “Metaverse Experience” เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าร่วมงานผ่านอวาตาร์ (Avatar) ที่จะเป็นตัวแทนของแต่ละคนในการเข้าร่วมงานในโลกจักรวาลนฤมิต ถ้าอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรและมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ติดตามกันได้ในทุกช่องทางของ NIA