สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เจาะ “Indonesia Startup Ecosystem” อาณาจักรยูนิคอร์นที่มีประชากรกว่าร้อยล้านคน

บทความ 27 ธันวาคม 2564 4,773

เจาะ “Indonesia Startup Ecosystem” อาณาจักรยูนิคอร์นที่มีประชากรกว่าร้อยล้านคน

 

อินโดนีเซีย…ไม่ได้มีของดีแค่ เกาะบาหลี บุโรพุทโธ หรือหมี่โกเร็ง 

 

เพราะอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เรียกว่ามี Startup Ecosystem แข็งแรงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนยูนิคอร์นมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค เป็นอันดับสองรองจากประเทศสิงคโปร์เพียงเท่านั้น 

 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียก้าวมาถึงจุดนี้ได้ทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา รวมถึงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย เรามาล้วงลึกโครงสร้างการทำงานและการผลักดันด้านสตาร์ทอัพในประเทศนี้กัน

 

จุดกำเนิดและการเติบโตของ “Startup Ecosystem” ในประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อพูดถึงการเติบโตของ “Startup Ecosystem” ในประเทศนี้ก็ต้องบอกเลยว่ามีความใกล้เคียงกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะช่วงที่เฟื่องฟูที่สุดในแวดวงสตาร์ทอัพของอินโดนีเซียคือช่วงปี 2010 ซึ่งได้เกิดสตาร์ทอัพที่ทำงานด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น ได้แก่ Tokopedia, Bukalapak, Go-Jek และ Traveloka 

 

ความสำเร็จของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศให้ไปศึกษาและทำงานในประเทศต่างๆ เพื่อกลับมาพัฒนาแวดวงสตาร์ทอัพต่อไป จนปี 2017 “Tokopedia” แพลตฟอร์ม Marketplace ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย พร้อมๆ กับ “Go-Jek” แพลตฟอร์มเรียกรถและส่งอาหาร ได้กลายเป็นยูนิคอร์นเป็นอันดับแรกของประเทศ จากนั้นก็เกิดยูนิคอร์นตามมากันอย่างไม่ขาดสาย หนึ่งในนั้นมีบริษัทที่คนไทยเป็นเจ้าของอยู่ด้วยก็คือสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า “Ajaib” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่

 

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ “Startup Ecosystem” ในประเทศอินโดนีเซียเติบโตและแข็งแรง

 

ทุกคนทราบกันไหมว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ IMF และธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ภายในปี 2567 มีแนวโน้มแซงหน้าประเทศสิงคโปร์ได้ เพราะมีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือจำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตที่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลสำรวจปี 2019 ที่มีมากถึง 152 ล้านผู้ใช้งาน และมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคตเพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 273 ล้านคน เป็นรองแค่จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง

 

และการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลก็มีแนวโน้มที่น่าสนใจ เพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 49% ต่อปีตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินความคาดหมาย และในอนาคตคาดการณ์กันว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึงหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ส่งผลให้มีทั้ง VC, CVC และ Angle Investor ต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศอินโดนีเซียมากขึ้น โดยประเภทกลุ่มสตาร์ทอัพที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือ แพลตฟอร์มแบบ Super App เช่น Go-Jek (Multi-verticals) อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) การชำระเงิน (Payment) และบริการทางด้านการเงิน (Financial Service)

 

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มทุนในประเทศก็มีไม่น้อยซึ่งเป็นความร่วมมือที่มาจากหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับมี Incubator และ Accelerator ในพื้นที่อีกจำนวนมาก เช่น Digitaraya, Plug and Play Accelerator, GnB Accelerator ฯลฯ

 

การผลักดันด้านสตาร์ทอัพในประเทศเป็นอย่างไร ภาครัฐให้การสนับสนุนอะไรบ้าง

 

สตาร์ทอัพในอินโดนีเซียก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวหรือเติบโตแบบโดดเดี่ยว เพราะภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุน โดยมีหน่วยงานที่มีชื่อว่า Bekraf หรือ Badan Ekonomi Kreatif : Creative Economy Agency ซึ่งเป็น Ecosystem หลักในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โดยเน้นภาพรวมทุกภาคส่วน และมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะในชื่อ Ministry of Cooperatives and SMEs ซึ่งเน้นดูแลสตาร์ทอัพและ SME โดยเฉพาะ ส่วนทางด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพก็มีหน่วยงานที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนและสตาร์ทอัพในชื่อ BKPM (Badan Koordinasi Penanaman Modal : Indonesia Investment Coordinating Board)

 

หากเทียบกับประเทศไทยก็คล้ายกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่เป็นพื้นที่สำคัญในการผลักดันด้านเงินทุน ให้ความรู้และสร้างเครือข่ายให้กับสตาร์ทอัพในประเทศที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการด้านศิลปวัฒนธรรม และมีอีกหลายหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนและการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ

 

ชวนทำความรู้จัก สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่โดดเด่นในประเทศอินโดนีเซีย 

 

ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียมีสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์นเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์เพียงเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ (ปี 2021) มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นทั้งหมด 8 บริษัทด้วยกัน ส่วนสตาร์ทอัพไหนที่น่าสนใจ เราก็ได้หยิบยกมาให้ได้ทำความรู้จักกันดังต่อไปนี้

 

1. “Gojek” สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทที่สูงที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย จนเรียกได้อยู่ในระดับเดเคคอร์นเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้กลายเป็นบริษัท GoTo ซึ่งเป็นการควบรวมกับสตาร์ทอัพที่ชื่อ Tokopedia โดย Gojek คือแพลตฟอร์มแบบ Super App ที่มีให้บริการตั้งแต่เรียกรถ ส่งอาหาร ไปจนถึงสั่งซื้อของจากซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งสตาร์ทอัพนี้เคยให้บริการในประเทศไทย แต่ตอนนี้ได้เลิกกิจการในไทยไปแล้ว 

 

2. “Tokopedia” อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่อยู่คู่กันมากับ Gojek จนปัจจุบัน จากที่ได้ควบรวมกิจการกัน ส่งผลให้สตาร์ทอัพนี้กลายเป็นแพลตฟอร์ม Marketplace ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ประกอบกับมีผู้ลงทุนรายใหญ่ Alibaba เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ยิ่งส่งผลให้ Tokopedia เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม    

 

3. “Traveloka” สตาร์ทอัพนี้คนไทยหลายคนอาจคุ้นชื่อ เพราะยังดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เป็นแพลตฟอร์มให้บริการค้นหาที่พักและสายการบินทั่วโลกรองรับลูกค้า 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และมีนอกเหนือจากภูมิภาค 1 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ปัจจุบัน Traveloka มีมูลค่าบริษัทกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

 

4. “OVO” ถูกขนานนามว่าเป็นฟินเทคยูนิคอร์นตัวแรกของอินโดนีเซีย เป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาแพลตฟอร์มชำระเงิน ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ปัจจุบัน OVO ให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการเงินอยู่หลายแบบด้วยกัน อาทิ E-Wallet, ให้บริการสินเชื่อ ประกันชีวิต ไปจนถึงการลงทุนแบบต่างๆ ความโดดเด่นของ OVO คือสามารถดึงดูดผู้ใช้งานกว่า 250,000 คนเข้ามาใช้งาน ในระยะเวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้น

 

5. “Ajaib” ยูนิคอร์นน้องใหม่ในประเทศอินโดนีเซียที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย เป็นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มเทรดหุ้นที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย และยังเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนจาก DST Global Venture Capital ชื่อดังที่ลงทุนกับ Robinhood Markets แพลตฟอร์มเทรดหุ้นออนไลน์ระดับโลก ยิ่งเป็นสิ่งการันตีว่า Ajaib คือแพลตฟอร์มที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต

 

กว่าอินโดนีเซียจะเป็นดินแดนยูนิคอร์นที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ผ่านการเดินทางและความร่วมมือมาไม่น้อย รวมทั้งมีปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย หากย้อนกลับมามองประเทศไทยเราก็เชื่อว่าหลายสตาร์ทอัพในประเทศไทยก็มีศักยภาพเพียงพอในการทะยานขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นแข่งกับประเทศอินโดนีเซียได้ในอนาคต 

 

สำหรับสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการวางรากฐานนวัตกรรมและธุรกิจให้แข็งแรง NIA ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการให้คำแนะนำ เงินทุน และสร้างเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมต่อไป 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://greenhouse.co/blog/indonesias-startup-ecosystem/
https://www.failory.com/startups/indonesia-unicorns
https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/
https://www.forbes.com/sites/yessarrosendar/2021/11/23/indonesian-unicorn-ajaib-acquires-stake-in-bank-bumi-arta-in-digital-banking-push
https://finance.yahoo.com/news/indonesia-poised-next-great-startup-225100134.html
https://techsauce.co/tech-and-biz/indonesia-startup-ecosystem-2018