สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ทรัพย์สินทางปัญญา = แต้มต่อทางธุรกิจ กุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้
🧠 “ทรัพย์สินทางปัญญา” Intellectual Property (IP) กลไกสำคัญของนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ถึงเวลาชวนมององค์ประกอบนี้ในเชิงลึก เกี่ยวกับความสำคัญในการปกป้องและต่อยอดไอเดียทางธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
💡 หลังจากที่เราได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ #GIISeries ซึ่งอธิบายถึงรายละเอียดและเป้าหมายของแต่ละปัจจัยในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ไปแล้ว จะเห็นว่ามีองค์ประกอบหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ยังไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเท่าไรนัก นั่นคือเรื่องของ “ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP)”
📅 และในวันที่ 26 เมษายนของทุกปี ถือเป็น “วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day)” NIA จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมทำความเข้าใจถึงบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) นำมาใช้ในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของประเทศต่างๆ
📋 ซึ่งจากทั้งหมด 7 ปัจจัยเหล่านั้น ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ปัจจัยผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Outputs) และปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs)
📈 เมื่อพูดถึงทรัพย์สินทางปัญญาในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ที่การเติบโตไม่ได้วัดจากทรัพยากรดิบหรือแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม (RDI) การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพจึงกลายเป็น “แต้มต่อทางธุรกิจ” ที่มีความสำคัญยิ่ง สามารถเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ขยายตลาด และสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืน
✍🏼 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้คำจำกัดความ “ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP)” ว่า หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือ สร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึง ถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีในการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญาอาจแสดงออก ในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือในรูปของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ (Copyright) และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) โดย “ลิขสิทธิ์” เป็นกฎหมายคุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น ภาพเขียน ภาพถ่าย งานเพลง งานวรรณกรรม หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ศิลปะ ในขณะที่ “ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม” ตามนิยามของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมแบ่งออกได้ ดังนี้
• สิทธิบัตร (Patent) – คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์
• แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout-Design of Integrated Circuits) – คุ้มครองแบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้นเพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า
• เครื่องหมายการค้า (Trademark) – ปกป้องชื่อ โลโก้ หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ทางการค้า
• ความลับทางการค้า (Trade Secret) – คุ้มครองสูตร เทคนิค หรือข้อมูลเชิงธุรกิจที่ไม่เปิดเผย
จากทั้งหมดนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาที่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุดก็คือ “สิทธิบัตร” เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมักจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทั้งนี้ WIPO ได้ให้คำนิยาม “สิทธิบัตร” ไว้ว่า เป็นสิทธิที่มอบให้กับเจ้าของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะกว่าจะมาเป็นผลงานนวัตกรรมแต่ละชิ้นงานได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดค้น ลงมือพัฒนา ใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนจำนวนไม่น้อย การมีสิทธิบัตรจึงเปรียบเสมือนเกราะที่ช่วยคุ้มครองเจ้าของผลงาน ให้ได้รับผลประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด
และหากลองดูความสำเร็จของหลายๆ ประเทศชั้นนำในระดับโลก จะเห็นว่าล้วนมีการส่งเสริมระบบสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น “ประเทศจีน” ผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘Generative AI’ เทคโนโลยีที่ประเทศจีนกำลังเร่งให้เกิดการพัฒนาเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด
WIPO มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ระหว่างปี 2014 – 2023 ประเทศจีนมีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ Generative AI ออกมามากที่สุดในโลก ส่งผลให้ประเทศจีนมีสิ่งประดิษฐ์ด้าน Generative AI เกิดขึ้นกว่า 38,000 รายการ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอันดับสองอย่างสหรัฐอเมริกาถึง 6 เท่า จึงทำให้นวัตกรรมในประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุดในกลุ่มประเทศผู้นำทั้งหมด
สำหรับประเทศไทย การพัฒนาเรื่องของการส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน ก็ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน ดูได้จากผลการจัดอันดับ GII ในปี 2024 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนคำขออนุสิทธิบัตรในประเทศขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก และจำนวนการยื่นคำขอสิทธิบัตรออกแบบเป็นอันดับที่ 33 ของโลก ซึ่งจากทั้งหมดแสดงให้เห็นความพร้อมที่ประเทศจะเดินหน้าในการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
📊 ข้อมูลในเชิงตัวเลข จากเอกสารรายงานตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Indicators: WIPI) จัดทำโดย WIPO ระบุข้อมูลการขอจดสิทธิบัตรประจำปี 2024 พบว่าประเทศไทยมีการยื่นขอสิทธิบัตรต่อสำนักงานในประเทศทั้งสิ้น 8,605 รายการ โดยจำแนกเป็นผู้ยื่นสัญชาติไทย 752 รายการ และต่างประเทศ 7,853 รายการ
☕ หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยมีสิทธิบัตรเป็นองค์ประกอบสำคัญคือ “เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตู้เต่าบินนี้จะมีขนาดเพียงแค่ 1 ตารางเมตร แต่ภายในกลับซ่อนนวัตกรรมที่มีการจดสิทธิบัตรแล้วมากถึง 35 รายการ ครอบคลุมทั้งระบบความสะอาด ชุดอุปกรณ์จับและหมุนแก้วแก้ปัญหาการอุดตัน แขนกลชั่งตวงวัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จนกลายเป็นแต้มต่อที่คู่แข่งยากที่จะเลียนแบบได้
👍🏻 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมา NIA จึงได้มีโครงการมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมองค์ความรู้พื้นฐานภายใต้กลไก ‘Groom’ กับหลักสูตร IP for Business Innovation ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (IP 101) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความตระหนักเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งเป็นการปูพื้นฐานเพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาไว้ใช้ต่อยอดการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
🤝🏻 และนอกจากนั้น ก็ได้มีการสนับสนุนในเชิงลึกผ่าน โครงการ IP Management Clinic: IPMC 2025 (งานสัมมนาคลินิกให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งมีเป้าหมายในการให้คำแนะนำรายบริษัท ในการจัดทำกลยุทธ์ทางด้านการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการผ่านทรัพย์สินทางปัญญา ที่สำคัญยังมีการเข้าไปร่วมหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของ WIPO เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างโอกาสในการแข่งขันต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
เพราะในโลกที่นวัตกรรมคือพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ การเป็นเจ้าของไอเดียเฉยๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมี “เครื่องมือ” ที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นได้รับการปกป้องและสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ หนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ทรัพย์สินทางปัญญา”
อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://nia.or.th/frontend/bookshelf/ORrZSAwRPuyUt/635a58327dbae.pdf
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article-19jun2023.html
https://www.salika.co/2024/07/13/china-leader-generative-ai-use/
https://www.wipo.int/pressroom/en/articles/2024/article_0009.html
https://www.moc.go.th/th/gallery/article/detail/id/5/iid/581
https://moocs.nia.or.th/course/ip-101
https://www.nia.or.th/event/detail/17802
https://www.nia.or.th/WIPO-IP
https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_450_2020.pdf
https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo-pub-941-2024-en-world-intellectual-property-indicators-2024.pdf