สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Digital Health ...โอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

6 เมษายน 2566 863

Digital Health

 

วันอนามัยโลก (World Health day) ถูกกำหนดให้เป็น วันที่ 7 เมษายน ของทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2566 องค์การอนามัยโลกจะครบรอบ 75 ปี ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง หรือ Health For All แต่ละประเทศจึงถือเป็นโอกาสในการรณรงค์ให้ประชาชนและองค์กรในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพด้านต่าง ๆ ทั้งการป้องกัน การควบคุม การส่งเสริม และการแก้ปัญหาสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง

 

Digital Health เป็นเสมือนความหวังและตัวช่วยในการขับเคลื่อนและยกระดับการให้บริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากลดความแออัด และระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถช่วยให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับเพื่อให้ติดตาม แจ้งเตือน และจองคิว การพัฒนาระบบ Data Analytics Dashboard เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและทำนายแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรค การนำเทคโนโลยีระบบ Video Conference มาใช้เพื่อรองรับการสื่อสารรักษาทางไกลแบบ Telemedicine หรือการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เช่น โครงการ “ระบบอัตโนมัติเพื่อวิเคราะห์และประเมินการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” ของบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด ที่พัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่มีระบบ AI เพื่อประเมินลักษณะอาการของผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติการแพทย์ของคนไข้และครอบครัว การใช้ชีวิตประจำวัน และผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถคาดการณ์เบื้องต้นถึงความจำเป็นของการรักษา เช่น อัตราปริมาณการเข้ารับ การรักษาในโรงพยาบาล ยาที่จำเป็นที่ต้องใช้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางแพทย์สามารถจัดลำดับความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไข้สามารถทราบระดับความรุนแรงของโรคเพื่อเฝ้าระวังอาการและได้รับการแนะนำการดูแลตนเองเบื้องต้นได้

 

นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง คือความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐ การรอคอยที่ใช้เวลานาน แต่หากไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนก็เสียค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ยังพบว่า 130 ล้านครั้งใน 220 ล้านครั้งต่อปี คือจำนวนครั้งที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นโรคพื้นฐานที่กินยาก็หาย ไม่ต้องใช้เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรค ไม่ต้องหาหมอเฉพาะทาง แต่เมื่อคนไข้ต้องการซื้อยากินเองก็ไม่มีข้อมูลโรคและข้อมูลยาที่ถูกต้อง รวมทั้งคนไข้ยังไม่สามารถเข้าถึงการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับข้อมูลโรคและยาที่ถูกต้องได้อย่างสะดวกในราคาที่ประหยัด และไม่สามารถเข้าถึงร้านยาที่มีคุณภาพผ่านการรับรอง

 

โดยตัวอย่างการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เช่น แพลตฟอร์มยาพร้อม: แพลตฟอร์มโทรเภสัชเวช ของบริษัท ยาพร้อม จำกัด แอปพลิเคชันที่สามารถให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยขั้นพื้นฐานในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางที่มีต้นทุนสูง ระบบสามารถให้บริการครบวงจรตั้งแต่ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงการเข้ารับยาที่ร้านขายยาที่มีมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในระบบมากกว่า 200 แห่ง หรือการขนส่งยา/เวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบการขอรับบริการทางการแพทย์อื่น โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยให้คนไข้สามารถแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยเบื้องต้น ลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทำโรงพยาบาลให้มีพื้นที่และทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาให้กับคนไข้ที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษได้มากขึ้น

 

บทความโดย
อุกฤช กิจศิริเจริญชัย (ตั้ม)
ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)