สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ส่องนโยบายนวัตกรรมโลกในยุค COVID-19

บทความ 31 สิงหาคม 2564 3,176

ส่องนโยบายนวัตกรรมโลกในยุค COVID-19


สหราชอาณาจักรเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลังประเทศไทยประมาณหนึ่งเดือน (กุมภาพันธ์ 2020) แต่ปัจจุบันกลับมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่แท้จริง (Real GDP) มากกว่าร้อยละ 7.0 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจอาจโตขึ้นเพียงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.0 (จากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF) ทั้งนี้ ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรมีนโยบายที่คล้ายกัน คือ การลดสัดส่วนจำนวนนโยบายนวัตกรรมทั่วไปกับองค์กรภายนอกรัฐบาลลง แต่เพิ่มสัดส่วนของนโยบายนวัตกรรมกับองค์กรภายนอกที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) หรือ แนวคิดในการเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างองค์กรและพันธมิตร เพื่อปรับปรุงและสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท


นโยบายนวัตกรรมของสหราชอาณาจักรในยุค COVID-19

สหราชอาณาจักรมีการสนับสนุนให้บริษัทและวิสาหกิจต่าง ๆ กล้าที่จะทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญเดิมหรือธุรกิจหลักที่เคยทำอยู่ และมุ่งเน้นการทำนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก อีกทั้งในแง่การบริหารงบประมาณยังมีการจัดลำดับความสำคัญของการให้ทุนใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา COVID-19 ก่อนโครงการอื่นซึ่งมีความเร่งด่วนน้อยกว่า รวมถึงมีการคิดค้นรูปแบบการยกเว้นภาษี การสร้างแรงจูงใจรูปแบบใหม่และแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมให้แก่บริษัท เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมุ่งรังสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายเพิ่มงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศมากขึ้นเป็นสองเท่าของงบประมาณในปี 2020 ภายในงบประมาณปี 2024/25 นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศนวัตกรรม เพื่อลดภาระด้านการสร้างนวัตกรรมขององค์กรต่าง ๆ เช่น การรวมกลุ่มบริษัทที่ทำวิจัยด้านนวัตกรรมคล้ายกันเข้าด้วยกันเพื่อประหยัดทรัพยากร การแลกเปลี่ยนความรู้จากบริษัทที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว ตลอดจนการให้เงินกู้หรือจัดหาแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนด้านการวิจัยนวัตกรรมแก่บริษัท เพราะหลายบริษัทอาจเลือกที่จะตัดงบประมาณด้านการวิจัยนวัตกรรมก่อนเพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ แต่นั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นล้าหลังด้านนวัตกรรมอีกหลายปี เพราะนวัตกรรมไม่สามารถทำให้เกิดชั่วข้ามคืนได้ เป็นต้น

กระแสการเปลี่ยนแปลงนโยบายนวัตกรรมโลกช่วง COVID-19

เมื่อมองภาพรวมนโยบายนวัตกรรมในระดับโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Andrea S. Patrucco และคณะวิจัย ได้นำข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) 44 ประเทศ มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายนวัตกรรมทั่วไป และนโยบายนวัตกรรมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิดกับองค์กรภายนอกรัฐบาล ก่อน (2010-2020) และระหว่างยุค COVID-19 โดยใช้วิธีการจัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ว่ามีการออกนโยบายนวัตกรรมทั่วไปและนโยบายนวัตกรรมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิดกับองค์กรภายนอกรัฐบาลมากน้อยเพียงใด โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ประสานงานนวัตกรรมแบบเปิด (Open Collaborator) 2. ผู้สนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิดแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative OI Supporters) 3. ผู้สนับสนุนด้านการประสานงาน (Collaborative Supporters) และ 4. รัฐบาลนโยบายรวมศูนย์ (Centralizers) ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามี 10 ประเทศ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแนวทางของนโยบายนวัตกรรม เช่น รัสเซีย ฟินแลนด์ และเยอรมนี ทั้งนี้ประเทศไทย สหราชอาณาจักร บราซิล และแคนาดา เป็น 4 ประเทศที่เปลี่ยนจากผู้สนับสนุนด้านการประสานงานมาเป็นผู้สนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งหมายถึงมีการใช้นโยบายนวัตกรรมกับองค์กรภายนอกในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนโยบายนวัตกรรมทั้งหมด แต่นโยบายเหล่านั้นส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิด

การปรับเปลี่ยนนโยบายนวัตกรรมตามบริบทประเทศ

ในยุค COVID-19 หลายประเทศมีการเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายนวัตกรรมจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง เช่น โคลอมเบียและอินเดียเลือกที่จะลดสัดส่วนนโยบายนวัตกรรมทั้งแบบทั่วไปและที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมแบบเปิดลง และเปลี่ยนจากผู้ประสานงานนวัตกรรมแบบเปิดกลายมาเป็นรัฐบาลนโยบายรวมศูนย์ ในขณะที่ออสเตรียและคอสตาริกาได้เปลี่ยนนโยบายในทิศทางตรงกันข้ามกล่าวคือ จากรัฐบาลนโยบายรวมศูนย์กลายมาเป็นผู้ประสานนวัตกรรมแบบเปิด จะเห็นได้ว่าสหราชอาณาจักร บราซิล และออสเตรเลีย มีการพัฒนาระบบสารสนเทศและออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อสื่อสารและสร้างความร่วมมือกับประชาชน และผันตัวมาเป็นผู้สนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิดแบบอนุรักษ์นิยม หรือสาธารณรัฐโปรตุเกสที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก 50 ทุน ผ่านโครงการ “Doctorates 4 COVID-19” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนนโยบายจากผู้สนับสนุนด้านการประสานงาน ให้กลายมาเป็นผู้ประสานงานนวัตกรรมแบบเปิด เป็นต้น

จำนวนนโยบายนวัตกรรมกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

หากพิจารณาจำนวนนโยบายนวัตกรรมกับหน่วยงานภายนอกก่อนและหลัง COVID-19 พบว่าประเทศไทยมีนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) 6 นโยบาย จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 8.3 นโยบาย โดย 2 ใน 6 นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ทำร่วมกับองค์กรภายนอกที่เป็นการสนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิด ทั้งนี้ หากดูจำนวนนโยบายนวัตกรรมช่วง COVID-19 เทียบกับประมาณการการเปลี่ยนแปลง Real GDP พบว่าประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง มีการออกนโยบายด้านนวัตกรรมมากกว่าในช่วงเวลาปกติอย่างมีนัยสำคัญ (% Real GDP: จำนวนนโยบายนวัตกรรมยุค COVID-19 เมื่อเทียบกับจำนวนนโยบายต่อปีในช่วงก่อน COVID-19) เช่น จีน (+8.1% : +6.7 เท่า) สหรัฐอเมริกา (+7.0% : +4.2 เท่า) สหราชอาณาจักร (+7.0% : +1.6 เท่า) แคนาดา (+6.3% : 6.4 เท่า) บราซิล (+5.3% : +2.2 เท่า) และเกาหลี (+4.3% : +2.4 เท่า) ทั้งนี้ สัดส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ +2.1% : -0.7 เท่า

บทเรียนจากต่างประเทศสู่ทางออกของประเทศไทย

จากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ นอกจากการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิดและการเพิ่มจำนวนนโยบายนวัตกรรมกับองค์กรภายนอกแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากในเวลานี้ คือ การโฟกัสเป้าหมายและการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายนวัตกรรมเสียใหม่ ในอดีตประเทศไทยมักจะใช้การผลักนโยบายทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้เกิดก่อนที่จะมีความต้องการของตลาด (Technology-push) แต่ในช่วงยุค COVID-19 หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเกาหลี ได้เปลี่ยนมาเป็นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้าน COVID-19 ตามความต้องการของภาคเอกชน (Demand-pull) จนสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์ หรือวัคซีน ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ อาจมีความจำเป็นในการสร้างโปรแกรมการให้เงินทุน (PMU) ที่ตรงกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่าง COVID-19 โดยตรงเพื่อจะได้ไม่เกิดการซ้ำซ้อน ความล่าช้า หรือการแย่งงบประมาณกับงานวิจัยอื่นในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาสถานการณ์ได้ทันท่วงที


แหล่งที่มา

  • http://www.frontier-economics.com/uk/en/news-and-articles/articles/article-i7558-covid-19-and-innovation-where-next-for-uk-policy/
  • https://www.tsri.or.th/th/page/SRI-Budget-Allocation-Timeline-2564
  • https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/radm.12495
  • Asian Development Outlook (ADO) 2021 Supplement: Renewed Outbreaks and Divergent Recoveries
    International Monetary Fund, World Economic Outlook, July 2021 Update.
  • https://sustec.ethz.ch/research/theories---frameworks/technology---systems/technology-push---demand-pull.html


    โดย กฤษภาส กาญจนเมฆานันต์
           นักกลยุทธ์นวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม
           สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)