สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

6 เทรนด์ “AgTech” เปลี่ยนอนาคต “การเกษตร” ไทย

บทความ 28 กรกฎาคม 2563 89,149

6 เทรนด์ “AgTech” เปลี่ยนอนาคต “การเกษตร” ไทย


การทำเกษตรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลกนั้น เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมากมาย ซึ่งถูกนำมาใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตร อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) แทบทุกด้าน รวมถึงช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านพื้นที่การเกษตรที่ลดลงเพราะการขยายตัวของสังคมเมือง สภาพดินฟ้าอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ จำนวนเกษตรกรที่น้อยลง ผลกระทบจากภัยพิบัติ ฯลฯ เพื่อให้พวกเรายังคงมีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการบริโภคได้


แล้วเราจะเห็น “นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่” แบบไหนเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง ? วันนี้ NIA ได้รวบรวมเทรนด์ด้านนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อเป็นไอเดียให้เกษตรกร และผู้ประกอบการนวัตกรรม ได้นำไปพัฒนาการทำการเกษตร และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

การเกษตรดิจิทัล

เกษตรดิจิทัล เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เจริญเติบโต ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ช่วยหาแนวทางการทำการเกษตรที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร


ที่สำคัญคือเราสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาต่อยอดควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น การนำ AI ช่วยควบคุมดูแลแปลงพืช โดยเกษตรกรแทบจะไม่ต้องลงไปคลุกคลีด้วยตัวเอง นำมาวิเคราะห์ความแตกต่างของวัชพืชในแปลงเกษตร เพื่อหาวิธีกำจัดได้ตรงจุด หรือนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น 

เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ

แม้ความต้องการผลผลิตด้านการเกษตรจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลก แต่ในทางกลับกันจำนวนเกษตรกรปัจจุบันกลับลดน้อยลงเข้าไปทุกที นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติต่างๆ จึงมีบทบาทที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน แต่ยังคงสร้างผลผลิตได้เท่าเดิม (หรือมากขึ้นกว่าเดิม) 


แต่ประโยชน์ของการใช้นวัตกรรมเหล่านี้ ไม่ได้มีดีแค่การเป็นเครื่องทุ่นแรง แต่ยังหมายถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนถูกลง และพัฒนาคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับเกษตรกรโดยไม่รู้ตัว เช่น หุ่นยนต์ AI ตัวแรกของอิสราเอล ที่จะทำงานอัตโนมัติเมื่อดอกไม้พร้อมสำหรับการผสมเกสร ในอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ช่วยให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้นมากกว่าปล่อยไว้ตามธรรมชาติ หรือ การนำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำและสามารถเพิ่มผลลิตได้ถึงสองเท่า

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร

อย่าเพิ่งนึกถึงภาพยนตร์ Sci-Fi ที่มีการตัดต่อพันธุกรรมพืชและสัตว์จนเป็นปัญหาใหญ่โตไป เพราะแท้ที่จริงแล้วเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการประยุกต์ศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งชีววิทยา เคมี และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์ที่การใช้งานทางการเกษตร การดัดแปลงยีน ปรับปรุงพืชหรือสัตว์ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร


เทคโนโลยีชีวภาพถูกเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการเกษตร เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและทนต่อสภาวะแล้ง ทนทานต่อวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ทนทานต่อโรคระบาด

การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่

ที่ผ่านมาวิถีชีวิตของเกษตรกรแขวนไว้บนความเสี่ยง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศซึ่งยากที่จะควบคุม จนเกิดเป็นปัญหาผลผลิตที่ไม่แน่นอน จึงเกิดเป็นเทรนด์การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชและสัตว์ และช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายของผลิตผล


ตัวอย่างฟาร์มรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ได้แก่ การทำโรงงานปลูกพืชระบบปิด (Plant Factory) ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ทั้งการให้น้ำ ให้แสง อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ เทรนด์การทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) ที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเมือง แก้ปัญหาขาดพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงเทรนด์การทำ “ฟาร์มเลี้ยงแมลง” แหล่งโปรตีนแห่งอนาคตที่ทั่วโลกกำลังจับตา

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง

ประเด็นที่ท้าทายให้กับเกษตรกรไทย นั่นคือ การเป็นประเทศเมืองร้อน ซึ่งส่งผลให้สินค้าเกษตรต่างๆ มีผิวเปลือกบาง ง่ายต่อการเน่าเสีย จนทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 


จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจอย่าง บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการยืดอายุแบบไม่ใช้สารเคมี รวมถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตที่สะดวกแม่นยำ ไม่ทำลายผลผลิต และนวัตกรรมที่ใช้ในการขนส่งได้รวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซน ซึ่งช่วยยืดอายุผลไม้กลุ่มเบอรี่ ทำให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนการขนส่งผ่านทางเรือแทนเครื่องบิน หรือการพัฒนาสารเคลือบผิวชนิดใหม่ โดยฝีมือสตาร์ทอัพ AgTech ไทย เป็นต้น

บริการทางธุรกิจเกษตร

แม้จะรู้ว่านวัตกรรม AgTech จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ แต่ด้วยโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดปานกลางถึงเล็ก ทำให้ตัวเกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อตัวนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้


จึงเกิดเป็นเทรนด์บริการทางธุรกิจเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตรได้ในที่จับต้องได้ เช่น ระบบจองโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต  และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร กับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร และให้พวกเขาสามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง