สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ความยุติธรรมในโลกดิจิทัล เมื่อ AI กำลังจะถูกกฎหมายควบคุม

บทความ 5 ตุลาคม 2564 5,596

ความยุติธรรมในโลกดิจิทัล  เมื่อ AI กำลังจะถูกกฎหมายควบคุม


ถึงเวลาแล้วที่โลก…เริ่มเดินหน้าตรวจสอบเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง AI ที่กำลังฉลาดขึ้นทุกวัน


ทุกวันนี้เราต่างคุ้นเคยกับเทคโนโลยี AI กันเป็นอย่างดี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับเราขนาดนี้จึงอดไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามจากคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่อง จริยธรรม มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลให้ในปัจจุบันกลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในหลายประเทศ ถึงขั้นกลายเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์กันเลยทีเดียว


จากเดิมที่มีกฎหมาย General Data Protection Regulation (GDPR) เพื่อควบคุมดูแลในด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว สหภาพยุโรป (EU) จึงเดินหน้าอีกขั้นด้วยการร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ AI ขึ้นมาในชื่อว่า Artificial Intelligence Act (AIA) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายแรกของโลกที่ใช้กำกับดูแลขอบเขตการใช้งาน AI ในบริษัทต่างๆ เมื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศสมาชิกทันที แต่การขยับก้าวนี้ของสหภาพยุโรปไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ในภาคพื้นที่ทวีปเดียวเท่านั้น ยังส่งผลกับนักพัฒนาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพราะไม่ว่าบริการหรือเทคโนโลยีนั้นจะมาจากที่ใดบนโลกก็ต้องถูกตรวจสอบเมื่อถูกนำมาใช้งานในยุโรป ซึ่งร่างกฎหมายนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนและตัวช่วยกำหนดทิศทางเทคโนโลยี AI ในอนาคตได้ 


ร่างกฎหมาย “Artificial Intelligence Act (AIA)” มีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 5 ข้อด้วยกัน จากแนวคิดที่ว่าสร้าง AI ที่เชื่อถือได้และเคารพหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ใช้งานพึงได้รับ  โดยแบ่งรายละเอียดดังต่อไปนี้  

• การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหรือการให้บริการระบบ AI ในสหภาพยุโรป
• การกำหนดหลักเกณฑ์ในการสร้างความโปร่งใสของระบบ AI ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ • การกำหนดข้อห้ามไม่ให้ใช้ AI ในการสอดส่อง หรือการเฝ้าระวังบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพในพื้นที่สาธารณะ
• การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดทิศทางและสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย
• การกำหนดบทลงโทษทางปกครอง


ไม่เพียงแค่กำหนดหลักเกณฑ์เท่านั้น ร่างกฎหมายนี้ยังได้จำแนกความเสี่ยงของเทคโนโลยี AI ไว้ใน 4 ระดับด้วยกัน


1.ระดับที่ 1 ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Risk)

เทคโนโลยี AI ที่ขัดต่อค่านิยมของสภาพยุโรป ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานแบบร้ายแรง เช่น การใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อสร้าง Social Credit แบบในประเทศจีน หรือเทคโนโลยีที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและผู้พิการ EU ก็จัดหมวดหมู่ให้อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงในระดับนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ไม่สามารถใช้ได้ในยุโรปอย่างเด็ดขาด 


2.ระดับที่ 2 ความเสี่ยงสูง (High Risk)

เทคโนโลยี AI ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมาย การระบุตัวตนทางชีวภาพ การบริการสาธารณะ รวมถึงด้านการศึกษาและจัดสรรหาบุคลากร โดยเทคโนโลยีในกลุ่มนี้จะต้องถูกตรวจสอบทั้งวัตถุประสงค์ กระบวนการพัฒนา อัลกอริทึมที่ใช้ในการประมวลผล ไปจนถึงข้อมูลของผู้ใช้ที่ส่งมอบให้ผู้บริการ เรียกได้ว่าถูกกำกับดูแลในทุกกระบวนการ 


3.ระดับที่ 3 ความเสี่ยงจำกัด (Limited Risk)

เทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงในการถูกแก้ไขดัดแปลงได้ เช่น Chatbot หรือเทคโนโลยี Deep Fake หากถูกใช้งานในยุโรปจะต้องมีการบอกบริบทการใช้งานให้เห็นได้ชัด ไม่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค เช่น แจ้งว่าตอนนี้คุณกำลังคุยกับ Chatbot อยู่ โดยเทคโนโลยีในระดับนี้มีข้อยกเว้นด้านการบังคับใช้กฎหมาย สามารถใช้งานได้อย่างอิสระภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้


4.ระดับที่ 4 ความเสี่ยงต่ำ (Minimal Risk)

เทคโนโลยี AI ในแบบอื่นๆ ที่ไม่อยู่ใน 3 ระดับที่กล่าวมา สามารถพัฒนาและใช้งานได้ตามปกติ เพียงแค่ผู้พัฒนาหรือผู้ประกอบการมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ตระหนักถึงผู้ใช้งานและผลกระทบต่อสังคม


สำหรับร่างกฎหมายนี้ถ้านักพัฒนาหรือผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไขจะมีบทลงโทษสูงสุดถึง 30 ล้านยูโรหรือต้องถูกปรับ 6% จากรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว และในอนาคตสหภาพยุโรปจะมีแผนการจัดตั้ง European Artificial Intelligence Board เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางและสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการวางแผนอนาคตที่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างแน่นอน


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเกิดขึ้นของร่างกฎหมายนี้มุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นและเพิ่มความโปร่งใสในการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจทำให้เกิดข้อจำกัดมากขึ้น ส่งผลให้พัฒนานวัตกรรมได้ล่าช้ากว่าเดิมและสามารถเกิดข้อพิพาทได้ง่าย เนื่องจากการประเมินความเสี่ยงทั้ง 4 ระดับยังมีข้อคลุมเครือ รวมถึงอาจมีประเด็นใหม่ๆ ในอนาคตที่ไม่สอดคล้องกับทั้ง 4 ระดับ ร่างกฎหมายนี้จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาและสร้างข้อถกเถียงในสังคมต่อไป


และไม่ใช่แค่สภาพภาพยุโรปที่เดินหน้าควบคุม AI สภาประชาชนแห่งมหานครเซินเจิ้น ประเทศจีนก็ได้เตรียมออกร่างกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน แต่เป็นการควบคุมในระดับท้องถิ่นในเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งโลกตะวันออก โดยข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็ต้องคอยติดตามในอนาคต 


แม้ตอนนี้ในประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้โดยตรง แต่เราก็อยากชักชวนให้นักพัฒนา ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคทุกคนได้เข้าใจการเคลื่อนไหวในมิติด้านกฎหมายนี้ไว้ เพราะมันจะสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้ในหลายมิติ สุดท้ายถ้าคุณอยากทำความรู้จักเทคโนโลยีด้าน AI ให้มากขึ้น รวมถึงนวัตกรรมด้าน Deep Tech ในรูปแบบอื่นๆ งาน Virtual Event “SITE 2021 : DEEPTECH RISING” เป็นอีกงานหนึ่งที่จะมาเปิดโลกนวัตกรรมให้กว้างขึ้น ก้าวทันเทคโนโลยี และสร้างความเข้าใจในการใช้นวัตกรรมในมิติต่างๆ 

.

คลิกเข้าชมแบบย้อนหลังได้ที่นี่ > https://site.nia.or.th/

.

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://t-reg.co/blog/t-reg-knowledge/what-is-pdpa/https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?qid=1623335154975&uri=CELEX%3A52021PC0206
https://techcrunch.com/2021/04/21/europe-lays-out-plan-for-risk-based-ai-rules-to-boost-trust-and-uptake/
https://www.politico.eu/article/6-key-battles-europes-ai-law-artificial-intelligence-act/
https://www.natlawreview.com/article/proposed-new-eu-regulatory-regime-artificial-intelligence-ai
https://www.bangkokbiznews.com/news/938332
https://mgronline.com/china/detail/9640000063587