สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

5 กลยุทธ์จัดการเมืองสู่การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

บทความ 6 พฤษภาคม 2564 3,012

5 กลยุทธ์จัดการเมืองสู่การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม


หลายเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ ผู้นำเมืองต้องพึ่งพา “นวัตกรรม” ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถในการผลิต/สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือที่เรียกกันว่า “นวัตกร” และเมื่อไม่นานมานี้ก็ครบรอบ 1 ปี ที่หลายเมืองดำเนินมาตรการปิดเมืองเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้วิถีการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป นับเป็น 1 ปีแห่งการเริ่มต้นช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเจริญเติบโตของนวัตกรรมภายในเมืองอย่างรวดเร็ว บทความนี้จะกล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญ 5 ประการที่ผู้นำเมืองใช้สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

ที่ผ่านมาศูนย์ราชการท้องถิ่นทั่วโลก เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องลงพื้นที่เป็นด่านหน้าเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทการคิดค้นและทดลอง นวัตกรรมจึงกลายเป็นงานของทุกคนที่ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐของเมือง จากบทเรียนของปีที่แล้วประเด็นนี้ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมสุดยอด CityLab หรือการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมจากเมืองทั่วโลก และเป็นตัวขับเคลื่อนโปรแกรม Chief Innovators Studio ที่จัดโดย Bloomberg Philanthropies ซึ่งการประชุมนี้แสดงให้เห็นพลังการขับเคลื่อนนวัตกรรมของทุกฝ่าย ทั้งด้านงบประมาณ ข้อมูล และการพัฒนาดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการเมืองให้เกิดความเสมอภาคและความยั่งยืน

ไมเคิล รูเบนส์ บลูมเบอร์กนายกเทศมนตรีลำดับที่ 108 ของมหานครนิวยอร์กและผู้ก่อตั้งมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) กล่าวถึงบทบาทความสำคัญของผู้นำเมืองว่า “ในขณะที่เมืองต่าง ๆ ต้องประสบปัญหาโรคระบาด เศรษฐกิจซบเซา การเหยียดเชื้อชาติ และวิกฤติสภาพอากาศ ผู้นำเมือง คือ ผู้แก้ปัญหาที่จะต้องรับมือกับทุกปัญหาเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน”

สเตฟานี เวด จากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ กล่าวเสริม การพัฒนานวัตกรรมคืองานของทุกคน เพราะจะทำให้เกิดความก้าวอย่างต่อเนื่องและเห็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืน นั่นหมายถึงการใช้เครื่องมือทางนวัตกรรมเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ยากที่สุดและยังรวมถึงการเพิ่มบุคลากร

จากงานวิจัยของศาสตราจารย์ไรอัน บูเอลล์ จากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ที่ทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพบว่า ในสถานการณ์เช่นนี้การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เกิดการบริการที่ดีขึ้นและสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน  เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการพัฒนาตนเองใหม่เนื่องจากเราต่างเจออุปสรรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจดีและพร้อมให้โอกาสและเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้เมืองเข้มแข็งขึ้น

บูเอลล์ ได้เสนอกลยุทธ์สำคัญ 5 ประการที่ผู้นำเมืองทุกระดับสามารถนำไปใช้สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อให้พนักงานพยายามสร้างคุณค่าในการทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น ได้แก่                

  1. เปลี่ยนขอบเขตของงาน ด้วยการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนความคิดที่กำหนดวิธีการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมระหว่างพนักงานและประชาชน โดยผู้นำเมืองสามารถมองหาวิธีพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้        
  2. ให้พนักงานสร้างเครือข่ายส่วนบุคคลได้ ผู้นำเมืองสามารถจัดให้พนักงานอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับประชาชนที่ประสบกับวิกฤติ ผ่านช่องทางติดต่อ เช่น โทรศัพท์ อีเมล์ หรือช่องทางอื่น ในการตอบสนองความต้องการของประชาชนและความท้าทายที่ไม่ได้คาดคิด รวมถึงการให้โอกาสประชาชนได้ติดต่อกับผู้ช่วยเหลือในเวลาที่พวกเขากำลังหวาดวิตกจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบริบทของการปฏิสัมพันธ์ในทางที่ดีขึ้น
  3. ส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเหลือกันได้มากขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เช่น โรงพยาบาลในประเทศอินเดียได้เปลี่ยนการนัดพบแพทย์แบบตัวต่อตัวตามปกติ เป็นการนัดพบแพทย์แบบกลุ่ม ซึ่งพบว่าได้รับความพึงพอใจในบริการ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสถาม-ตอบ และปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งได้มากขึ้น 
  4. แสดงผลงานให้ประชาชนเห็น ในหลายเมือง เช่น บอสตัน มีแอปพลิเคชัน 311 ที่ประชาชนสามารถรายงานปัญหาที่ต้องการให้แก้ไข เช่น มีหลุมที่ต้องซ่อมแซม หรือ ทางเดินมีหิมะปกคลุมมากและต้องการให้ทำความสะอาด ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็สามารถแสดงรูปภาพผลงานที่สำเร็จ ทำให้มีประชาชนเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวมากขึ้น เป็นความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน และสร้างความเชื่อมั่นกับประชานชน อีกทั้งเมื่อได้เห็นกระบวนการทำงานเบื้องหลังเพื่อพวกเขาจะทำให้เกิดความซาบซึ้งและให้คุณค่ากับปฏิสัมพันธ์มากขึ้น
  5. แสดงให้พนักงานเห็นถึงผลกระทบของสิ่งที่ทำ หลักการเดียวกันสามารถใช้ได้กับพนักงานเช่นกัน โดยเฉพาะกับงานภาครัฐท้องถิ่นที่บริการสาธารณะเป็นจุดหมายสำคัญของการทำงานและเป็นเสมือนรางวัลด้วย ดังนั้น เมื่อพนักงานได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากงานของพวกเขา เช่น ประชาชนที่เขาได้ช่วยเหลือ เขาจะรู้สึกว่างานของตนเองมีคุณค่าและเต็มใจพร้อมที่จะลงมือลงแรงให้กับงานมากขึ้น

ทั้ง 5 กลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หากคุณทำได้ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพแต่ยังช่วยพัฒนาพนักงาน และสร้างบทบาทที่ช่วยส่งผลให้เกิดการบริการที่ยอดเยี่ยมแก่ประชาชน และนี่จะเป็นหนทางที่จะสามารถพัฒนาความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของภาครัฐได้

ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการในการป้องกันที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการรวมกลุ่ม กักตัวอยู่ภายในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน และล้างมือเป็นประจำ แต่ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาทางสังคม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์นี้

ความร่วมมือของทุกคนถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารนโยบายระดับประเทศไปจนถึงประชาชนทุนคน โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีที่มีการผลิตและคิดค้นนวัตกรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหา และอำนวยความสะดวกต่อวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น 

ภาครัฐ - การบังคับใช้มาตรการอย่างทันท่วงที การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่ดี การใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเข้ามาช่วยตรวจสอบและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชัน ไทยชนะ หมอพร้อม การแพทย์ทางไกล (Telehealth) หรือ โครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่มีชุมชนทางด้านการแพทย์คอยอัพเดต และแบ่งปันองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ภาคประชาชน - มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นการสัมผัสตัว สวมหน้ากากอนามัย ใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามข่าวสารและหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีโครงการดีๆ เช่น การบริจาคแจกจ่ายอาหารด้วยตู้ปันสุข การสร้างพื้นที่ค้าขายออนไลน์ (Marketplace) ในกลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

ภาคเอกชน - เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัล พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายของรัฐอย่างทันท่วงทีเมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคนมีบทบาทช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะรอดพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาจจะเรียกได้ว่าการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมนั้นกลายเป็นหน้าที่ของทุกคนไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้นำเมืองที่ดึนอกจากบริหารเมืองแล้วยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพประชาชนหรือพลเมืองในสังคม และสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอย่างทันสมัย

อ้างอิง: https://bloombergcities.jhu.edu/news/when-innovation-everyones-job

โดย ฐิตามร อัชชวลาพร (บัว)
       นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)